xs
xsm
sm
md
lg

ครส.เสนอ รบ.ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา - จี้ออก กม.สิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ ครส.เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย ครส.เสนอให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทุกอย่าง รวมถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่ามีการซ้อมผู้ต้องหา รวมถึงมีการเรียกร้องให้เร่งออก พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนด้วย

วันนี้ (19 ม.ค.) เวลา 08.30 น. องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการจับกุมกลุ่มโรฮิงยา โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ ครส. ที่นำโดยนายสมชาย หอมละออ ประธาน นายโคทม อารียา และนางอังคณา นีละไพจิตร เปิดเผยหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรี

โดยนายสมชาย เปิดเผยว่า ครส.ได้เสนอให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล ว่ามีการซ้อมผู้ต้องหา ขณะเดียวกัน ขอให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าสะสางคดีความที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ คดีของนายสมชาย นีละไพจิตร และคดีฆ่าตัดตอน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นและยืนยันว่า จะใช้ความอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา รวมถึงเร่งรัดสะสางคดีที่คั่งค้าง ทั้งคดีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ และการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความ


นายกรัฐมนตรียังหยิบยกกรณีรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล ที่ระบุว่า ไทยมีการทรมานผู้ต้องหาและนักโทษในคดีภาคใต้ โดยระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่า ไม่มีการกระทำดังกล่าว และจะกำชับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างจริงจัง

ด้าน นางอังคณา เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยคดีนายสมชาย เพราะเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศ ซึ่งจะให้ความสำคัญและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผล ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีสูงขึ้น ซึ่งตนเห็นว่า หน่วยงานยุติธรรมต้องให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะสามารถเข้าถึงกลไกต่างๆ ได้ รวมถึงมีการเรียกร้องให้เร่งออก พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชนด้วย

ขณะที่นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังชี้แจงกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงยาด้วย โดยยืนยันว่า ทั้งทหารและรัฐบาลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะปฏิบัติเท่าเทียมตามหลักมนุษยชนที่พึงได้รับ







กำลังโหลดความคิดเห็น