“ประสพสุข” ไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ระบุ ความปรองดอง บังคับด้วยกฎหมายไม่ได้ ฉะ ไม่มีประเทศไหนทำ ชี้ นักการเมืองแค่หวังโยนหินถามทาง หลังหลายฝ่ายเห็นแย้ง แนะ ควรบังคับใช้กฎหมายที่เสมอหน้าทุกคดีไม่ควรเลือกปฏิวัติ
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเนื้อหา จึงยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่เข้าใจว่า เป็นเพียงการโยนหินถามทางของฝ่ายการเมือง คงยังไม่มีใครคิดอะไรจริงจัง ส่วนตัวเห็นว่า ความปรองดองในชาติ จะสร้างกฎหมายมาบังคับไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความรู้สึก ความเห็นพ้องต้องกันของคนในชาติ ไม่มีประเทศไหนใช้กฎหมายบังคับให้คนสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายการเมืองต้องการ ก็คงเป็นสิทธิ์ที่จะเสนอได้ เปรียบเสมือนกฎหมายไทยฉบับหนึ่งที่เขียนห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณแอ่งข้างทางรถไฟ ซึ่งคำว่าสัตว์น้ำในกฎหมายฉบับนี้ยังรวมถึงดอกบัวที่อยู่ในแอ่งด้วย
นายประสพสุข กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีนี้ก็ระบุให้ชัดเจนว่า จะยกเลิกโทษสำหรับการกระทำแบบใดบ้าง และช่วงเวลาเท่าใดให้ชัดเจน แต่ต้องขึ้นกับว่า ประชาชนจะยอมรับหรือไม่ เพราะเท่าที่ฟังเสียงจากสังคม หลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย แม้แต่กลุ่มพันธมิตรฯ หรือรัฐบาล และในพรรคฝ่ายค้านเอง ก็ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ หากจะทำจริงๆ ควรจะให้คนกลางอย่างสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้ศึกษาดำเนินการ ส่วนข่าวที่ว่าจะให้ตน และ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวกลางในการหารือความเป็นไปได้ของกฎหมายฉบับนี้ ก็ได้ ไม่เป็นไร หากทำให้สังคมสมานฉันท์ได้จริงๆ แต่ตนยังกลัวว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดสมานฉันท์ไม่ได้ ทั้งนี้ตอนนี้ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับนายชัย
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องค่อยๆ ทำ ฝ่ายการเมืองจะเขียนให้ทุกอย่างเจ๊ากันหมดก็ได้ แต่ต้องถามประชาชนว่า จะเอาหรือไม่ กับการทำความผิดแล้วไม่ต้องรับโทษเลย ผมมองว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า เป็นหลักที่ต้องยึดเพราะประเทศเป็นนิติรัฐ และเท่าที่ดู รัฐบาลนี้พยายามรื้อคดีสำคัญๆ ต่างๆ ที่สังคมกังขาในอดีตอยู่แล้ว เช่น คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีฆ่าชิปปิ้งหมู ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ทราบว่า มีบางพรรคจะเสนอเป็นนโยบาย ในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งผมว่า ไปทำแบบนั้นก็ดี ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า ควรทำในลักษณะการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ ผมคิดว่า ท่านพูดว่า ต้องคิดกันให้ดี ไม่ใช่พยายามเร่งทำกัน ผมยังคิดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 6 เดือนนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาก” นายประสพสุข กล่าว
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายฉบับนี้อาจขัดรัฐธรรมนูญ นายประสพสุข กล่าวว่า ก็มองกันหลายทาง บางฝ่ายก็เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 รับรองการกระทำขององค์กรต่างๆที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบ หลังจาก 19 กันยายน 2549 ซึ่งสุดท้ายเรื่องนี้ ถ้ามีการผลักดัน ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน