กรรมการสิทธิฯ จี้รัฐแก้ปัญหาสิทธิมนุษชน เร่งนายกออก พ.ร.บ.กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเป็นตัวแทนประชาชนดำเนินคดีคู่กรณี จี้นายกฯ ตรวจสอบทหารเรือไทยทารุกรรมกลุ่มโรฮิงยา แนะให้ยึดหลักมนุษยธรรม เชื่อไม่เกี่ยวกับด้านความมั่นคง
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรรมการสิทธิมนุษยชน นำโดยนายสมชาย หอมละออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการคณะกรรมการรณองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาคดีละเมิดสิทธิ์มนุษยชนและปัญหาภาคใต้ โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 2 ชั่วโมง
นายสมชาย กล่าวว่า ได้มีการหารือเรื่องปัญหาภาคใต้ โดยนายกฯ ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลเรื่องการซ้อมและทรมาน ซึ่งรัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะลดการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินและใช้ความอดทนไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม เป็นต้น
นายสมชาย ยังกล่าวว่า เราได้หยิบยกประเด็นข่าวที่ทหารเรือไทยทารุณกรรมชาวโรฮิงยามาหารือกับนายกรัฐมนตรีได้รับฟัง และรับปากว่าจะรับไปดำเนินการซึ่งขณะนี้ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการตรวจสอบจะอยู่บนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม
“เราได้ตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ว่าจะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศในแถบอาเซียนในการพัฒนาด้านประชาธิไตย และเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเคารพสิทธิของประเทศเพื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน จึงต้องทำให้เป็นตัวอย่างกับประเทศอื่นๆ”
นางอังคนา กล่าวว่า ยังมีรายงานเรื่องของการซ้อมทรมาน และการอุ้มหาย และความไม่เป็นเอกภาพของความมั่นคงเอง หน่วยงานที่ยังขัดแย้งกันอยู่ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าทุกคนสามารถเข้าถึงกลไกในเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมได้โดยง่าย โปร่งใส และเรียกร้องให้ออกพรบ.กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา เนื่องจากกรรมการสิทธิฯ เป็นที่พึ่งของประชาชนได้มาก และฟ้องร้องแทนประชาชนผู้เสียหาย
ด้าน นายโคทม กล่าวถึงกรณีข่าวทหารเรือไทยทารุกรรมกลุ่มโรฮิงยาว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ส่วนที่ฝ่ายทหารตั้งข้อสังเกตว่าการอพยพเข้ามามีแต่ผู้ชาย อาจเป็นการเข้ามาเพื่อดำเนินการบางอย่างในประเทศไทย และอาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคง ตนมองว่าเรื่องนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่ถึงจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงเจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติกับกลุ่มคนเหล่านั้นโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยในชีวิตของบุคคลเหล่านั้น