บนเส้นทางการเมืองของพินิจ จารุสมบัติ ที่นับจากเจ้าตัวเริ่มแจ้งเกิดเมื่อปี 2535 เมื่อเกือบ 16 ปีที่แล้ว จากนักการเมืองโนเนมที่พลิกเส้นทางมาจากอดีตผู้นำนักศึกษารามคำแหงที่เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 มาจนถึงปัจจุบันที่ต้องเว้นวรรคการเมือง 5 ปีจากผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค
แม้จะผ่านงาน มาหลายกระทรวงทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รวมถึงหลายพรรคการเมืองทั้งสามัคคีธรรม เสรีธรรม ไทยรักไทย จนมาถึงเพื่อแผ่นดิน
แต่หากมีใครถามผลงานหรือเรื่องราวที่เป็นความโดดเด่นในเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติทั้งในฐานะรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน
หรือ “จุดยืน”เรื่องประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อรักษาระบอบรัฐสภา ของนักการเมืองคนนี้
ก็จะพบว่า แทบไม่มีใครจดจำได้ ว่าเขาทำอะไรเพื่อส่วนรวมที่พอจะเป็นผลงานความภาคภูมิใจในฐานะนักการเมืองอาวุโสคนหนึ่งได้
เพราะหากจะถามถึงเรื่องการต่อสู้ในเรื่องการรักษาบ้านที่ตัวเองสร้างมากับมืออย่าง “เสรีธรรม” ก็พบว่าพินิจ ก็ประกาศ
“ขาย”
ให้กับทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ไก่โห่หลังจากเข้าร่วมรัฐบาลทักษิณ 1 ก่อนหน้าพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ขายบ้านความหวังใหม่ และสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ถูกบีบยุบชาติพัฒนา ไปรวมกับไทยรักไทย เสียอีก
ไม่นับรวมอีกหลายกลุ่มการเมืองต่อจากนั้นทั้งกลุ่มชลบุรี ของสนธยา คุณปลื้ม,กลุ่มเนวิน ของเนวิน ชิดชอบ,กลุ่มกร ทัพพะรังสีจากชาติพัฒนา
ทั้งที่ในช่วงเลือกตั้งปี 44 เสรีธรรมของพินิจ เดินสายหาเสียงในภาคอีสานด้วยวิธี “คาราวานช้างทัวร์”แบบค่ำไหนนอนนั่นโดยเน้นปราศรัยโจมตีพรรคไทยรักไทยและทักษิณ อย่างหนักว่าไม่ใช่พรรคเลือดแท้ ไม่ใช่หัวหน้าพรรคคนอีสาน
ทว่า พอรู้ว่าไทยรักไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และน่าจะอยู่ได้ยาวนานเพราะเสียงฝ่ายค้านคือประชาธิปัตย์ไม่เพียงพอต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ดังนั้นพอได้รับเทียบเชิญตั้งรัฐบาลพร้อมเงื่อนไขให้ยุบพรรคมารวม
พินิจก็ไม่รอช้า
เพราะประจวบ ไชยสาสน์ หัวหน้าพรรคก็เอาด้วย พินิจจึงเผาบ้านทิ้งมาอยู่กับไทยรักไทยชนิด แม้แต่ ส.ส.ของพรรคในเวลานั้นยังปรับตัวไม่ทันเพราะเพิ่งจะหาเสียงด่าทักษิณมาไม่เท่าไหร่ก็มาจูบปากกันแล้ว!
ด้วยวิธีคิดการเล่นการเมืองแบบ “ต้องเป็นรัฐบาลทุกครั้ง”ของพินิจและกลุ่มพญานาค มันจึงเป็นเงื่อนไขที่นักการเมืองด้วยกันรู้ไส้รู้พุง เช่นการขอดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ หรือกระทรวงที่มีโครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ และมีงบประมาณจำนวนมากๆ ตลอดถึงได้ดูแลรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงไอซีที กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย หากได้ตามเงื่อนไขก็ไม่มีปัญหาสำหรับพินิจและกลุ่มของเขา
ทำให้กลุ่มพญานาคจึงแทบไม่มีราคาใดๆ ทางการเมือง เพราะหากคิดจะจับมือตั้งรัฐบาลหรือตั้งพรรคการเมือง แล้วมีเงื่อนไขดีๆ ให้กับกลุ่มพญานาค พวกนี้ก็พร้อมจะจับมือด้วยทุกครั้ง
ส่วนคำว่าจุดยืนการเมือง น่าสงสัยว่าอาจจะสะกดไม่เป็น มีแต่คติประจำกลุ่มว่า “ผลประโยชน์อยู่ไหนพญานาคโผล่ตรงนั้น”
แม้พินิจจะไม่เคยมีประวัติถูกเปิดแผลการเมืองอย่างจังๆ เช่น ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่วงในก็ทราบกันดีว่า เขาเป็นคำอธิบายของ “นักธุรกิจการเมือง” ได้เป็นอย่างดี เพราะขยับครั้งใดเงินไหลทุกที
แต่พินิจก็แจ้งบัญชีทรัพย์สินของตนว่าเป็นหนี้อยู่ 4 ล้านบาท ไม่มีคู่สมรส ทำให้เขาถูกร้องต่อ ป.ป.ช.ว่าแอบซุกทรัพย์สินไว้กับเมียและลูกที่มีทรัพย์สินจำนวนมากทั้งเงินสด และที่ดิน
จาการที่พินิจเคยนั่งกระทรวงคมนาคม และอุตสาหกรรม ก็ทำให้พินิจ ได้เจอกับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม ที่มีเงินถุงเงินถัง แล้วโดนคารมของพินิจให้เป็นเจ้ามือสนับสนุนทางการเมืองให้กับกลุ่มพญานาค ตัวอย่างง่ายๆ สองคนที่มีส่วนสำคัญในการทำพรรคเพื่อแผ่นดินคือ
วัชระ พรรณเชษฐ์ นักธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ แห่งค่ายเอ็มซีซีสิทธิผล ก็หลงเสน่ห์ของพินิจหลังได้เจอกันได้ไม่นานตอนพินิจเป็น รมว.อุตสาหกรรม จนมาเป็นคณะทำงานให้กับพินิจในกระทรวงอุตสาหกรรม และเข้ามาช่วยงานการเมืองในพรรคไทยรักไทยถึงกับได้เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ในโควตากลุ่มพญานาคมาแล้ว
ต่อมาเมื่อพินิจนำกลุ่มพญานาคมาตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็ดึงวัชระหรือ “เสี่ยโด่ง” มาเป็นเลขาธิการพรรค แถมยังดันให้ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลัง คมช.ทำปฏิวัติด้วย
ทว่าวัชระเป็นนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง และคงรู้ดีว่าหากเล่นการเมืองกับเพื่อแผ่นดินและกลุ่มพินิจต่อไปอาจกระเป๋าฉีก หลังจากหมดเงินไปจำนวนหนึ่งในการทำพรรคตามคำร้องขอจากพินิจทำให้วัชระไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 50 และเฟดตัวเองออกไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นเลขาธิการพรรคการเมืองที่แทบไม่มีใครจดจำได้ แม้แต่ ส.ส.ในพรรคก็แทบจำหน้าไม่ได้ และยังไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีหลังเลือกตั้งเสียอีก เพราะพินิจเอาโควตาไปให้คนอื่นคือสิทธิชัย โค้วสุรัตน์ ได้เป็น มท.3
หลังจากในช่วงตั้งรัฐบาลมีข่าวว่าวัชระก็ขอตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรมแต่พินิจเห็นว่าวัชระไม่ได้ทุ่มให้กับพรรคเต็มที่และเงินก็ไม่ได้จ่ายให้กับกลุ่มอย่างที่ตกลง
สุดท้ายวัชระเลยแยกทางเดินกับพินิจเรียบร้อยแล้ว หลังจากหมดทั้งเงินและยังไม่ได้ตำแหน่งใดๆ ทั้งในพรรคและในรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมี ประสงค์ โฆษิตานนท์ อดีต รมช.มหาดไทยหรือ มท.3 นักธุรกิจหินอ่อนชื่อดัง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นถุงเงินคนสำคัญให้กับพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านสามหลัง”ที่กาญจนบุรี
แต่ต่อมาเมื่อมาพบและคุยกันถูกคอกับพินิจสมัยเป็น รมว.อุตสาหกรรม ก็ทำให้ประสงค์เริ่มออกห่างจากเสธหนั่น และมาอยู่ใกล้พินิจมากขึ้น จนเดินเข้าออกกระทรวงอุตสาหกรรมบ่อยครั้ง
ประสงค์ก็มาช่วยพินิจทำเพื่อแผ่นดินในฐานะนายทุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ประสงค์ยอมรับเองว่าไม่เคยเดินทางไปพรรคเพื่อแผ่นดินแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคจนถึงวันได้เป็นรัฐมนตรีในโควตากลุ่มพญานาค แสดงให้เห็นว่าเขาได้เป็นรัฐมนตรีก็เพราะเงื่อนไข “ทุน”ตัวเดียวจริงๆ
ถึงวันนี้ ประสงค์ น่าจะผิดหวังและเจ็บแค้นพินิจอย่างมาก ที่ไม่เสนอชื่อเขาเป็นรัฐมนตรี
เพราะข้อตกลงเดิมที่มีคือเป็นรัฐมนตรีอย่างน้อย 6 เดือนหากมีโควตาให้ แต่ประสงค์ก็เป็นรัฐมนตรีได้ไม่นาน แม้จะอยู่ในสองรัฐบาลคือสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพราะขนาดวันที่เพื่อแผ่นดินจะส่งโผ ครม.ของพรรคให้สุเทพ เทือกสุบรรณ ประสงค์ยังบอกกับคนใกล้ชิดบางคนว่ามีชื่อเขาแน่นอนในเก้าอี้ มท.3 หรืออาจไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้
ทำให้ประสงค์ถึงกับทวงสัญญาลูกผู้ชายกันเลย
ศัตรูการเมืองของพินิจยังมีอีก เช่น สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯและหัวหน้าพรรคกิจสังคม เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องระเห็จออกจากเพื่อแผ่นดินแบบหมดราคา เพราะเป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่มี ส.ส.คนไหนในพรรคเอาด้วยแม้แต่คนเดียวเมื่อเสนอให้พรรคถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลทั้งในรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย แถมยังถูกคนในพรรคโดยเฉพาะกลุ่มพินิจที่ไปจับมือกับสุชาติ ตันเจริญ แห่งบ้านริมน้ำและไพโรจน์ สุวรรณฉวี
จัดการปลดสุวิทย์ออกจาก ครม.ด้วยการใช้กำลังภายในให้ปลดสุวิทย์จากรมว.อุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี
ทำให้สุวิทย์เสียหน้าและเจ็บแค้นพินิจอย่างมาก หลังจากร่วมก่อตั้งเพื่อแผ่นดินโดยยอมทรยศต่อทักษิณ ชินวัตร ไปจับมือกับฝ่ายตรงข้ามทักษิณอย่างสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ,วัฒนา อัศวเหม และ คมช.ทำพรรคเพื่อแผ่นดิน
แต่แล้วสุวิทย์ก็ต้องเจอเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ถีบออกจากเพื่อแผ่นดิน และฝากรอยแค้นให้กับสุวิทย์ รอวันเอาคืนในไม่ช้า