“มาร์ค” จี้กลาโหมเร่งบังคับใช้ฎหมายความมั่งคง หวังผลแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-กฎอัยการศึกใน 3 จว.ชายแดนใต้ หลังต่ออายุมาแล้ว 14 ฉบับ ขีดเส้นตาย 3 เดือนต้องสรุปผลรายงาน ครม. พร้อมยอมรับ จนท.ซ้อมผู้ต้องหายันไม่ใช่นโยบาย เตรียมแจงองค์กรสิทธิมนุษยชน ก่อนยก ครม.ทั้งโขยงลงยะลา 17 ม.ค.นี้
วันนี้ (14 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายสำคัญซึ่งรัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องได้รับการเสริมเรื่องการพัฒนาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม ขณะที่ปัจจุบันทางฝ่ายความมั่นคงก็เดินหน้าทำงาน แต่ในนโยบายจำเป็นต้องมีการตั้งสำนักงานขึ้นมา ซึ่งต้องออกเป็นกฎหมาย ต้องผ่านสภา หมายความว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น สิ่งที่เราดำเนินการไปก่อน คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย รัฐมนตรีหลายกระทรวง โดยที่ตนเป็นประธานทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาตรงนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เริ่มต้นในวันเสาร์ที่ 17 ม.ค.นี้ คณะกรรมการชุดนี้จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ และรับฟังข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่ ขณะนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำลังประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเสนอให้ ครม.ต่ออายุพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะหมดเวลาในวันที่ 19 ม.ค.นี้ เนื่องจากเวลากระชั้นมาก ทาง ครม.จึงอนุมัติให้ต่ออายุไปอีก 3 เดือน แต่กำหนดไว้ว่า ก่อนที่จะมีการมาเสนอต่ออายุครั้งต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังจากที่ต่ออายุมาแล้ว 14 ครั้ง ขอให้ทุกฝ่ายไปสรุปเรื่องกลไกทางกฎหมายที่ใช้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีทั้งพระราชกำหนดฯ กฎอัยการศึก ที่ครอบคุมไปในจังหวัดสงขลาบางส่วนด้วย และกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ออกมาแต่ยังไม่ได้ปรับกลไกการทำงานเข้าสู่กฎหมายฉบับนั้น ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะเราต้องการจะเห็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่มีความหลากหลายอย่างนี้ในทางปฏิบัติจริงๆ ควรจะเลือกใช้กฎหมายฉบับไหนอย่างไร และจะมีผลอย่างไร
นายกฯ กล่าวต่อว่า รวมทั้งให้มีการประเมินสถิติว่า กรณีที่มีการส่งฟ้องศาลในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีทั้งกรณีที่ศาลลงโทษ และศาลยกฟ้อง ลองทำข้อเปรียบเทียบมาให้ดูว่า การใช้กระบวนการและกฎหมายฉบับใดนำไปสู่คดีที่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ คดีใดใช้กฎหมายใด แล้วนำไปสู่คดีที่ขึ้นสู่ศาลแล้วกลับมีการยกฟ้อง รวมทั้งให้ตรวจสอบดูด้วยว่า การใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการเข้ามาทำคดีต่างๆ ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน และมีนัยสำคัญกับเรื่องการตัดสินของศาลหรือไม่ ตรงนี้จะทำให้เรามีการทบทวนเรื่องการใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการต่ออายุโดยอัตโนมัติในทุกๆ 3 เดือนเหมือนกับที่ผ่านมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในวันเดียวกันทราบว่ามีรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากลที่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ จึงขอเรียนว่านี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจำเป็นต้องมาตรวจทานว่าการทำงานในปัจจุบันไปสร้างปัญหาหรือเงื่อนไขหรือไม่ ทั้งนี้ ในส่วนของตัวรายงานเองก็คงต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยว่าเป็นไปตามที่มีการรายงานหรือไม่
“ทั้งหมดเพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยไม่มีความประสงค์ที่จะใช้กฎหมายที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายใดก็ตาม และไม่มีการไปสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้อำนาจในลักษณะนอกกฎหมาย โดยมีกฎหมายมาบังหน้า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวขึ้นมาเป็นการตั้งมาเพื่อดูแลชีวิตทรัพย์สินของประชาชนมากกว่าแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยตรงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การสร้างความปลอดภัยต้องทำโดยมาตรการทางด้านความมั่นคงและมาตรการทางการพัฒนา จุดประสงค์ของเรา คือ ที่ผ่านมามาตรการทางการพัฒนา 1.คือการขาดเอกภาพ ขาดการเข้าไปมีกลไกที่จะทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 2.ขาดการขับเคลื่อนระดับนโยบาย เพราะทุกอย่างจะไปอยู่ภายใต้ของ ศอ.บต. ซึ่งขึ้นอยู่กับข้าราชการที่อยู่ในกระทรวงเพียงกระทรวงเดียว 3.การขับเคลื่อนในเรื่องของการพัฒนาต้องประสานกับฝ่ายความมั่นคง เพราะในที่สุดแล้วจะต้องนำไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน หากเรายึดแนวทางเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และไปด้วยกันอย่างนี้ เราก็คาดหวังที่จะเห็นผลชัดเจนขึ้น และการพัฒนาเองก็จะต้องนำไปสู่คำตอบเรื่องความปลอดภัยด้วย
เมื่อถามว่า ต้องมีการทบทวนเรื่องของการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา หรือต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ นายกฯ กล่าวว่า เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาคงจะทำให้กลไกที่ดูแลเรื่องนี้มีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับที่ตนได้ไปประมวล และทบทวนเรื่องการใช้กฎหมาย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการซ้อมผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดภาคใต้ ได้มีการสอบถามแม่ทัพภาคที่ 4 หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เห็นแม่ทัพภาค 4 ได้ชี้แจงไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่คงต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดอีกที ตนคิดว่าปัญหาการใช้กำลังเกินขอบเขตของกฎหมายอาจเป็นไปได้ว่ามีอยู่บ้าง แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่นโยบาย และไม่ใช่สิ่งที่ทำแบบเป็นระบบ และตนคิดว่ากรณีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสก็เคยมีการดำเนินคดีพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้นำศาสนาน่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เราได้ให้ความเป็นธรรม และจะไม่ปล่อยให้มีการใช้อำนาจหรือความรุนแรงในทางที่ผิดโดยเจ้าหน้าที่
นายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังในส่วนของกองทัพก็ชัดเจน โดย ผบ.ทบ.ในช่วงที่เกิดปัญหาเวลาที่มีใครเสียชีวิตหรือได้รับการ้องเรียนระหว่างถูกควบคุมตัว ท่านก็พูดชัดว่าจะต้องมีการตรวจสอบ แม้จะเป็นบุคลากรของกองทัพก็ต้องรับผิดชอบหากมีการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม ตนตั้งใจที่จะพบกลุ่มสิทธิมนุษยชน เวลานี้กำลังนัดหมายกันอยู่ และไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้ยังมีอีกหลายๆ กลุ่มด้วย
เมื่อถามว่าได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารหรือไม่ เรื่องของการใช้กำลัง นายกฯ กล่าวว่า ในการเสนอขออนุมัติต่ออายุพระราชกำหนดฯ ก็ได้มีการพูดถึงการใช้อำนาจพิเศษต้องพึงระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปกล่าวอ้าง และสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ความเกลียดชัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายกฯบอกว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดภาคใต้จะไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติแล้วแสดงว่าจากนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการต่ออายุอีก นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง และจริงๆ โดยสภาพของพระราชกำหนดฯที่เป็นเรื่องการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป้าหมายของรัฐบาล คือ ต้องทำให้ภาวะในพื้นที่นั้นไม่เป็นภาวะฉุกเฉินให้ได้ ฉะนั้น เป้าหมายจริงๆ ก็ต้องนำไปสู่การยกเลิกในที่สุด แต่ถ้าสถานการณ์ยังจำเป็นเพื่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เราก็เข้าใจ แต่มันต้องมีการประเมินที่เป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่ย้ำไป
เมื่อถามว่า ในฐานะที่นายกฯเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ จะให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่หรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีการใช้กำลังพลที่เยอะมาก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเราจะเห็นว่าความถี่ของเหตุการณ์ลดลง แต่ความรุนแรงยังตอบยากว่าลดลงหรือไม่ และเหตุผลที่ความถี่ลดลงเชื่อว่า มาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และมีการใช้กำลังพลที่เยอะมาก ซึ่งตรงนี้ไม่มีทางจะเป็นคำตอบที่ยั่งยืน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องทบทวนเรื่องกลไก และเอาเรื่องการพัฒนาเข้าไป โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคง เป็นกลไกที่ได้พยายามคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้พระราชกำหนดฯ และกำลังพลอย่างที่เป็นอยู่ ฉะนั้นถ้าปรับเข้าสู่กฎหมายใหม่ได้ น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะนี้รายงานมาเพียงว่า ยังไม่พร้อมที่ทจะปรับเข้าโครงสร้างนี้ ซึ่งต้องไปเร่งรัดกัน
เมื่อถามว่า ทำไมถึงยังไม่มีความเรียบร้อยในการจัดกำลังพลในกองพลทหารราบที่ 15 ให้เรียบร้อยจะได้ไม่ต้องมีการผลัดเปลี่ยนกำลังพลอื่นลงพื้นที่ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนได้ให้แนวทางเรื่องการมีกำลังพลที่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน เพราะขณะนี้เราหมุมเวียนกำลังพลจากที่อื่นเข้าไป แม้ว่าจะมีความตั้งใจดีอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับการที่เราให้ความสำคัญกับกำลังพลที่จะต้องประจำอยู่ที่นั้น และรับผิดชอบตรงนั้นอย่างชัดเจน ส่วนในเรื่องของงบประมาณที่ลงไปเป็นแสนล้านนั้น ตนก็ตามอยู่ในเรื่องของงบประมาณ และทราบว่ามีประเด็นอยู่เหมือนกัน ในเรื่องงบประมาณที่ค้างอยู่
เมื่อถามว่า ความไม่เป็นเอกภาพเกิดจากตรงจุดไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า หลายๆ รัฐบาลเข้าใจทิศทางนโยบายเรื่องการศึกษา และการสร้างให้เกิดการยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม แต่คนที่ทำงานจริงๆ ไม่สามารถที่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติได้มากนัก เพราะการจะทำได้หลายๆ ฝ่ายต้องประสานกัน แต่ที่ผ่านมาน้ำหนักไปทิ้งอยู่กับฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก โดยเฉพาะรัฐบาลที่ผ่านมาจะเน้นว่าตำรวจ ทหาร ดูแลอยู่ ซึ่งจะไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ตลอดไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากความสงบไม่เกิดแล้วการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มันก็เหมือนไก่กับไข่ ถ้าเราไม่พัฒนาก็ไม่สงบเหมือนกัน ฉะนั้นตรงนี้จึงต้องเดินควบคู่กันไป ส่วนที่มองว่าต่างฝ่ายต่างทำแนวทางแก้ไขปัญหานั้น นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพราะฝ่ายนโยบายหลายกระทรวงจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน คล้ายๆ กับ ครม.เศรษฐกิจในขณะนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการฟื้นเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า มีการให้เหตุผลหรือไม่ว่า ทำไมจึงยังไม่สามารถใช้กฎหมายความมั่นคงได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่พูดว่ายังไม่พร้อมในเชิงโครงสร้าง แต่ตนจะไปเร่งรัด เมื่อถามต่อว่าขณะนี้รัฐบาลกับกองทัพถือว่าเป็นเอกภาพแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ดูจะเข้าใจกันในเรื่องของทิศทางการทำงาน การประชุมครม.เมื่อวานมีเรื่องจำนวนมากได้อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอมา ตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อถามว่า หากกฎหมายความมั่นคงเสร็จก็ไม่จำเป็นต้องใช้พรก.ฉุกเฉินแล้วใช่ไหม นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง และรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธานร่างกฎหมายฉบับนี้ ฉะนั้น คิดว่าน่าจะทำให้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ได้ ซึ่งไม่ควรจะใช้เวลานาน ซึ่งตนได้ขอให้กลาโหมทำเรื่องตัวเลขที่ได้ขอไป เพราะเราไม่อยากใช้ความรู้สึก เราอยากใช้ข้อเท็จจริงมาประเมินดูว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้น แนวที่ให้ไปประมวลมา ทั้งเรื่องข้อกฎหมายที่ทับซ้อน คดีความ เหตุการณ์ จะช่วยให้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น โดยขอให้มารายงานก่อนที่จะมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคราวหน้า และไม่อยากให้ขอกระชั้น เพราะ ครม.จะไม่มีทางเลือก
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจแค่ไหนที่เป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้วมาจัดตั้งรัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา นายกฯ กล่าวว่า ตั้งใจที่จะคลี่คลายแต่ต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่ง และต้องการให้มีทิศทาง และความก้าวหน้าที่ชัดเจนโดยลำดับ เมื่อถามต่อว่า รัฐบาลกล้าที่จะกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการคลี่คลายปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าต้องระมัดระวังเรื่องการขีดเส้น อย่าลืมว่าปัญหาภาคใต้ที่หนักหน่วงขึ้นมา เพราะช่วงหนึ่งไปขัดเส้นว่า 6 เดือน เลยทำให้เจ้าหน้าที่ถูกกดดันโดยเส้นตาย และยิ่งไปปฏิบัติ ไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่
เมื่อถามว่า ทำอย่างไรจะรุกมากกว่าตั้งรับ นายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่ากระบวนการพัฒนาคือการรุก เพราะการรุกตรงนี้คือการรุกเข้าไปหามวลชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงพื้นที่คาดหวังอะไรมากกว่าการรับฟังการบรรยายสรุป นายกฯ กล่าววว่า จริงๆ เราจำเป็นต้องไปทำงานกับคนในพื้นที่ ฉะนั้นการรับฟังกับการแสดงเจตนาที่ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่สุดแล้วเราต้องได้ใจประชาชนในพื้นที่ ถ้าได้ใจเขาก็ได้ความร่วมมือ ถ้าไม่ได้ใจไม่ได้ความร่วมมือของเขา ตนว่ายาก ทำได้ก็แค่ตึงสถานการณ์ เมื่อถามต่อว่า รัฐบาลจะใช้แนวทางไหนดึงผู้ก่อความไมสงบกลับใจมาอยู่ฝั่งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าพื้นที่ที่นั้นสงบจะเป็นประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เมื่อถามถึงแนวทางการเจรจากับผู้ก่อการร้าย นายกฯ กล่าวว่า คนที่ทำงานจะใช้การพูดคุยเป็นเรื่องปกติ