xs
xsm
sm
md
lg

แฉ!! งบกลางนายกฯ 4.5 หมื่น ล.“หมัก - ชาย” มือเติบใช้ไปกว่า 3 หมื่น ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“อภิสิทธิ์” แฉเอง งบกลางประจำสำนักนายกฯ ประจำปี 52 กว่า 4.5 หมื่นล้าน ถูก “ออหมัก-ชายจืด” ใช้ไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้าน เหลือให้บริหารทั้งปีเพียง 1.5 หมื่นล้าน คาดปีนี้แล้งหนัก ชี้ ต้องบริหารเงินที่มีให้ดี ยาหอมพิจารณาค่าตอบแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ปี 53 พบสมัย พปช.เป็นรัฐบาลเตรียมอัดฉีดเงินเดือน แจกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ปีละกว่า 1 หมื่นล้าน

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่ทำเนียบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงการขึ้นเงินเดือนให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ว่า เรื่องนี้ได้มีการมาดูกันอยู่ เนื่องจากรัฐบาลก่อนนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้มีมติ (ครม.) ออกมา และปัญหาอันหนึ่ง คือ เนื่องจากไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ หากจะบอกว่านายกรัฐมนตรีมีงบกลาง (งบประมาณประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)

“ทุกคนมาขอใหญ่เลยว่า นายกฯ มีงบกลาง ตรงนี้งบกลางตามกฎหมายงบประมาณเขาจัดเตรียมไว้ 45,000 ล้าน (งบรายจ่ายปกติปี 2552) ผมเข้ามาเดือนธันวาคม 2552 ปรากฏว่า ที่ใช้ไปแล้ว หรือที่ถูกผูกมัดเอาไว้แล้วว่าต้องใช้นี้หมดไปแล้วประมาณ 30,000 ล้าน ผมเหลืออยู่ 15,000 ล้านโดยประมาณ ตอนนี้ประมาณ 14,000-13,000 ล้านบาท” นายอภิสิทธิ์ แฉ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนคาดว่า ภัยแล้งปีนี้จะรุนแรงกว่าทุกปี และตอนนี้ก็ได้ขอให้ทางกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงเกษตรฯ เร่งไปสำรวจล่วงหน้าเลยในเรื่องของภัยแล้ง เพราะฉะนั้นเงินตรงนี้ต้องใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเหลือเวลาบริหารงบประมาณปกติปี 2552 อีกกว่าครึ่งปี หรือเหลือ 8 เดือนที่จะต้องใช้เงินตัวนี้ แต่ในหลักการนี้ (เงินเดือนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) ส่วนหนึ่งจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คนละ 2,000 บาท แต่อีกส่วนหนึ่งได้หารือกันแล้วว่าการปรับค่าตอบแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด คงทำในปีงบประมาณรายจ่ายปี 2553 และกำลังไปดูตัวเลขว่าจะให้ได้เท่าไรอย่างไร ตามกำลังของงบประมาณที่จำกัด


รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้น ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการนำเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นนโยบาย และสมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.มหาดไทย ครั้งนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ก็เป็นผู้กำหนดนโยบาย นอกจากนั้น ยังมีกรณีของการยื่นเรื่องเสนอให้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ดำรงตำแหน่งอยู่ได้โดยไม่จำกัดวาระ ซึ่งปกติจะอยู่ได้สูงสุดเพียง 8 ปีเท่านั้น เนื่องจากการเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2549

ขณะเดียวกัน สมัย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็น รมว.มหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ได้ถอนเรื่องออกจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำเรื่องการปรับเพิ่มอัตราเงินค่าตอบแทนตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เข้าสู่การประชุม ครม.โดยกำหนดอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ในทุกตำแหน่ง อาทิ กำนัน ปัจจุบันอัตราค่าตอบแทนต่อเดือน 5,000 บาท เพิ่มเป็น 10,000 บาท ผู้ใหญ่บ้าน 4,000 บาท เพิ่มเป็น 8,000 บาท แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ 2,500 บาท เพิ่มเป็น 5,000 บาท โดยงบประมาณที่ใช้ขึ้นเงินเดือนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ครั้งนี้ ต้องใช้เงินสูงถึง 10,234,380,000 บาทต่อปี

โดยมีเหตุผลการขึ้นเงินตอบแทน ว่า เนื่องจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการสนองนโยบายระดับตำบล หมู่บ้าน ที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎรตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด แต่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการน้อยมาก จึงควรปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นการดึงคะแนนนิยมจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ให้เป็นฐานเสียงรองรับการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่มีผู้ออกมาคัดค้านจำนวนมาก โดยบ้างก็เห็นว่า การเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กำนัน เงินเดือน 1 หมื่นบาท ถือว่ามากกว่าคนจบปริญญาโทแล้วเข้ารับราชการ และยิ่งไปกว่านั้น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จะอยู่จนเกษียณอายุราชการ 60 ปี และยังได้อยู่ยาว ไม่ต้องดิ้นรน 4 ปีมาลงเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งเมื่อตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ว่างลง ทั้งๆ ที่เงินเดือนใหม่ยังไม่ได้ปรับ ก็จะมีคนไปลงสมัครรอ โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น ทั้ง อบจ.และ อบต.เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น