xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วุฒิฯ ติงมาตรการกระตุ้น ศก.เข้าข่ายเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบฯ รายจ่าย วุฒิสภา ติงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเป็นลักษณะเยียวยามากกว่ากระจายรายได้ ไม่เห็นด้วยขึ้นภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน เหน็บกลายเป็นมาตรการกระตุกเศรษฐกิจ

วันนี้ (11 ก.พ.) นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 วุฒิสภา แถลงว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นด้วยในภาพรวมของการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล แต่มีความกังวลว่างบประมาณดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะโครงการที่รัฐบาลเสนอเข้ามาส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการเยียวยามากกว่าการสร้างงานและสร้างรายได้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิต ดังนั้นจะเป็นการดีถ้ารัฐบาลได้นำไปปรับปรุงในบางส่วน ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอหรือไม่ในวันที่ 20 ก.พ.

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในภาพรวมของงบประมาณ ไม่เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย มีการแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ส่วน คือ งบประมาณที่ใช้สำหรับการเยียวยาประชาชน 30 เปอร์เซ็นต์ และงบประมาณเกี่ยวกับการก่อสร้างเพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมาเทียบกับของประเทศไทยแล้ว เอาเข้าจริงในตัวเลขงบประมาณของไทย ที่เป็นการสร้างงานประมาณ 2 พันล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ดูรายละเอียดแล้ว ก็ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นลักษณะของการเยียวยา

“ตรงส่วนนี้บอกได้เลยว่าผู้รับเหมาเป็นฝ่ายรับเงินไปเต็มๆ ไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ อีกทั้งส่วนราชการที่เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯก็มีหลายหน่วยงาน ที่ไม่นำเสนอรายละเอียดของงบประมาณว่าจะนำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง คณะกรรมาธิการฯจึงกังวลเมื่อได้รับเงินไปแล้ว จะไม่ก่อประโยชน์แท้จริง นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 1.50 บาท เพื่อนำเงินในส่วนนี้ มาใช้ในการชดเชยเงินคงคลัง เพราะการทำแบบนี้จะส่งผลให้สินค้าถีบตัวขึ้นสูงขึ้นไปอีก เพราะว่าตามหลักจะต้องมีการขึ้นภาษีสรรพสามติน้ำมันถึง 5 บาท ซึ่งเท่ากับว่าจะเป็นการกระตุกเศรษฐกิจ ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ”

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือ ค่าครองชีพของประชาชน ที่แจกเงินให้กับผู้มีเงินเดือนไม่ถึง 1.4 หมื่นบาทจำนวน 2 พันบาทที่ครอบคลุมเพียง 9 ล้านคน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯคาดว่า จะมีประชาชนเพืยง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายเพื่อให้เงินกลับเข้าสู่ระบบ เพราะคณะกรรมาธิการฯ มีข้อมูลว่าประชาชนส่วนใหญ่มีตัวหนี้สูงมาก จึงคิดว่าเงินก้อนหนี้ประชาชนจะนำไปใช้หนี้มากกว่านำเงินใช้เพื่อเป็นค่าครองชีพ

“มองว่ารัฐบาลคิดง่ายไปนิดนึง ซึ่งดูแล้วไม่ประทับใจถ้าเราเป็นรัฐบาลจะมีการทบทวนในนโยบายนี้ และคิดว่าหากพวกเราเป็นรัฐบาลจะคิดการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่านี้แน่นอน แต่เราก็เข้าใจว่ารัฐบาลมาจากพรรคการเมืองดังนั้น การดำเนินการอะไรก็จะต้องมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมก็ถือว่ายอมรับได้” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯเห็นว่าการจัดงบประมาณในครั้งนี้ของรัฐบาลในเรื่องของการตั้งงบประมาณชดใช้เงินคงคลังประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เพราะการทำงบประมาณที่ผ่านมาในหลายรัฐบาลก็จะมีการตั้งงบประมาณชดใช้เงินในส่วนนี้ทุกครั้งเมื่อมีการจัดงบประมาณประจำปีของปีถัดไป เพียงแต่ว่าในกรณีนี้รัฐบาลจะต้องมีรายละเอียดเมื่อมีการจัดงบประมาณประจำปี 2553

นพ.เจตน์ กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุดคือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของส่วนราชการไม่ใช่พึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งปรากฎว่าใน3เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 มีการเบิกจ่ายน้อยมากเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2551 ในช่วงเวลาที่มีการเบิกจ่ายถึง 48.74 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้ายิ่งมีการเร่งการเบิกจ่ายมากเท่าไหรก็จะเป็นลงทุนเพื่อสร้างงานให้กับประชาชนมากขึ้นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น