xs
xsm
sm
md
lg

สภาถก กม.ผู้สูงอายุเดือด “สุนัย” หวิดวางมวย ปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ถกร่าง กม.ผู้สูงอายุเดือด ฝ่ายค้านนับองค์ประชุมถี่ จน ส.ส.รัฐบาลเสนอปิดอภิปราย กลับโดนประท้วงวุ่น สุดท้ายลงมติรับ 228 เสียง “เพื่อแม้ว” ป่วนต่อ ไม่ยอมเสนอตัวแทนร่วมเป็น กมธ. อ้างเป็นกฎหมายการเงิน รอนายกฯ เซ็นก่อน ส.ส.ปชป.แก้ลำนำชื่อที่ประสานไว้ก่อนแล้วขึ้นมาอ่าน จนเกิดการประท้วงอีกรอบ “ปู่ชัย” ต้องสั่งปิดประชุมชั่วคราว ก่อนกลับมาประชุมใหม่ และฝ่ายค้านยอมเสนอชื่อ กมธ. ด้าน “สุนัย” เจ้าเก่าหวิดฟาดปาก ส.ส.เพชรบุรี ปชป.

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ(ฉบับที่..) พ.ศ.... จำนวน 5 ฉบับ สาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดหลักเกณฑ์ ดูแลการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ครอบคลุม ซึ่งจะไปสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่มีการเริ่มพิจารณาไปแล้วเพียง 10 นาที นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อเมื่อเวลา 22.20 น. เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีความสำคัญ พร้อมระบุว่ามี ส.ส.กดบัตรแทนกัน โดยได้ตรวจสอบไปยังส.ส.คนหนึ่งซึ่งยอมรับว่าไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมแต่อยู่ในพื้นที่ แต่นายชัยขอเลื่อนการประชุมและสั่งปิดประชุมทันที

ก่อนจะเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ มีการปะทะคารมดุเดือดระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลเรื่องสิทธิ์การนับองค์ประชุม โดยนายประชา หารือว่า คืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ มีบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม แต่กลับมีการแสดงตนเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตอนตรวจสอบองค์ประชุมในรอบค่ำ ซึ่งมีบันทึกชัดเจนที่คอมพิวเตอร์ห้องประชุมสภา บุคคลนั้นคือ นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา โดยได้ขึ้นเครื่องบินจากอุบลราชธานีมากรุงเทพฯ เมื่อเช้านี้วันนี้ ขอให้มีการชี้แจง และประธานตรวจสอบด้วย ขอให้สารภาพต่อสภา ทุกคนพร้อมให้อภัย เพราะเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ความสง่างาม

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถ้าเป็นเรื่องจริง ถือว่าไม่เหมาะสม แต่ตอนนี้ขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก่อน ส่วนเรื่องนี้ขอให้นายประชา ทำหนังสือถึงประธานสภา ให้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาข้อเท็จจริง จากนั้นจะดำเนินการอย่างไรก็ให้เป็นเรื่องที่สภาจะหารือกัน ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติไทยพัฒนา ขอให้ตรวจสอบเครื่องลงคะแนนด้วย เพราะมีปัญหาบ่อย ขณะที่นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ขอให้ตรวจสอบ ส.ส.ลำดับที่ 52 เดิม ก่อนที่จะมีการเลื่อนหมายเลข ซึ่งคนคนนี้เป็นอดีตรัฐมนตรีด้วย ในการประชุมสภาวันที่ 7 ตุลาคม 51 สมัยรัฐบาลที่แล้ว ส่วนนายธาดา ไทเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาไทยพัฒนา ชี้แจงว่า วันนี้นายตุ่นลาประชุม แต่ขอยืนยันว่า ส.ส.พรรคไม่มีใครเสียบบัตรแทนกัน

จากนั้น พ.อ.อภิวันท์ ชี้แจงว่า การประมวลผลคะแนนโดยระบบคอมพิวเตอร์ ได้รับความเชื่อถือไปทั่วโลก เพราะมีข้อผิดพลาดเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์ สำหรับข้อเสนอของ น.ส.รังสิมา และนายประชา ขอให้ทั้งสองคนทำหนังสือถึงประธานสภาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก รวมถึงกรณีที่ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้เสนอให้มีการตรวจสอบระบบอิเลคทรอนิคส์การลงคะแนนในห้องประชุมสภา

ภายหลังการชี้แจง ประธานได้สั่งให้นับองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตร ผลปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 249 คน ถือว่าครบองค์ประชุม อย่างไรก็ดี เมื่อที่ประชุมกำลังจะเข้าสู่การอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่า นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ปิดอภิปรายทำให้ถูก ส.ส.พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงนานกว่า 30 นาที โดยนาย วิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ขอร้องให้นายธนาถอนญัตติปิดอภิปราย โดยให้เหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.มีความสำคัญมาก และเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ ตนต้องการสอบถามนายกฯ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสถานการณ์คลังของประเทศ หากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ และร่างของรัฐบาลอยู่ที่ไหน ไม่เช่นนั้นพรรคเพื่อไทยจะเข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ เพราะหากเป็นก็ต้องให้นายกฯ ให้คำรับรองก่อน

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ตกค้างมาจากสภาชุดที่แล้ว โดยแสนอเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 โดยนาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาขณะนั้นทำหน้าที่รักษาการประธานสภา กรณีนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 เมื่อพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญแล้ว หากเห็นว่า เป็นกฎหมายการเงิน ก็ส่งเรื่องให้ประธานสภาได้ และประธานสภาจะได้หารือร่วมกับประธานกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ หากเห็นว่า เป็นกฎหมายการเงิน ประธานก็ส่งเรื่องให้นายกฯ รับรองก็ได้ ทั้งนี้ ในอดีต ประธานวิปฝ่ายค้านในวันนี้ สมัยเป็นวิปรัฐบาลก็ไม่ได้สงสัยว่า เป็นกฎหมายการเงินและกฎหมายนี้มี 3 มาตรา เกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการบริหารกองทุน กรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และสิทธิผู้สูงอายุ รวมแล้วเป็นกฎหมายวิธีปฏิบัติให้ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพรายเดือน จึงไม่เข้ามาตรา 143 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกฎหมายการเงิน

ขณะที่นายธนายืนยันญัตติเสนอให้ปิดอภิปราย พร้อมให้เหตุผลประกอบว่า ตอนฝ่ายค้านเสนอให้นับองค์ประชุม ตนพยายามขอร้องให้ถอนญัตติออกไป แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ดังนั้นตนยืนยันที่จะเสนอให้ปิดอภิปรายต่อไปขณะที่นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้เปิดอภิปรายต่อ ทำให้ต้องลงมติ ผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติให้ปิดอภิปรายด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 40 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 2 จากนั้น ที่ประชุม ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยคะแนน 238 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 6 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 54 คน กำหนดแปรญัตติ 3 วัน โดยใช้ร่างที่เสนอโดยนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และคณะเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังถกเถียงกันดุเดือดต่อเนื่อง เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ไม่เสนอกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคตนเอง ทำให้มีกรรมาธิการเพียงจำนวน 42 คน ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 143 144 หรือไม่เพราะฝ่ายค้านเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีทำการรับรองก่อนที่สภาฯ จะพิจารณารับหลักการ แต่กรณีนี้นายกฯ ไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวมาก่อน ทำให้พรรคฝ่ายค้านไม่เสนอบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย

นายทิวา เงินยวง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือว่า ต้องตั้งคณะกรรมาธิการตามสัดส่วนสมาชิก การที่ไม่มีกรรมาธิการจากพรรคฝ่ายค้านเกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ พ.อ.อภิวันท์ จึงได้เสนอให้ประธานวิปรัฐบาลไปหารือกับประธานวิปฝ่ายค้านเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคนอภิปรายว่า การแก้ไขคำว่า “เบี้ยยังชีพ” ให้เอาเงินกองทุนผู้สูงอายุมาจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพ ตรงนี้จะทำให้เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน และในอดีตสมัยที่ฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล ก็จะนำเรื่องนี้ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ขณะนั้นรับรองอยู่แล้ว แต่เกิดการยุบพรรคก่อน

ขณะที่นายชินวรณ์ ลุกขึ้นชี้แจง โดยย้ำว่า ในอดีตฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายค้านในวันนี้ ไม่มีใครสงสัยว่าเป็นกฎหมายการเงิน และในอดีตก็เป็นผู้เสนอเลื่อนวาระนี้ขึ้นมา แต่ไม่เป็นไร วันนี้ถ้าฝ่ายค้านจริงใจ ก็สามารถร่วมกันทำได้ และฝ่ายรัฐบาลพร้อมเสนอกรรมาธิการจากสัดส่วนฝ่ายค้านตามข้อบังคับการประชุมข้อ 118 และข้อต่อรองฝ่ายค้านเรื่องการไม่ตั้งกรรมาธิการ ยังมีตอนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 52 ทำให้ฝ่ายค้านลุกขึ้นประท้วงว่าไม่เคยมีแนวคิดแบบนี้ตอนกรรมาธิการพิจารณางบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งนายชินวรณ์ ยอมถอนคำพูดดังกล่าว

จนกระทั่งการหารือผ่านไปประมาณ 30 นาที โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย นางผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยจำนวน 12 คน โดยได้อ่านรายชื่อทันที ทั้งนี้ระหว่างการอ่านชื่อ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง แต่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมในขณะนั้นไม่สนใจ ทำให้นายสุนัย ถึงกับตะโกนใส่ไมโครโฟน กลางที่ประชุมด้วยเสียงอันดังว่า “ท่านประธานครับ ผมประท้วงอยู่ ทำอย่างนี้ได้อย่างไร” นายชัย จึงได้หันไปมอง และบอกว่ากำลังบอกให้นางผ่องศรี หยุดอ่านรายชื่อ ซึ่งประจวบเหมาะกับที่นางผ่องศรีอ่านรายชื่อครบพอดี และขอผู้รับรองเรียบร้อยซึ่งถือว่าครบกระบวนการ

ทำให้นายสุนัยลุกขึ้นต่อว่าประธานสภาว่าทำตัวเป็นแค่เงาประธาน ไม่เป็นประธานในที่ประชุม จนทำให้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างนายชัย และนายสุนัย โดยนายสุนัย ได้เสนอให้มีการถอนชื่อกรรมาธิการที่นางผ่องศรีเสนอออกไปทั้งหมด และขอให้พักการประชุมก่อน ทั้งนี้นางผ่องศรี ลุกขึ้นชี้แจงว่า ชื่อที่ตนเสนอเป็นรายชื่อที่ได้รับการประสานงานมาก่อนหน้านี้โดยได้รับการส่งสัญญาณจากพรรคเพื่อไทยว่าให้ตนเป็นผู้เสนอรายชื่อกลางที่ประชุม ทั้งนี้ก่อนเหตุการณ์จะวุ่นวายมากกว่านี้นายชัย ได้สั่งพักการประชุม 10 นาที โดยเริ่มพักการประชุมในเวลา 19.10 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างพักการประชุม และ ส.ส.ทยอยเดินออกนอกห้องประชุม นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เกิดเหตุปะทะคารมด้วยถ้อยคำรุนแรงกับนายสุนัย จนทั้งคู่เตรียมจะปรี่เข้าหากัน จนทำให้ พ.อ.อภิวันท์ ต้องเข้าเคลียร์ ให้ทั้งสองฝ่ายแยกออกจากกัน

ต่อมาเวลา 19.25 น. หลังพักการประชุม 10 นาที นายชัยได้กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อที่ประชุมพิจารณาเรื่องนี้เสร็จแล้ว ในวันที่ 6 ก.พ.ตนจะนำเรื่องนี้เสนอรัฐบาลเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรองว่าเป็นพ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป โดยขอฝากให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกฯ ติดตามดูแลเรื่องนี้ให้เสร็จในวันที่ 6 ก.พ. เพื่อส่งมายังสภาด้วย ซึ่งนายวิทยาได้ลุกขึ้นกล่าวแสดงความเห็นด้วย จากนั้นนายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอตัวแทนองค์กรเอกชนในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย และเสนอรายชื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นกรรมาธิการฯ ทำให้กรรมาธิการฯมีครบ 54 คนตามที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม นายสุนัยได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่ากล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง อยากให้ท่านช่วยสอน ส.ส.เด็กๆ ด้วย เพราะบางคำพูดรับไม่ได้เป็นการสบประมาทต่อ ส.ส. แต่ตนไม่อยากไปเกลือกกลั้วกับสิ่งนั้น ไม่อยากให้สภาเสียชื่อเหมือนที่ผ่านมา

ปชป.จวกฝ่ายค้านถ่วง กม.ผู้สูงอายุ

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการประชุมสภาฯ นั้น ส.ส.จำนวนหนึ่งได้ออกมาแถลงข่าวนอกห้องประชุม โดย เมื่อเวลา 18.00 น. ทีนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ฝ่ายค้านมักจะเสนอให้มีการนับองค์ประชุมในขณะที่มีการพิจารณากฎหมายว่า การที่ฝ่ายค้านเสนอนับองค์ประชุมนั้นถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ทำได้ แต่โดยมารยาทการพิจารณากฎหมายนั้นไม่ควรที่จะมีการนับองค์ประชุม การกระทำของฝ่ายค้านมีเจตนาที่จะไม่ให้กฎหมายผู้สูงอายุผ่านการพิจารณาของสภา ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุถูกเสนอโดย ส.ส.จากฝ่ายค้านและรัฐบาล และไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเข้ามา

อัด “เพื่อแม้ว” นับองค์ประชุมตีรวน

ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยมี 180 คน แต่มาทำงานในสภาเพียง 40 คน ถือว่ากินภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้ง การกระทำของฝ่ายค้านที่เสนอให้นับองค์ประชุมอยู่ตลอดเวลา แตกต่างกับตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่ไม่เคยเสนอนับองค์ประชุมแบบพร่ำเพรื่อเช่นนี้

จากนั้นเวลา 18.30 น. นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาคัดค้านในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายผู้สูงอายุ แต่เพราะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงินที่ต้องผ่านการรับรองจากนายกฯ ฝ่ายค้านพยายามอภิปรายในที่ประชุมสภาแต่รัฐบาลกลับไม่รับฟัง ชิงปิดการอภิปรายและตั้งคณะกรรมาธิการโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผลการตรวจสอบออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะมีผลต่อ ส.ส.ที่ลงมติรับร่างดังกล่าว

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายนี้ แต่จะรอให้นายกฯ เป็นผู้เซ็นรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อน ทั้งนี้ เห็นว่าการเร่งรัดรับร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุนั้น เพราะต้องการนำไปเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับการเงิน เพราะ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุเดิมจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุตามความจำเป็น แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเปลี่ยนมาจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันว่าใช้งบเดิมแต่ก็หมายความว่าต้องใช้งบเพิ่มขึ้น ดังนั้นจะมาอ้างว่าไม่ช่กฎหมายการเงินไม่ได้ และอยากถามรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลังว่า การจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้นเกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณด้วยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น