xs
xsm
sm
md
lg

“กรมน้ำ” ฝืน “มาร์ค” ขุดอุโมงค์น้ำโขงสานต่อยุค “หมัก”-กู้ยุ่นถลุงล็อตแรก 3.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“กรมน้ำ” สุดหน้ามึน เดินหน้าโครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำโขงลงอีสาน ยุค “หมัก” แม้ “มาร์ค” ส่งสัญญาณให้ระงับ-หันไปสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กแทน เผย “สุวิทย์” เตรียมเซ็นขอกู้ญี่ปุ่น 3.2 หมื่นล้าน ทำเฟสแรก ขุดอุโมงค์ในประเทศก่อน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างปาฐกถา เรื่อง “ผ่าแผนปฏิบัติการงานฟื้นเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ตอนหนึ่งว่า จะไม่ดำเนินโครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ลอดใต้แม่น้ำโขง เข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ที่เห็นชอบในหลักการไว้ แต่จะดำเนินโครงการทุกโครงการ ทั้งระบบขนส่งมวลชนและโครงการอื่นๆ โดยใช้งบประมาณปกติปี 2553 เพื่อเดินหน้า ส่วนโครงการอุโมงค์จะหันไปใช้นโยบายสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กแทนทั้งหมด

โครงการอุโมงค์ผันน้ำลอดแม่น้ำโขงในสมัย นายสมัคร สุนทรเวช นั้น มีคำสั่งถึงกรมชลประทานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงบประมาณร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณากับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด ด้านกรมชลประทานเองก็ออกมาฟันธงในด้านวิศวกรรม ว่า มีความเป็นไปได้ และสามารถแก้ปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานได้ โดยเสนอขุด 2 เส้นทางผันน้ำผ่านอุโมงค์ที่มีความยาวเกือบ 100 กิโลเมตร

ด้าน นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ทส.กล่าวว่า เข้าใจว่า นายกรัฐมนตรี อาจจะหมายถึงโครงการผันน้ำงึม-ห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี-ลำปาว-ชี ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสานระยะที่ 2 ที่ต้องขุดอุโมงค์เชื่อมจากเขื่อนน้ำงึม เป็นการใช้น้ำจากฝั่งลาว แต่ในระยะแรกยังคงใช้น้ำภายในประเทศ จากปากประตูห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี จ.อุดรธานี ได้น้ำเฉลี่ย 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยเฟสแรกจะใช้งบ 32,108 ล้านบาท

“อยู่ในขั้นตอนที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทส.เตรียมทำหนังสือประสานกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอกู้เงินจาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ที่ระยะแรกจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการศึกษาความเป็นไปได้”

นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในส่วนของเม็ดเงินภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ ทส.โดยกรมทรัพยากรน้ำ เสนอขอพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ วงเงิน 11,895 ล้านบาท แต่รัฐบาลอนุมัติมาเบื้องต้น 760 ล้านบาทนั้น วงเงินที่เหลือดังกล่าว ทาง ทส.จะตัดไปใช้ในปีงบปกติของปี 2553 แต่อีกส่วนหนึ่งหรือประมาณ 10,000 ล้านบาท เตรียมจะขอนำไปผนวกในโครงการเงินกู้กับกระทรวงการคลังเช่นกัน

ทั้งนี้ มั่นใจว่า รัฐบาลจะสนับสนุน เนื่องจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว และได้ประโยชน์กับชุมชน รวมทั้งแก้ปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ยังป้องกันการบุกรุกพื้นที่แหล่งน้ำ เพราะถ้ามีการพัฒนาอนุรักษ์พื้นที่แหล่งน้ำให้ชัดเจนเท่ากับเป็นการโซนนิงพื้นที่แหล่งน้ำไม่ให้ถูกบุกรุก อย่างไรก็ตาม ที่กรมทรัพยากรน้ำต้องเสนอเป็นรวมเป็นโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากงบปกติสำหรับแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ได้รับเพียงปีละ 1,600 ล้านบาท และสร้างแหล่งน้ำได้แค่ 300 แห่งต่อปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

รายงานข่าวแจ้งว่า สมัยที่ นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ เป็นรองปลัด ทส.เคยมีการประเมินนโยบายของ นายสมัคร ว่า อาจจะไม่คุ้มทุนในการสร้างระบบขนส่งน้ำจากแม่น้ำโขง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด โดยใช้วิธีการขุดอุโมงค์ส่งน้ำด้วยระบบ “ไฮโดรชิล” ขนานกับถนนมิตรภาพ เพราะโครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำด้วยระบบไฮโดรชิลนั้น ยังไม่ได้เตรียมศึกษามาก่อน แต่เข้าใจว่า น่าจะเป็นส่วนต่อขยายของโครงการโขง-ชี-มูล เพียงแต่เปลี่ยนจากระบบท่อ มาเป็นการขุดอุโมงค์ใต้ดินแทน เนื่องจากพื้นที่อีสานมีปัญหาดินเค็มแพร่กระจาย ขณะที่ในสมัย นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็น รมว.ทส.ก็เคยมีการเชิญไปดูงานโครงการนี้ที่อิสราเอล
กำลังโหลดความคิดเห็น