ในแวดวงนักข่าวไทย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก พี่สุทิน หรือ สุทิน วรรณบวร นักข่าวสงคราม-การเมืองอาวุโสวัยย่าง 60 ปี ที่มีประสบการณ์กับการทำข่าวให้สำนักข่าวต่างประเทศมานานกว่า 30 ปี ทั้งยูพีไอ รอยเตอร์ เอพี ผ่านสงครามและการสู้รบในภูมิภาคอินโดจีนมามากมาย จนได้ฉายาว่าเป็น “นักข่าวสายโจร”
ด้วยความที่ “พี่สุทิน” คลุกคลีกับการเมืองไทย และทำงานกับสำนักข่าวชั้นนำของต่างประเทศนาน ทำให้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของสื่อต่างประเทศทั้งในเชิงองค์กร ตัวบุคคล รวมถึงผลกระทบและแรงแทรกแซงจากทางการเมืองมิอาจคลาดสายตาของนักข่าวอาวุโสผู้นี้ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีล่าสุด การครอบงำสื่อโดยทางตรงและทางอ้อมของ “ระบอบทักษิณ” ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโดยรวมของประเทศชาติ สังคมไทย สถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเขา จนทำให้ในที่สุด “พี่สุทิน” ตัดสินใจลาออกจากการเป็นนักข่าวของเอพี สำนักข่าวที่ร่วมงานกันมาเกือบสิบปี
• วันนี้ที่ สังคมมีการตั้งคำถามกันว่าบริษัทล็อบบี้ยิสต์ บริษัทประชาสัมพันธ์ มีอิทธิพลต่อสื่อต่างประเทศ จริงๆ แล้วมันมีไหม แล้วมีมากขนาดไหน
สำนักข่าวต่างประเทศมีหลักๆ อยู่ 3 แห่งคือ เอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ โดยสื่อหลักทั้ง 3 แห่งนี้เขาไม่ได้มีหน้าหนังสือพิมพ์ มีโทรทัศน์ มีวิทยุของตัวเอง แต่สื่อหลักเหล่านี้จะผลิตข่าวสารขึ้นมาขายให้กับสื่อทั่วโลก ถามว่าอิทธิพลของบริษัทประชาสัมพันธ์ต่อสื่อหลักเหล่านี้มีหรือไม่ มันมี แต่น้อยมาก
อิทธิพลของการประชาสัมพันธ์ หรือ การทำ Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ของฝ่ายหนึ่งหลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 มันมีอิทธิพลบ้างในแง่ของความคิด ในแง่ของความรู้ ในแง่ของข้อมูลที่เขาได้มา ซึ่งข้อมูลที่เขาได้มาจะเป็นข้อมูลที่บวกกับคุณทักษิณและเป็นข้อมูลลบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถาบัน แต่ถามว่าในสื่อต่างประเทศหลักมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้มากไหม? ตอบได้ว่าเอาไปใช้น้อยมาก ยิ่งเรียกได้ว่าเขาไม่แคร์ด้วยซ้ำไป
ทีนี้นอกจากสื่อหลักเหล่านี้แล้ว ก็จะมีพวกหนังสือพิมพ์ พวกแมกกาซีน อย่าง ดิ อีโคโนมิสต์ ไทม์ วอชิงตันโพสต์ ออบเซิร์ฟเวอร์ เดลีเทเลกราฟ อะไรพวกนี้
• อย่างล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีชาวไทยในอเมริกาเขียนส่งอีเมล์มาแจ้งว่าบท บก.ของวอชิงตันโพสต์ใช้ข้อมูลผิดมาเขียนข้อมูลเชิงลบต่อประเทศไทยและสถาบันเบื้องสูง อิทธิพลของล็อบบี้ยิสต์พวกนี้มันมีมากขนาดนี้เลยหรือ
คืออย่างนี้ มันมีอิทธิพลอย่างไร คือ ผมทำข่าวกับสำนักข่าวต่างประเทศมาตลอด 30 กว่าปีนี้ ภาพของประเทศไทย ผมนับตั้งแต่ยุคป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ยุคท่านนายกฯ ชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ยุคของท่านนายกฯ ชวน (นายชวน หลีกภัย) ในภาพลักกษณ์ของประเทศไทย การเป็นประชาธิปไตย การให้เสรีภาพกับสื่อถือว่าเป็นประเทศที่มีอยู่ในเรตอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยซ้ำไป เพราะ เทียบกับสื่อในสิงคโปร์ สื่อมาเลเซีย ส่วนใหญ่ก็เป็นสื่อที่อยู่ในอำนาจของรัฐ แต่สื่อไทยเป็นสื่อเสรีจริงๆ ที่ปล่อยให้เสรีจริงๆ ตั้งแต่รัฐบาลของป๋าเปรม มาถึงคุณชวน
ในช่วงนั้นสำนักข่าวต่างประเทศ หรือ สื่อต่างประเทศจะทำข่าวในภาพกว้าง ภาพรวมเท่านั้น แต่ไม่ทำเรื่องลึกลงไป อย่างเช่น สมมติว่ามีการเลือกตั้งกัน มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีการปฏิวัติก็รู้แต่ว่ากลุ่มไหนมาปฏิวัติ ใครเป็นคนนำคณะปฏิวัติขึ้นมา แล้วหลังจากปฏิวัติตั้งใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีบุคลิกพิเศษอย่างไร มีความสามารถอย่างไร ก็บอกมา และการทำรายงานข่าวช่วงนั้นจะเน้นที่ หนึ่ง ตัวนายกรัฐมนตรี เขาจะทำโปรไฟล์นายกรัฐมนตรี สอง รัฐมนตรีคลัง ส่วนรัฐมนตรีกลาโหมทำน้อยมาก แล้วก็ รัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะในช่วงนั้นปัญหาของสงครามอินโดจีนยังคุกรุ่นอยู่ เพราะฉะนั้นสื่อต่างประเทศส่วนใหญ่เมื่อมามองประเทศไทย ก็รู้ว่าไทยอยู่คนละค่ายกับค่ายคอมมิวนิสต์ ก็มาให้ความสำคัญกับกระทรวงต่างประเทศมาก อยู่แค่นั้น ไม่ทำวิเคราะห์เจาะลึก จนกระทั่งมาถึงยุคของคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) การใช้บริษัทประชาสัมพันธ์ของต่างประเทศเริ่มขึ้นมามีบทบาท คือใช้บริษัทล็อบบี้ยิสต์มาสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง สร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลของตัวเอง มาสร้างกระแสในแง่บวก กระแสนิยมให้กับตัวเอง อิทธิพลของล็อบบี้ยิสต์พวกนี้มีมากในต่างประเทศ
เมื่อรัฐบาลทักษิณเติบโตขึ้นมากจนรู้สึกว่าตัวเองได้รับความนิยมสูงสุด เมื่อความนิยมสูงสุดรัฐบาลคุณทักษิณเองก็ไปเชื่อสิ่งที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า believe in his own propaganda หรือ สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริง เขาเลยมองข้ามสถาบันอื่นๆ ที่เป็นที่นิยม เคารพ ศรัทธาของประชาชนไป เพราะฉะนั้น เข้าใจว่าในช่วงนี้เองความคิดที่บอกว่าเขาอยู่สูงสุด แล้วความคิดที่บอกว่าระบอบนี้เขาจะทำให้สถาบันเป็นเพียงสัญลักษณ์ก็เริ่มออกมา โดยในช่วงต้นๆ เราก็ไม่เอะใจ แต่มันมีเรื่องของ พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ผู้เขียนหนังสือ The King Never Smile
ตอนที่หนังสือออก บริษัทพีอาร์ของเขาก็เอาส่วนต่างๆ ที่เป็นไฮไลต์ของหนังสือส่งเข้ามายังนักข่าวต่างประเทศ เมื่อเราเปิดเห็นแล้วเราก็จะปฏิเสธมัน เพราะเรารู้ว่าอะไรคือของจริง อะไรคือไม่จริง เพราะผมรู้จักกับพอล แฮนด์ลีย์ เป็นการส่วนตัว แล้วรู้ว่าแฮนด์ลีย์ถูกใช้งานโดยคนของระบอบทักษิณ
• ผู้ที่ส่งรายละเอียดของหนังสือ The King Never Smile มาให้สำนักข่าวต่างประเทศในประเทศไทย เป็นใคร
เวลาทำงานที่เราสงสัยว่าบริษัทประชาสัมพันธ์เข้ามามีบทบาท เขาจะส่งเข้ามาในรูปแบบของเอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน นักวิเคราะห์ นักวิชาการของเยล ของเคมบริดจ์ ของฮาร์วาร์ด เขาส่งพวกนี้เข้ามา หนังสือเล่มนี้รู้สึกว่าจะเป็นนักวิชาการของเยลส่งเข้ามา (หนังสือ The King Never Smile จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล) ว่านี่เป็นบางส่วนของหนังสือ คล้ายกับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อเราเปิดอ่านแล้วเราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร เราก็ไม่นำไปขยายความต่อ
ทีนี้เราเองเป็นคนไทย แต่เราไม่รู้ว่าฝรั่งเขาคิดยังไง เราก็เริ่มสงสัยแล้วว่านี่มันคืออะไร แต่ว่าถามว่าฝรั่งที่เขานั่งอ่านอยู่ในสำนักข่าวต่างประเทศ เขาหยิบข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เขียนข่าวไหม ตอบว่าไม่ใช้ แต่ทุกครั้งที่มีการตั้งรัฐบาลหรือมีงานเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศเขียนถึงพระราชกรณียกิจอันงดงามของในหลวง ก็จะมีบางส่วนที่ใส่เข้าไปว่า หนังสือ The King Never Smile เคยเขียนบางส่วนเอาไว้ว่าอย่างนี้ เขียนเป็นส่วนเสริมข่าวเข้าไป แต่ก็มีอิทธิพลน้อยนิด แต่อิทธิพลเหล่านี้มันไปมากที่ไหน ไปมากที่หนังสือแมกกาซีน ไปมากในคอลัมนิสต์ในหนังสือที่มีบทบรรณาธิการ อย่างนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ แทบจะยกออกมาทั้งหมดเลย (ในดิ อีโคโนมิสต์ฉบับ วันที่ 6-12 ธ.ค. 2551 มีการเผยแพร่บทความเรื่อง “The king and them” และ “A right royal mess”)
ถามว่า สิ่งเหล่านี้ฝรั่งในต่างประเทศ ในตะวันตกเขาแคร์ไหม เขาไม่แคร์ แล้วข้อมูลที่เอามาเขียนในดิ อีโคโนมิสต์มันก็มีอิทธิพลเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แล้วก็มั่นใจว่าคนที่เขียนในดิ อีโคโนมิสต์นั้นรับงานมา รับจ้างมา คนที่เขียนข่าวพวกนี้รับงานมา มันเริ่มมีมากขึ้น จนกระทั่งถึงวันที่ 19 กันยาฯ ก็ออกมาในแง่นี้เหมือนกัน คือ ออกมาในแง่ของนักวิชาการ กลุ่มประชาธิปไตย กลุ่ม International Crisis Group เอ็นจีโอ ก็ออกมา เมื่อเริ่มมีการยึดอำนาจ 19 กันยาฯ ก็เริ่มออกมาถล่มทันที เขาจะเขียนว่า "เบื้องหลังการยึดอำนาจในประเทศไทย" เขาก็ส่งเข้ามาในรูปของนักวิชาการ นักวิเคราะห์ ส่งเข้ามาในเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศทั่วไป ถามว่า พวกนั้นเป็นบทความที่นักวิชาการส่งมาเองไหม? เราไม่เชื่อ เราคิดว่ามันมาจากพวกกลุ่มบริษัทล็อบบี้ยิสต์ ไปให้ข้อมูลนักวิชาการ แล้วล็อบบี้ยิสต์ได้ข้อมูลมาจากไหน? ก็ได้มาจากคนของเขาที่อยู่ในประเทศไทย
ตอนแรกก็เขียนว่า เบื้องหลังการปฏิวัติคืออะไร เป็นการปฏิวัติโดยคณะนั้นคณะนี้ แต่บรรทัดต่อไปเขาจะเขียนว่า เป็นเรื่องแปลกที่ในหลวงทรงรับรองในทันที และ เขียนต่อไปว่าคนที่นำเข้าไปคือป๋าเปรม หลังจากนั้นในหน้าที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ก็จะเขียนต่อไปว่าทำไมต้องปฏิวัติ? เพราะว่ารัฐบาลทักษิณเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย และการเป็นที่นิยมมาก มันไปเป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน ทำให้ความนิยมของสถาบันเสื่อมถอยลง เขาก็จบไป พอจบไป แต่ว่ามันก็จะมีข้อมูลออกมาอีกว่า รัฐบาลในประเทศไทยที่ถูกปฏิวัติมาก็เพราะอย่างนี้แหละ แต่กรณีของทักษิณนั้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นรัฐบาลเดียวที่ได้รับความนิยมสูงสุด มี ส.ส.ในสภามากอย่างถล่มทลาย
แต่ว่าทั้งหมด ข้อมูลที่ส่งมาให้นั้น เขาจะตัดตอน เขาจะไม่เขียนว่าคุณทักษิณถูกข้อหาคอร์รัปชันอย่างไร ถูกข้อหาโกงยังไง ถูกข้อหาล่วงละเมิดสถาบันอะไรยังไง เขาไม่เขียน แต่เมื่อออกมานานๆ เข้า เมื่อเขียนถึงการปฏิวัติรัฐประหารก็จะเขียนถึงแง่ลบของสถาบัน แล้วจะมีถล่มเข้ามา เมื่อเราเห็นมากขึ้น ถามว่าพวกนี้มีอิทธิพลต่อสำนักข่าวต่างประเทศไหม ไม่มี แต่มันจะมีอิทธิพลต่อคอลัมนิสต์อะไรต่างๆ
พอหลังจากนั้นแล้ว อิทธิพลของบริษัทล็อบบี้ยิสต์ก็จะมีเข้ามาทุกช็อต อย่างที่บอกว่าในการทำข่าวเมื่อก่อน ในการทำข่าวในประเทศ สำนักข่าวต่างประเทศเราจะทำเฉพาะว่า ถ้าตึกถล่ม มีคนเสียชีวิตกี่คน สาเหตุน่าจะมาจากอะไร แค่นั้น แต่จะไม่เจาะลงไปว่า ไอ้คนที่เป็นเจ้าของตึกมีสายสัมพันธ์กับคนนั้น มีสัมพันธ์กับนายกฯ คนนั้น รัฐมนตรีคนนี้ หรืออย่างกรณีที่ไทยต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรยา มันก็จะมีคนเขียนข้อมูลส่งเข้ามาบอกว่า ไทยต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรยา เป็นความพยายามละเมิดสิทธิบัตรยา ก็เพราะว่าคณะปฏิวัติจะเอาเงินจากงบของกระทรวงสาธารณสุข มาใช้ซื้ออาวุธสำหรับการปฏิวัติ เมื่อส่งเข้ามาแล้วสำนักข่าวต่างประเทศเขาไม่ใช้ มันก็อัดข้อมูลไปตามพวกวารสาร หนังสือพิมพ์ ที่มีคนของเขาอยู่
• อิทธิพลของล็อบบี้ยิสต์ต่อสื่อที่เคยเจอกับตัวเองมีบ้างไหม
ที่มาเจอกับตัวเองก็คือ มีหนังสือพิมพ์ออบเซิร์พเวอร์ ของอังกฤษ ชื่อ บิล คอนดี (Bill Condie) เขาโทรศัพท์มาหา บอกว่าอยากให้ช่วยเขียนบทความเรื่องหนึ่ง หรือ ให้ข้อมูลเขา เพราะเขามีเรื่องที่อยากเขียนเกี่ยวกับการเมืองไทย เราก็บอกกับเขาว่าตอนนั้นเราอยู่ต่างจังหวัด มีเรื่องอะไรอยากให้เขียนก็ส่งอีเมล์มา
ปรากฎว่าเขาส่งเมล์มาว่า เขาเขียนเรื่องให้ หนังสือออบเซิร์ฟเวอร์โดยมีมุมหนึ่งที่อยากจะเขียนมากๆ เรื่อง สื่อไทยลำเอียง มีไบแอส (Bias) ที่ไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเสื้อแดงเลย ซึ่งจะดีมากถ้าเรามีข้อมูลลึกๆ เราเลยตอบมันไปว่า "ขอบคุณที่โทรศัพท์มาหา แต่จากมุมข่าวที่คุณบอกมา คุณได้ข้อมูลอัพไซด์ดาวน์ไป คือ มองโลกในมุมกลับ เพราะสิ่งนี้แหละที่ทำให้ผมลาออกจากเอพี เพราะ ผู้สื่อข่าวฝรั่งโง่ๆ ส่วนใหญ่ที่ผมไม่เคยเชื่อถือ มักจะมีวาระซ่อนเร้นในตัวเอง ไม่รู้ว่าข้อมูลที่คุณได้มานั้นมาจากเงินของทักษิณ หรือ มาจากบริษัทพีอาร์อีเดียตกันแน่ ซึ่งต้องการแต่เงินเท่านั้น โดยไม่นึกถึงจรรยาบรรณ"
และก็บอกเขาว่า ขอโทษที่ต้องพูดตรงไปตรงมา เพราะ กลุ่มเสื้อแดงนั้นถูก Overcoverage หรือทำข่าวมากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะว่าก่อนที่พวกนี้จะมาประท้วงก็มีการรายงานข่าวของวิทยุ โทรทัศน์ ตอนที่มาประท้วง วิทยุ โทรทัศน์ก็ออกข่าวทุกๆ เบรก แล้วตื่นเช้าขึ้นมาก็ลงข่าวของพวกนี้ในเฮดไลน์เลย แล้วคุณเอาข้อมูลมาจากไหนว่าสื่อลำเอียงไม่ลงข่าวของคนเสื้อแดงเลย
• พี่สุทิน เล่าต่อด้วยว่าในประสบการณ์ทำข่าวให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ 30 กว่าปีเริ่มตั้งแต่สำนักข่าวยูพีไอ 12 ปี รอยเตอร์ 11 ปี และ เอพีอีก 9 ปีนั้นตนเองไม่เคยเจอสถานการณ์การใช้ล็อบบี้ยิสต์มากดดันตัวนักข่าวจนกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุด
ที่กระทบกับตัวเองโดยตรงก็เนื่องจากเราเห็นสภาพอย่างนี้ แล้วมาในช่วง 30 ปี ไม่เคยมีใครตั้งคำถามกับเราในเรื่องของการทำข่าว เราทำข่าวมาทั่วอินโดจีน ตั้งแต่สัมภาษณ์พวกเขมรแดง พอลพต เขียวสัมพันธ์ กะเหรี่ยง คะยา แม้กระทั่งขุนส่า ผู้นำว้า ผู้นำพูโล เราก็สัมภาษณ์มา ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยกับเราว่าเราลำเอียง แต่มีปัญหาว่าครั้งหนึ่งที่เราไปตั้งคำถามกับ ผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) หลังจากที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน (ต้นเดือนกันยายน 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช) ว่า "ระหว่างชีวิตกับเลือดเนื้อของประชาชนที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล กับนายกฯ เฮงซวยคนหนึ่ง ท่านจะเลือกเอาฝ่ายไหน"
ในส่วนของตัวคำถาม พี่ยอมรับว่าเป็นคำถามที่อาจจะไม่เหมาะไม่ควร แต่โดยความรู้สึกของเราในฐานะคนไทย เรารู้สึกว่านายกฯ อย่างนั้นก็สมควรได้รับคำถามอย่างนั้น เพราะสมัครพูดมาตลอดว่า สื่อเลว ชั่วช้า บัดซบ เลวทราม เสพเมถุน เหล่านี้เป็นคำติดปากเขาตลอดเวลา
นอกจากนี้ การที่เราไปถามเขาอย่างนั้นสาเหตุก็มีอยู่ 2 ประเด็น อีกประเด็นหนึ่งคือ เนื่องจากเราทำงานมานาน ทุกครั้งที่มีการชุมนุม ถ้ามีการประกาศภาวะฉุกเฉินมันจะต้องมีมาตรการดำเนินการจัดการต่อเนื่อง มีการตั้งคนขึ้นมา แล้วส่วนใหญ่มักจะตามมาด้วยเคอร์ฟิว และ ตามมาด้วยการปราบปรามประชาชน เพราะฉะนั้น คำถามเราถามตามความรู้สึกเพื่อที่จะกันไว้ก่อนว่า ระหว่างชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนกับคนๆ หนึ่งคุณจะเลือกอะไร
พอเราถามอย่างนั้นเสร็จ ปรากฎว่ามีโทรศัพท์เข้าไปด่าเราในสำนักงานที่เอพี ไปที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซีที) โทรมาด่าที่บ้าน แล้วก็ทางเว็บไซต์ของเขาก็ออกมาด่า โจมตี และประณามเรา ซึ่งเราก็คิดว่าเรื่องมันคงจบแค่นั้น แต่มันไม่จบแค่นั้น มันไปมีอันนี้ขึ้นมา (เปิดอีเมล์ให้ดู) มันมีคนทำหนังสือร้องเรียนเราไปถึงผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเอพีที่นิวยอร์ก ถึง คุณพอล โคลฟอร์ด (Paul Colford)
เขาเขียนไปถึงเอพีที่นิวยอร์ก บอกว่า ผู้สื่อข่าวของเอพีในเมืองไทยก็คือเรา ใช้ภาษาหยาบคายในขณะที่ผู้บัญชาการทหารบกแถลงข่าว เขาบอกว่าเราไม่สามารถที่จะเก็บอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ และลุกขึ้นมาถาม ผบ.ทบ. อย่างที่ว่า และทิ้งท้ายว่า เอพีตั้งเรามาเป็นผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยได้อย่างไร และบอกด้วยว่าเราไปเข้าข้างคณะกบฎที่ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่ นอกจากนี้ภาษาที่เขาใช้ยังเป็นภาษาที่บาดหูคนไทยอย่างมาก และเขาก็จี้ให้ทางเอพีอธิบาย
• แล้วใครเป็นคนส่งไป
เขาลงชื่อว่า "เอกาพิภพ (Ekkapipop)"
• เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นคุณจักรภพ เพ็ญแข เพราะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านสื่อ สมัยรัฐบาลคุณสมัคร
เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะคุณจักรภพ ก็ชื่อเล่นว่า "เอก" แต่ถามว่าเมล์อันนี้ไปถึงผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเอพีได้อย่างไร เพราะ เราทำข่าวอยู่กับเอพี 9 ปี แต่เราไม่รู้เลยว่าเมล์ของคนนี้ชื่ออะไร แม้กระทั่งบูโรชีฟ (หัวหน้าศูนย์ข่าว) ของเราที่ตอนนั้นไปทำงานอยู่ที่อิรักก็ยังไม่รู้ เพียงแต่ได้รับฟอร์เวิร์ดเมล์จากผู้บริหารของเอพีที่นิวยอร์กให้จัดการเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมล์อันนี้ไปถึงผู้บริหารที่นิวยอร์กได้อย่างไร แล้ว ใครคือ "เอกาพิภพ"
เขาก็เข้าใจว่าสถานการณ์ในประเทศไทยซับซ้อนมาก ต่างฝ่ายก็ต้องการจะกดดันให้สื่อเข้าข้างตัวเอง แต่เขาก็บอกว่า นิวยอร์กต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราใช้ภาษาอย่างนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะคำถามที่ก้าวร้าวกับคำถามที่ดูถูกนั้นแตกต่างกัน แล้วก็บอกต่อว่าถ้าเป็นจริงก็จำเป็นที่จะต้องขอโทษ เราก็อธิบายให้เขาฟังว่า มันไม่ใช่เมล์ที่เขียนโดยคนไทยทั่วไปที่เดินตามท้องถนนส่งให้เอพี เพราะ หนึ่ง คนที่เขียนเมล์อันนี้ต้องเขียนจากเมืองไทย โดยส่งผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ เพราะขนาดคนเอพียังไม่รู้จักเมล์ผู้บริหารเอพีคนนี้เลย ตัว "เอกาพิภพ" ก็คงไม่รู้ถ้าไม่ทำผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ และ "เอกาพิภพ" คนเดียวกันนี้ก็เป็นคนเขียนเมล์ไปโจมตีเราที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย แต่ไม่มีผล เขาจึงส่งเมล์อันนี้ไปให้บริษัทประชาสัมพันธ์ของเขาให้ส่งต่อไปให้ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเอพี เพราะ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสื่อทุกแห่งก็มีความสัมพันธ์กับล็อบบี้ยิสต์อยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่นเวลามีการจัดแข่งขันไทยแลนด์ โอเพน ก็ไม่ใช่ว่าผู้จัดเป็นคนติดต่อสื่อเอง แต่บริษัทประชาสัมพันธ์เป็นคนติดต่อ ก็จะส่งให้ว่าสื่อจะไปสัมภาษณ์นักเทนนิสคนไหนได้วันไหน ใครมาเมื่อไหร่ เป็นต้น นี่คืออิทธิพลของบริษัทประชาสัมพันธ์และล็อบบี้ยิสต์
ถามว่า จดหมายฉบับนี้มีอิทธิพลต่อการทำงานของเราไหม บูโรชีฟคนนี้เขาเชื่อเรามาตลอด แต่เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นก็ทำให้เขาสงสัยเราว่าเราไปเข้าข้างกลุ่มพันธมิตรฯ หรือเปล่า ก็มีการพูดกัน เราก็บอกว่าถ้าจะให้ขอโทษ เราไม่ขอโทษ เพราะเราทำไปด้วยความตั้งใจ เรามั่นใจว่าคำถามของเรานั้นทำให้คนไทยหลายล้านคนมีความสุข
• เหมือนกับกรณีที่นักข่าวอิรัก ปารองเท้าใส่จอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือเปล่า
(ยิ้ม) แต่มันก็มีข้อสงสัยในตัวเรา แล้วกรณีนี้ก็มาบวกกับการประชาสัมพันธ์ของล็อบบี้ยิสต์ที่ส่งข้อมูลในแง่ลบของพันธมิตรฯ เข้ามาในอีเมล์ ส่งข้อมูลในแง่บวกของคุณทักษิณเข้าไปตามสำนักข่าวต่างๆ ตลอดเวลา แล้วกรณีล่าสุด กรณีที่บริษัทประชาสัมพันธ์ส่งข้อมูลของ International Crisis Group เข้ามา ซึ่งข้อมูลทำโดยคนไทยนี่แหละ เขียนว่า การโค่นล้มอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะมาโดยทหาร หรือจะมาจากการชุมนุมประท้วง เขาก็ให้คนไทยเขียนเข้าไป แต่เป็นข้อเขียนที่ส่งมาจากนิวยอร์ก ส่งไปถึงทุกสื่อ
ในแง่ของข่าว มันไม่ได้มีอิทธิพลมากมายเพราะเราเป็นคนเขียนข่าวเอง แต่มันจะไปมีอิทธิพลกับคนอื่นๆ อย่างน้อยที่สุดนักข่าวคนอื่นๆ ก็จะไม่พูดมุมดีของการชุมนุม โดยทั่วไปสำนักข่าวต่างประเทศจะไว้ใจคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะประเทศไหน ข่าวในอินโดนีเซียก็คนอินโดนีเซียทำ ข่าวในจีนก็คนจีนทำ ข่าวเขมรก็คนเขมรทำ ข่าวพม่าก็คนพม่าทำ เขามีหน้าที่เพียงแค่แก้ไขภาษาของเราเท่านั้น
แต่มันมีอิทธิพลสูงหลังจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 (เหตุการณ์ตำรวจทำร้ายประชาชนที่บริเวณรัฐสภา)วันที่ 7 ตุลาฯ เราอยู่ในเหตุการณ์ เราก็ไม่รู้อะไรมาก เพราะเราเขียนสิ่งที่เราเห็น เราก็เขียนข่าวไปจากสภา ปรากฎว่าวันที่ 7 หลังจากที่เขายิงกันแล้ว เราก็เขียนข่าวไปตามที่เราเห็น แต่มันไปมีพารากราฟ (ย่อหน้า) ที่ 4 ของข่าวเรา ใช้ชื่อว่าเราเป็นคนเขียนเสริมเข้ามาว่า ช่างภาพของเอพีทีวีเห็นกลุ่มพันธมิตรฯ มีปืนอย่างน้อย 4 กระบอก ไล่ยิงตำรวจ ประเด็นคือ ข่าวชิ้นนั้นมันระบุว่าเราเขียน ช่างภาพทีวีเขาไม่มีหน้าที่เขียนข่าว แต่เรื่องมันไปใช้ชื่อเราตรงนั้น
• คล้ายๆ ว่าข่าวนั้นเราเป็นคนเขียน
ขณะที่เราก็ไม่รู้ จนกระทั่งคนที่ชิคาโก หรือที่ไหนสักแห่งโทรศัพท์เข้ามาว่า เราไปเขียนข่าวอย่างนั้นได้ยังไง เราก็ไม่รู้ เพราะวันนั้นไฟในสภาดับด้วย จนกระทั่งตื่นเช้าก็มาเปิดดูในวันที่ 8 ก็โทรเข้าไปถามข้างใน (สำนักงาน) ว่าใครเป็นคนเขียนพารากราฟนี้ เขาก็บอกว่าช่างภาพของเอพีทีวีเห็นมากับตาเขา เมื่อเราไปวิเคราะห์แล้ว เขาอาจจะเห็นจริง แต่ไม่ควรจะมาใส่ในเรื่องของเรา ก็เกิดการถกเถียงกัน ก็บอกว่าเป็นช่างภาพทีวี ทำไมไม่ถ่ายจากทีวีไปรายงานในข่าวทีวี มาใส่ในเรื่องของไอได้ยังไง ทีนี้เขาก็มีความรู้สึกว่าเราลำเอียงฝังใจกับกลุ่มพันธมิตรฯ จริงๆ แล้วก็เลยบอกว่าเรื่องมันเขียนไปแล้ว ถอนออกมาไม่ได้แล้ว
แต่เรามารู้ว่าฝ่ายทีวี เขาไม่ชอบสถาบันมานานแล้ว แต่เราพูดไม่ได้เพราะไม่ใช่ส่วนของเรา ครั้งแรกที่เราเริ่มเอะใจก็เพราะว่าช่างภาพทีวีคนนี้เป็นคนสเปน แม้กระทั่งว่ากษัตริย์ของเขามาเมืองไทยเอง เขายังพูดดูถูกเหยียดหยามกับเรา ทำสติกเกอร์มาติดที่จอเราประท้วงกษัตริย์ของเขา ตอนที่กษัตริย์ของเขาเสด็จมางานครบรอบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วคนที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายทีวีนั้นเป็นคนอังกฤษ ซึ่งไม่ชอบพันธมิตรฯ อย่างมาก อาจจะมาจากข้อมูลที่เขาได้มาอย่างที่ว่า
ครั้งหนึ่งที่เราเข้าไปในออฟฟิศ ก็นั่งกินกาแฟกันเขาถามพี่ว่า "เมื่อไหร่พันธมิตรฯ จะออกจากทำเนียบ" เราก็ถามเขาว่า "ทำไมยูตั้งคำถามอย่างนี้ เราเข้าไปทำข่าว พันธมิตรจะไปยึดทำเนียบก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา" เขาก็บอกต่อว่า การที่พันธมิตรฯ เข้าไปยึดทำเนียบมันเป็นเรื่องน่าเกลียดมาก เราก็ถามว่า "ยูพูดอย่างนี้ได้ไง มันเป็นเรื่องของยูเหรอ" เหมือนไปถามว่าคนไปประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินน่าเกลียดหรือไม่น่าเกลียด หรือ พระที่ลุกออกมาประท้วงในพม่า คุณเคยไปถามไหม คุณก็เขียนเชียร์เขา ทำไมไม่ไปถามพระว่าเหตุผลอะไรถึงออกมาประท้วงเมื่อเริ่มหนักเข้า เขาก็เอาเรื่องของเราไปพูดในเอฟซีซีที (สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย) ว่า เราไม่ใช่ผู้สื่อข่าวที่เป็นกลางแล้ว โดยที่เขาเอาจดหมายฉบับที่ "เอกาพิภพ" เขียนนั้นเป็นพื้นฐาน โดยเมล์นี้เป็นสิ่งที่มากระทบเราโดยตรง
จนกระทั่งล่าสุดที่มีผลกระทบคือ เมื่อมีการยิงระเบิด M79 เข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีคนตายและคนเจ็บ เราก็เข้าไปถึงในทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เช้าก็เขียนข่าวส่งเข้าไปให้เขา ปรากฎว่าเราเขียนข่าวเข้าไปในสำนักงานว่ามีการยิงระเบิดมาจาก M79 Grenade Launcher (เครื่องยิงระเบิด M79) คือ เขียนเป็นภาษาอังกฤษเข้าไปเลย ไม่ได้เขียนภาษาไทย ข่าวออกมาเหมือนที่เราเขียนว่ามีคนเจ็บ มีคนตาย แต่ว่า เขาไปแก้ว่าระเบิดนั้นสงสัยว่ามีคนโยนเข้ามา
เราก็อยู่ในทำเนียบไม่ได้ดู เมื่อมาดูตอน 9 โมงเช้า ก็ท้วงเขาไปว่า “ทำไมยูมาเขียนอย่างนี้” ก็เลยโทรศัพท์เข้าไป เขาก็บอกว่ามันยังมีข้อสงสัยอยู่ เราก็ถามเขาว่า คุณยังสงสัยอะไร ไอไม่เข้าใจ ไออยู่ที่นี่ อยู่ในสนาม เราทำข่าวสงครามมาตั้ง 30 ปี ตั้งแต่สงครามเวียดนามเรารู้ว่าระเบิดมันเป็นลักษณะแบบไหน ฟังเสียงออกด้วยซ้ำไป แล้ววิถีที่ยิง ระเบิดมันยิงมาตกทะลุหลังคาที่อยู่สูงมาก แต่ปรากฎว่าเขาก็ยังสงสัยอยู่ เราก็บอกว่าเรายืนยันว่ายิงมาจากเครื่องยิงระเบิดไม่ใช่คนขว้าง มันก็ยอมแก้ให้ เราก็เอะใจว่ามันเป็นเรื่องอะไร พอ 11 โมง เราก็เข้าไปที่ทำงานดีกว่าไปคุยกัน พอเข้าไปคุยกันในที่ทำงานปรากฎว่า วันนั้นเป็นวันพอดีที่มีผู้บริหารระดับสูงของเอพีมาจากนิวยอร์กคนนึง แล้วปกติบรรณาธิการใหญ่เขาจะไม่มายุ่งกับเราในการทำข่าว ทั้งกระบวนการ
จริงๆ เอพีที่เมืองไทยมีนักข่าวไทยแค่ 2 คน แล้วก็มีฝรั่ง 4 คน โดยฝรั่ง 4 คนนี้ดูแลข่าวทั้งเอเชียและอินโดจีน อย่างหัวหน้าบางทีเขาก็ถูกมอบหมายให้ไปอยู่อัฟกานิสถาน 2 เดือน ไปอยู่ที่โน่นที่นี่ 2 เดือน ดังนั้นก็เหลือนักข่าวฝรั่งอยู่เมืองไทยแค่ 3 คนที่หมุนเวียนกันมา ซึ่งเขาก็จะอีดิท (แก้ไข) ข่าวที่เราส่งเข้าไป แต่ว่าที่แล้วมา เขาไม่เคยตั้งคำถามกับเราแต่เที่ยวนี้ทำไมเขาตั้งคำถาม เราก็สงสัย เนื่องจากว่าอิทธิพลของอีเมล์ดังกล่าว เรื่องมันเริ่มขึ้นเมื่อกันยายน แล้วเหตุการณ์ที่ตามมาก็ในเดือนตุลาคม
• ทำไมสื่อต่างประเทศเขาไม่เชื่อข้อมูลจากนักข่าวที่อยู่ในสนาม ไม่ฟังเสียงพี่สุทินแล้วเขาไปฟังข่าวจากสื่อไหน หรือใครว่า ระเบิด M79 ในทำเนียบนั้นมาจากคนเขวี้ยง ไม่ได้มาจากเครื่องยิงระเบิด
อันนี้จะเล่าให้ฟังว่าทำไม เมื่อเราเข้าไปเสร็จ ปรากฎว่า เขาบอกว่าที่เขาตั้งคำถามกับข่าวที่เราเขียนก็เพราะเว็บไซต์ของมติชนออกข่าว และออกภาพ ที่มีระเบิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเต็นท์ต่างๆ อย่างจงใจหรืออะไรก็ไม่รู้
• ที่มีข่าวบอกว่ามติชนลงรูปผิด ไปลงรูปเต็นท์เตี้ย แทนที่จะเป็นหลังคาเต็นท์สูง
ใช่ ... ถามว่าเว็บไซต์มติชน ฝรั่งเห็นไหม อ่านออกไหม อ่านไม่ออก มันมีเว็บไซต์ที่คอยเคาท์เตอร์ (โต้กลับ) ข่าวฝั่งพันธมิตรฯ ออกมาพร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาทุกๆ ช็อต เหตุการณ์เมื่อมีคนขาขาดที่หน้าสภา (ช่วงเช้าของเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.) ข่าวเคาท์เตอร์ของเขาออกมาทันที ในเว็บไซต์ประชาทรรศน์ โลกวันนี้ ว่าคนขาขาดเป็นขอทาน อันนี้ก็เหมือนกัน โดยปรากฎว่าข่าวจากเว็บไซต์นี้ถูกประชาทรรศน์เอาไปขยายว่า สงสัยว่าพันธมิตรจะขว้างระเบิดใส่ตัวเอง เรียกร้องความสนใจ คนมาชุมนุมน้อยแล้ว
แล้วคนที่นั่งอยู่ในโต๊ะบรรณาธิการข่าวของประเทศไทย ซึ่งโต๊ะบรรณาธิการที่อยู่ในประเทศไทยนั้นจะเขียนข่าว 26 ประเทศในเอเชีย แต่จะแยกกันอยู่กับส่วนที่เป็นศูนย์ข่าวประจำประเทศไทย แต่เดินไปเดินมากันได้ ซึ่งในส่วนนั้นมีคนที่เป็นส่วนของเลขานุการซึ่งเป็นคนไทย ส่วนที่เป็นเลขาฯ เขาไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับข่าว มีหน้าที่ธุรการ ติดต่อเรื่องการเดินทางไปโน่นไปนี่ให้ผู้สื่อข่าว แต่เขามอนิเตอร์เว็บไซต์พวกนี้ตลอดเวลา แต่แทนที่เขาดูแล้วเขาจะผ่านตาไป เขากลับแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งให้กับบรรณาธิการทุกคนแล้วพวก บก.เขาก็ไปเห็นอันนี้ เขาก็เลยมาตั้งคำถามกับเรา
จริงๆ เขาอาจจะตั้งคำถามเพราะว่าเขาต้องการจะเสนอข่าวที่ถูกต้อง หรือ อิทธิพลที่เขาได้มาเราก็ไม่รู้ แต่คนที่เป็นคนแปลให้ รู้ว่าต้องรับงานมา เพราะ ไม่ใช่เรื่องของเขา ไม่ใช่หน้าที่ของเขาเลย
เราเมื่อเข้าไป (ในสำนักงาน) เนื่องจากเรามีอารมณ์ไปแล้ว เราก็บอกว่า ทีหลังยูจำไว้เลยนะว่ายูอย่าเอาข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้สื่อข่าว หรือ คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าว มาถามนักข่าวที่อยู่ในสนาม มันก็บอกว่าเมื่อมีข่าวของส่วนอื่นออกมา เขาก็มีสิทธิที่จะถาม เราก็บอกว่า สิ่งที่คุณเอามาบอกมันเป็นส่วนของการตอบโต้ข่าวที่ออกมาจากศัตรูของฝ่ายพันธมิตร เหมือนกับยูเอาข่าวของเคจีบีมาโต้กับข่าวของซีไอเออย่างนั้น เขาก็ว่าว่าเราชักไปไกลแล้ว
โดยบังเอิญ บก.ใหญ่ เขาก็เดินมา เขาก็เห็นข้อมูลอันนี้เขาก็มาถามเราว่า สุทินยูลองเช็คได้ไหมว่ามีที่อื่นเขารายงานกันว่าพันธมิตร อาจจะโยนระเบิดใส่ตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ เราก็เลยปรี๊ดขึ้นมาว่า "ยูเอาคำถามอีเดียท คำถามโง่ๆ อย่างนี้มาถามกับไอได้ยังไง" มันก็บอกว่าถามแค่นี้ทำไมต้องโกรธ เราโกรธเพราะว่า หนึ่ง คุณได้ข้อมูลอะไรมา สอง คุณมีอะไรอยู่ในใจถึงได้มาถามอะไรอย่างนี้ เขาก็บอกว่าเขาเป็น บก.ใหญ่ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะถาม เราก็ถามกลับเขาว่า ตอนที่ เบนาซีร์ บุตโต (อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของปากีสถาน เสียชีวิตเมื่อ 27 ธ.ค. 50) ถูกระเบิดตาย คุณได้ถามนักข่าวในสนามไหมว่า เบนาซีร์ บุตโต อาจจะระเบิดตัวเองตายก็ได้เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ครอบครัว เขาบอกว่าทำไมเราไม่มีเหตุมีผล เราก็บอกว่าเรามีเหตุมีผล
แล้วบังเอิญมันมีผู้บริหารระดับสูงยืนอยู่ เขาก็บอกว่าอย่างนี้ได้ไหม รู้สึกว่าต่างคนต่างไม่มีอารมณ์คุยกัน ไปพัก หยุดก่อนค่อยมาคุยกัน พอเขาไป แล้วกลับมา บก.ใหญ่ ก็เข้ามาถามว่า รู้ไหมที่ยืนอยู่น่ะเป็นใคร เราก็บอกว่ารู้ ว่าเป็นใคร และบอกว่าอย่าว่าแต่เป็นผู้บริหารระดับสูงเลย ประธานของมึงมางี่เง่ากับกู กูก็กล้าด่า ทีนี้เขาก็เลยไปเขียนในเมล์ภายในว่า พฤติกรรมของเรานั้นยอมรับไม่ได้ ที่ไปใช้ภาษาอย่างนั้นต่อหน้าหัวหน้า หรือ ไม่ยอมชี้แจงเรื่องข่าวกับเขา เราก็ตอบไปทันทีว่า ถ้าถึงจุดนี้แล้ว เราก็รับพฤติกรรมของพวกคุณไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เชื่อถือกันและกัน ก็ขอหยุดงานกับเอพีตั้งแต่วันนี้ นาทีนี้ แล้วก็เอาโทรศัพท์ แลปท็อป เอาการ์ดคืนเขาหมด ช่วงนั้นก็เป็นช่วงปลายๆ ของการชุมนุมของพันธมิตรแล้ว ที่มีการยิงกันครั้งสุดท้ายก่อนการชุมนุมใหญ่
เพราะฉะนั้นเราเห็นว่าอิทธิพลของข่าวที่ตอบโต้ออกมา ส่วนใหญ่เราคิดว่าออกมาจากบริษัทประชาสัมพันธ์หรือล็อบบี้ยิสต์ ซึ่งเขามีการประสานกับคนท้องถิ่น ที่เขาทำได้ที่นี่เขาก็ทำที่นี่ โดยคนท้องถิ่นของเขาจะไปกระจายข่าวในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศบ่อยๆ โดยเฉพาะพวกที่พูดภาษาอังกฤษดี ชื่อเสียงของพี่ในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในช่วงหลังนั้นแย่มากเพราะเขามองว่า เราเป็นพันธมิตรฯ
เขาก็มักจะถามพี่ว่า "ยูรู้ไหมว่าพันธมิตรฯ เป็นคนพวกไหน เป็นใคร" เราก็ตอบไปว่า "รู้ ถ้าจะนับก็ หนึ่ง ลูกไอ สอง เมียไอ สาม เพื่อนไอ สี่ ญาติไอ ที่เหลือเป็นคนที่ไอรู้จัก เพราะต้องเข้าใจว่าพันธมิตร 50-60 เปอร์เซ็นต์ มาจากภาคใต้ ไอเป็นคนภาคใต้ แล้วรสนิยม ความรู้สึก ความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายกัน ส่วนใหญ่ก็จะมีความศรัทธาซึ่งกันและกัน ดังนั้น ถ้ายูถามว่าไอรู้จักไหม ก็ตอบว่าไอรู้จักดีกว่าที่ยูเข้าใจ"
มันเป็นสภาวะที่เข้ากันไม่ได้แล้ว แต่ถามว่าเราเคยเขียนข่าวว่า พันธมิตรดีเลิศ ทักษิณไม่ดี มันไม่ใช่ แต่เราเขียนไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะโดยหน้าที่ของสำนักข่าวต่างประเทศ มันไม่สามารถที่จะใส่ความเห็นลงไปได้ เพราะว่าสำนักข่าวต่างประเทศนั้นขายเครดิต ถ้าเครดิตไม่ดี มันก็หมด
• ถ้าไม่มีอิทธิพลกับสำนักข่าวต่างประเทศ แล้วบริษัทประชาสัมพันธ์-ล็อบบี้ยิสต์ที่เขาจ้างมา มีอิทธิพลกับสื่อได้ยังไง
แม้ว่าทั้งหมดนี้มันไม่มีอิทธิพลกับสำนักข่าวหลัก 3 สำนักข่าว แต่มันมีอิทธิพลในเมืองไทยเท่านั้น เพราะทุกครั้งที่เขียนข่าวทักษิณ ทักษิณพูด คนที่ได้สัมภาษณ์ทักษิณมาจากเมืองจีนหรือจากที่ไหนทางโทรศัพท์ เมื่อเทียบกับข่าวที่เราเขียนจากที่นี่ เครดิตของเขาไม่เคยชนะเราเลย เครดิตเป็นศูนย์ด้วยซ้ำไป
• เขาวัดเครดิต วัดเรตติงกันยังไง
สมมติว่าข่าวซานติก้า ผับ ไหม้ในประเทศไทย มันจะมีตัวเลขออกมาเลยว่า เอพีกี่เปอร์เซ็นต์ รอยเตอร์กี่เป็นเซ็นต์ เอเอฟพีกี่เปอร์เซ็นต์ โดยในหนังสือพิมพ์ทั่วโลกเวลาเขาลงข่าวเขาจะบอกว่าข่าวนี้มาจาก เอพี เอเอฟพี มาจากรอยเตอร์ เปอร์เซ็นต์ของเขาไม่เคยชนะเลย เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่าในอิทธิพลของสื่อทั่วโลกที่รับข่าวไปใช้ มันมีน้อยมาก แต่มันมีอิทธิพลในประเทศไทย เพราะอะไร
เพราะว่า อย่างเช่นเมื่อรอยเตอร์สัมภาษณ์ รอยเตอร์เอามาเขียนประเด็นนิดเดียวในข่าวตามแบบฉบับ แต่คำสัมภาษณ์ที่เหลือมาจากนั้นเขาเอาเทปมาให้กับสื่อไทย มาขยายความ แต่คำถามที่มาหลังจากนั้นจำไว้เลยว่าไม่ได้มาจากคำถามของสำนักข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวต่างประเทศจะถามแต่ประเด็นหลัก สมมติว่าคุณกำลังถูกถอนวีซ่า คำถามที่ต้องถามก็คือ เมื่อคุณถูกถอนวีซ่าแล้วคุณจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป คำถามที่สอง รู้ไหมว่าสาเหตุที่เขาถอนวีซ่าคุณ หรือ ถ้าคุณกลับมาประเทศไทย คุณคิดว่าคุณจะสู้คดีไหม แค่นั้น แต่จะไม่ถามว่า “อุ๊งอิ๊งจะไปลอนดอนจะไปเยี่ยมไหม” หรือ “ที่อุดรธานีมีชุมนุมเสื้อแดงจะโฟนอินไหม” สำนักข่าวต่างประเทศจะไม่ถามคำถามพวกนี้
• ถ้าทำอย่างนี้ถือว่านักข่าวทำเกินหน้าที่หรือเปล่า เป็นไปได้ไหมว่าเขารับงานมา ไม่ได้กล่าวหาแค่สงสัย
สำนักข่าวต่างประเทศนั้น เขามีกฎอยู่ เพราะผมเองก็เคยอยู่สำนักข่าวรอยเตอร์มาก่อน รอยเตอร์มีกฎอยู่ 36 ข้อ โดยเป็นข้อกำหนดที่เข้มงวดมาก อย่างเช่น ข้อมูลทุกอย่างที่เป็นของสำนักข่าวต่างประเทศถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักข่าวต่างประเทศ ไปถ่ายทีวีมา 1 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะใช้แค่ 3 นาที ที่เหลือจะเป็นสต็อกช็อต ไปสัมภาษณ์มาก 20 นาที ถึงแม้ว่าเราจะใช้แค่ 2 บรรทัด ที่เหลือเราจะให้ใครไม่ได้ต้องเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักข่าวต่างประเทศ แต่ถามว่าเหตุการณ์นั้น (สัมภาษณ์ทักษิณหลังถูกอังกฤษถอนวีซ่า) ถามว่าทำไมเทปที่เหลือถึงมาออกในทีวี ออกในเว็บไซต์ได้
ผมเคยแปลหนังสือมา 26 เล่ม ตอนอยู่กับสำนักข่าวยูพีไอ เมื่อมาอยู่รอยเตอร์เขามีกฎว่า งานเขียน งานสัมภาษณ์ งานพูด ทุกอย่างเป็นลิขสิทธิ์ของรอยเตอร์ ตอนอยู่รอยเตอร์เราเลยไม่กล้าเขียนหนังสือ ไม่กล้าแปลหนังสือ ไม่กล้าไปพูดที่ไหน นอกจากเขาเชิญผ่านรอยเตอร์มาให้ไปบรรยายพิเศษ ไม่เคยกล้าออกทีวีเลย อยู่รอยเตอร์ออกทีวีไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะ เขาบอกว่าความเห็นทุกอย่างที่คุณแสดงให้แสดงผ่านสำนักข่าวของเรา งานของเรา เป็นลิขสิทธิ์ของรอยเตอร์ทั้งหมด ที่เหลือไม่สามารถเอาไปให้ใครได้
สำนักข่าวต่างประเทศทั่วไปพูดสัมภาษณ์กันทางโทรศัพท์มือถือมันก็แค่โทรศัพท์คุยกัน เอาประเด็นหลักๆ มาแค่นั้น เอาโคตคำพูด 2-3 คำที่เขาพูดมาใช้ ขยายความ ส่วนที่เหลือค่อยใช้ข้อมูลข่าวใส่เพิ่มเติมเอา แต่อันนี้ที่ถามผมรู้มาว่า นักข่าวในเมืองไทยโทรศัพท์ไปถามคุณทักษิณว่าสบายดีไหม เขาก็ตอบกลับมาว่าให้ไปเซ็ตเทปไว้แล้วอีก 5 นาทีจะโทรกลับมา ปรากฎว่าอีก 5 นาทีก็โทรกลับมาเพื่อให้มีการอัดเทป ส่วนที่เหลืออาจมีการตกลงว่าบทสนทนาที่เหลือ คุณจะต้องเอาไปให้ใคร กระจายต่อ แต่สำนักข่าวต่างประเทศโดยทั่วไป เขาจะไม่รับคำสัมภาษณ์ที่จัดมาอย่างนี้
ถามว่าถ้าไม่มีการตกลงกัน ทักษิณจะให้สัมภาษณ์ไหม ผู้สื่อข่าวรู้ไหมว่าทักษิณเบอร์อะไร ผมรู้ไหม ทุกคนรู้ แต่เขารู้ว่าเขาจะรับสายใคร รับของใคร
• เหมือนกับว่าการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์-ล็อบบี้ เพื่อรักษาที่ทางของตัวเองในสื่อในประเทศไทย
แบบนั้น ... แต่ทีนี้มันจะมีสื่อที่ไปออกก็คือ พวกคอลัมน์ต่างๆ ถ้าไปดูชื่อก็รู้ได้เลยว่ารับงานมา นักข่าวต่างประเทศคนนั้นๆ อาจจะมีพื้นที่ของตัวเองในสื่อต่างประเทศ หรือ คอลัมนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคอลัมนิสต์ พวกนี้น่าจะรับงาน รับเงินมามากกว่า แต่ถามว่าในสำนักข่าวหลัก 3 แห่งที่ว่าถือว่ามีอิทธิพลน้อยมาก มีอิทธิพลก็แค่บางคนเท่านั้น และถ้ามีก็แค่ในประเทศไทยเท่านั้น
• แล้วการที่นักข่าวบางคนไปใช้น้ำเสียง ใช้คำถาม หรือท่าที ไม่เหมือนผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์แหล่งข่าว แต่เหมือนว่าคนใช้สัมภาษณ์เจ้านาย อย่างนี้เหมาะสมไหม
อันนี้เราก็ไปว่านักข่าวบางคนไม่ได้ เพราะเขาแสดงบทบาทนั้น อย่างผมค่อนข้างจะมีปัญหามากกับแหล่งข่าว โดยเฉพาะนักการเมือง เพราะเราใช้บทบาทของสื่อต่างประเทศ พี่เคยถูกวัฒนา (อัศวเหม) ฟ้อง เรียกค่าเสียหายพันล้าน เพราะ เวลาสื่อไทยไปถามว่า ก็ถามว่า "เนี่ยท่านเป็นยังไงบ้าง เขากลั่นแกล้งประเทศไทย ไม่ให้ท่านเข้าประเทศ" บางคนก็บอกว่า "ถือว่าอเมริกาดูถูกประเทศไทยนะ เพราะว่าท่านเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย แล้วท่านไม่ให้เข้าอเมริกา"
แต่เวลาเราถามเราจะถามว่า "ท่านพอจะทราบไหมว่า ทำไมเขาไม่ให้เขาอเมริกา" เขาก็ตอบเราว่า "ผมไม่ได้พิศวาสอเมริกานะ เกิดมาชาติหนึ่งผมก็ไปแค่ 2-3 ครั้ง" เราก็ตามต่อว่า "ผมไม่ได้ถามว่าคุณพิศวาสอเมริกาหรือไม่พิศวาส ผมถามคุณว่า รู้ไหมว่าสาเหตุอะไรที่เขาไม่ให้คุณเข้าอเมริกา" เขาก็ใส่เราทันทีว่า "รู้ไหมว่า คุณมีเรื่องกับผมนี่ไม่ดีนะ" แต่ว่าสื่อไทยจะถามวนไปเรื่อยๆ ไม่ตรงประเด็นสักที เขาก็เลยดูว่าเราเป็นคนก้าวร้าว ถามหาเรื่อง ถามชวนตี ถามชวนต่อย
• อย่างนักข่าวต่างประเทศ หรือ นิตยสารต่างๆ ที่ประจำอยู่ประเทศไทย สังเกตว่าทำไมบางคนมีอคติกับกลุ่มพันธมิตรฯ ค่อนข้างมาก
ข่าวเชิงลบต่อพันธมิตรฯ ถูกนำไปปั่นมากในเอฟซีซีที ในบรรดาผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเขาจะเห็นแต่ข่าวลบของพันธมิตรฯ เท่านั้น เขาจะได้ยินมาแต่ข่าวลบของพันธมิตรฯ เท่านั้น บ.ประชาสัมพันธ์-ล็อบบี้ยิสต์ ทำงานได้ผลตรงนี้ไง เพราะเขาให้แต่ข้อมูลเชิงลบของประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลที่คอร์รัปชัน แต่เขาจะพูดแต่ข่าวเชิงบวกของระบอบที่ประชาชนต่อต้าน มันถึงมีคนถามว่า เมื่อไหร่พันธมิตรฯ จะออกจากทำเนียบรัฐบาล หรือ มีนักข่าวต่างประเทศบอกว่าการยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเรื่องน่าขัน เรื่องน่าเกลียด
• ที่เขาพูดอย่างนี้ เกี่ยวกับเรื่องอคติของนักข่าวต่างประเทศที่มีต่อสถาบันด้วยหรือเปล่า
เรื่องสถาบัน โดยทั่วไป คนพวกนี้ (ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ) จะมองแบบไม่ศรัทธาอยู่แล้ว คนในเอฟซีซีทีเคยพูดกับพี่ครั้งหนึ่งว่า พันธมิตรฯ ทำให้ประเทศล้าหลังไปเป็นทศวรรษ ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยล้าหลัง เพราะพวกประท้วงนี้อยากให้สถาบันเป็นหลักยึดของระบอบประชาธิปไตยอยู่
เราก็ต้องชี้แจง เมื่อเราชี้แจงให้เขาฟังว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นมายังไง มีระบบการซื้อเสียง ระบบอิทธิพลท้องถิ่นเป็นยังไง เขาก็ไม่ฟังในส่วนนั้น เขาก็บอกว่า เมื่อประชาชนเลือกมาแล้วก็ถือว่าประชาชนได้ใช้วิจารณญาณแล้ว แต่เขาไม่คิดว่าวิจารณญาณของคนไทยกับคนฝรั่งมันไม่เหมือนกัน การศึกษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี คือ ฝรั่งมันไม่มีคำว่า "วอเตอร์มายด์" ไม่มีคำว่า "น้ำใจ" หรอก
บริษัทประชาสัมพันธ์พวกนี้ จะเอาข้อมูลของระบอบทักษิณที่เป็นเชิงบวกทั้งหมดป้อนเข้าไป นี่ไงคนนี้ลูกคนนี้ได้ไปเรียนต่างประเทศเพราะระบอบของทักษิณ คนนี้ได้มาเพราะเงินที่ทักษิณเอามาจากเงินลอตเตอรี ซึ่งเป็นเงินบาป โดยแทนที่จะเอาไปใช้ในทางไม่ดี ก็เอามาใช้ในการศึกษา แต่เขาไม่พูด ไม่อธิบายว่าเงิน 2-3 หมื่นล้านจากหวยมันหายไปไหน เขาไม่พูด เขาได้แต่ข้อมูลที่ดีของระบอบทักษิณมา แล้วเอาข้อมูลที่เลวของพันธมิตรไปให้
คนของบริษัทล็อบบี้พวกนี้เนื่องจากภาษาเขาดีมาก แล้วก็ทำกันเป็นแถวเป็นแนว เป็นกระบวนการ เวลาเขาไปอยู่ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเขาจะไปอยู่ประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย ส่วนคนต่างประเทศเข้าใจว่าก็มีที่เป็นที่ปรึกษาอยู่ตามต่างประเทศเช่นฮ่องกง
เมื่อเราเข้าไปในเอฟซีซีทีแล้วไปพูดอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นว่าเราเป็นแกะดำไปเลย ในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศขณะนี้จากที่คนมองเราว่าเป็นนักข่าวที่ทำข่าวตรงไปตรงมา น่าเคารพนับถือ เรากลายเป็นคนที่มีอคติ ถูกสนธิครอบงำ แต่เราก็บอกว่าไม่ใช่นะ เราเป็นคนครอบงำสนธิต่างหาก (หัวเราะ) เพราะพี่เป็นคนบอกให้สนธิเริ่มหันมาเล่นกับสื่อไทย เพราะ สื่อพวกนี้มีธงตั้งมาล่วงหน้าแล้ว แล้วเราก็เป็นคนบอกสนธิว่าควรจะไปตามสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแล้วไปพูดกับพวกนั้น
• อย่างนี้ตรงกับที่ หมอพรหมินทร์ (เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผู้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ) พูดเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ไม่มีใครซื้อสื่อได้หรอก ถ้าข้อมูลที่ให้ไปสื่อไม่คิดอยู่แล้ว
ตรงกัน ... แต่อย่างที่บอกคือ ในสำนักข่าวต่างประเทศหลัก 3 สื่อ ข้อมูลเหล่านี้มีอิทธิพลน้อยมาก แต่จะมีในบางคน ในสื่อที่เป็นแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อันนั้นเขาซื้อได้ หลายๆ ครั้งที่ไทม์ลงบทความ เป็นบทความซื้อ บทความจ้างเขียน หลายๆ ครั้งที่ ดิ อีโคโนมิสต์ ลงก็เป็นบทความจ้างเขียน
• จำได้ว่าตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ช่วงที่พันธมิตรฯ ประท้วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ดิ อีโคโนมิสต์ ก็ลงเรื่องปกว่าการประท้วงในไทยเหมือนเป็นการทำลายประชาธิปไตย ปกเขาลงเลยว่า A Blow to Thai Democracy แล้วล่าสุดก็ปกเรื่อง The king and them นี่อีก มันมีการแทรกแซงกันได้ขนาดนั้นเลยหรือ
เขาทำหนังสือเป็น สอง Edition คือ ส่วนหนึ่งใช้เพื่อผลเชิงจิตวิทยาในเมืองไทยเท่านั้น
• อย่างนั้นที่ใครต่อใครออกมาบอกว่า สื่อต่างชาติซื้อไม่ได้ ก็ไม่จริงสิ
ก็ลองไปคิดดูว่า เมื่อคุณสัมภาษณ์มาแล้วคุณไปใช้สองประโยค ทำไมที่เหลือคุณเอาไปให้คนอื่น อันนั้นต้องลองไปคิดดูเอาเองว่าเพราะอะไร แล้วทำไมที่ทั้งๆ ที่พวกเสื้อแดงได้รับการรายงานข่าวจากสื่อไทยเกินไปอยู่แล้ว แต่ทำไมนักข่าวต่างชาติบางคนถึงมาหาเราแล้วบอกว่า ยูช่วยเขียนเรื่องให้ไอหน่อยว่า ทำไมสื่อไทยถึงไม่เสนอข่าวคนเสื้อแดงเลย
• กล่าวได้ไหมว่าสังคมของสื่อในระดับสากลมันก็เหมือนสังคมของสื่อไทยนั่นแหละ
เหมือนกัน สื่อทั่วโลกก็เป็น มันก็มีลำเอียง เข้าข้าง จ่ายเงิน แต่ที่บอกว่าสื่อที่เป็นสำนักข่าวหลัก 3 แห่ง นั้นซื้อไม่ได้เพราะว่าพวกนี้ไม่มีหน้าหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ถ้า 3 สื่อนี้เขียนข่าวอะไรผิดเพี้ยนไป เครดิตมันเสีย มันจะขายต่อไปไม่ได้ แล้ว 3 สื่อนี้ก็ต้องรายงานข่าวตามสถานการณ์ ไม่รายงานลึก แต่ข้อมูลมันก็มันเข้ามา เข้ามา เข้ามา มันเข้ามาอยู่ในสมองของพวกนั้น บางครั้งเวลามันเขียนเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระราชกรณียกิจวันเฉลิมก็อาจจะมีบรรทัดหนึ่ง ประโยคหนึ่งที่ใส่ลงไป หรือ เวลาเขาเขียนถึงพันธมิตรฯ สมมติว่า พันธมิตรฯ เข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันมันก็จะมี 2-3 บรรทัดที่บอกว่าการทำอย่างนี้ทำให้นักลงทุนหวั่นไหว ทำให้นักลงทุนเสียหาย พวกนี้ก็ไปสัมภาษณ์นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มีอคติกับพันธมิตรฯ
• ช่วงหลังสังเกตได้ว่าสื่อต่างชาติชอบสัมภาษณ์นักวิชาการฝ่ายระบอบทักษิณ อย่างเช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ เกิดจากอะไร?
สมมติว่าพี่สัมภาษณ์พี่จะชอบขอทัศนะอาจารย์ที่นิด้า อ.สมบัติ (ธำรงธัญวงศ์) พอวิเคราะห์เสร็จอาจารย์ก็บอกว่าน่าจะมีอีกคนนะ เราก็มักจะโทรไปหา อ.สมชาย (ภคภาสวิวัฒน์) บางคนก็ถามว่าทำไมเราไม่สัมภาษณ์อาจารย์บางคน เราก็บอกว่าเราไม่ศรัทธาอาจารย์คนนั้นๆ ... แต่ในเนื้อข่าวเราก็ไม่เคยมีเนื้อข่าวที่มีอคติ
• แสดงว่านักข่าวต่างประเทศก็เหมือนกับนักข่าวไทยที่บางทีอยากได้ความเห็นของนักวิชาการในมุมของตัวเอง ก็จะเลือกคนสัมภาษณ์
ก็เป็นแบบนั้น คือ เขาอยากนำเสนอในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ทุกคน believe in his own propaganda
• ความเชื่อที่ว่านักข่าวต่างประเทศนั้นเป็นกลางก็ไม่จริง
ไม่จริง เพราะ ถ้าเป็นข่าวที่เกี่ยวกับตะวันออกกลาง ก็ลองดูการรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็น เกี่ยวกับจีน เกี่ยวกับพม่า อะไรก็แล้วแต่ ระเบิดขึ้นแหมะหนึ่ง หรือ คน 3 คนในพม่าประท้วงนักข่าวต่างประเทศก็ตามไม่หยุด หลังคาบ้านของ ซูจี (นางอองซาน ซูจี) ถูกลมพัดหายไป กับ คนพม่าตายในพายุนาร์กีส 2 แสนคน ในบางสื่อตะวันตกเรื่องหลังคาบ้านซูจีเป็นข่าวลีดนะ
อันนี้ที่เรารู้เพราะอะไร เพราะ เราป็นคนเช็คข่าวเอง เราตามข่าวซูจีมาตลอด 30 ปี หลังคาบ้านซูจีพัง มันลีดก่อนคนตายเป็นแสนได้ยังไง ซูจี ไม่สบายขึ้นมานิดหนึ่งมันก็ลีดเรื่องนี้นะ ทั้งๆ ที่คนในพม่าเป็นเอดส์เป็นแสนเป็นล้านคน สื่อฝรั่งมันก็มีอคติเรื่องนี้
หรือเมื่อเขียนเรื่องเขมรแดง สื่อฝรั่งก็มีอคติ ทุกครั้งที่เขาเขียน เขาไม่เคยเขียนว่าคนเขมรที่ตายเพราะทหารเวียดนาม 2-3 แสนคนทะลักเข้ามา มาฆ่า แต่เขียนว่าเขมรแดงฆ่าชาวเขมร แล้วมาสุดท้ายสื่อฝรั่งก็รายงานว่า สุดท้ายคนเขมรตายเพราะอดอยาก แล้วในช่วงสุดท้ายพวกนี้เมื่อเขียนถึงเขมรแดงก็จะเขียนถึงเรื่อง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) มันจะเป็นอย่างนี้ตลอด ... ถามว่าอเมริกาช่วยเขมรแดงไหม อเมริกาเป็นคนส่งอาวุธมาให้เขมรแดง ช่วงสงคราม ผู้นำ ลูกหลานของผู้นำเขมรแดงก็บ้างอยู่ในอเมริกา บ้างอยู่ในเมืองไทยนี่แหละ
สรุปง่ายๆ ว่า เมื่อก่อนสำนักข่าวต่างประเทศได้ข้อมูลเชิงลบของประเทศไทยมาจากกลุ่มเอ็นจีโอ และ กลุ่มเจ้าหน้าที่ยูเอ็น เพราะ เจ้าหน้าที่ยูเอ็น หรือกลุ่มเอ็นจีโอ เขาจะไปทำงานประสานกับชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามชายแดนทั่วประเทศ ข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับไทย เรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ จะมาจากคนพวกนั้น แต่ในช่วง 7-8 ปีหลัง ข้อมูลเชิงลบของประเทศไทยมันมาจาก บริษัทล็อบบี้ยิสต์และบริษัทประชาสัมพันธ์เหล่านี้
• ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ไม่มีใครทำอะไร คุณทักษิณก็จะใช้บริษัทล็อบบี้ เชื่อมกับสื่อต่างประเทศให้เข้ามากดดันรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามได้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างการชุมนุมครั้งล่าสุดกลุ่ม นปช. ก็ทำป้ายภาษาฝรั่งด่ารัฐบาล ด่าพันธมิตร ด่าประเทศไทยขึ้นมาชูเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ดูแล้วคนชุมนุมไม่น่าจะทำมาเอง
อันนั้นแหละคือเป้าหมายของบริษัทประชาสัมพันธ์ แต่การที่จะลงทุนไปจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์มาสู้กันนั้นไม่ได้ผล เพราะอะไร มันเหมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่า "จะเอาเยี่ยวมาล้างขี้ไม่ได้" บริษัทประชาสัมพันธ์ที่เขารับมา เขาจ้างมากับเงินจำนวนมาก รัฐบาลไม่สามารถจะเอาเงินภาษีไปใช้ได้ มันเหมือนกับสูตรที่ว่า "ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน" เพราะคุณจะไปประชาสัมพันธ์ประเทศว่าควรจะพูดในแง่ดี ควรจะพูดในแง่การพัฒนาประเทศ ในแง่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพของประชาชน สิ่งเหล่านี้มันก็เห็นกันอยู่แล้ว
ชาวโลก รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเขาก็เห็นว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย อย่าลืมว่า ซีไอเอ เคจีบี สายลับต่างๆ อยู่ในสถานทูตทั้งนั้น พวกนี้รู้ข้อมูลในประเทศไทยทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นเลย นอกจากว่า คุณจะทำยังไงกับสื่อในประเทศให้ได้ แค่นั้นเอง
• หมายความว่าต้องเปลี่ยนสื่อไทยหรือเปล่า
คุณไม่ต้องไปเปลี่ยนสื่อไทย แต่คุณแก้ไขหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นหน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริง ทำกรมประชาสัมพันธ์ให้เป็นกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่กรมประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือของทุนสามานย์ คุณทำกระทรวงต่างประเทศที่มีกรมสารนิเทศให้เป็นกรมสารนิเทศ ไม่ใช่กรมสารนิเทศของกระทรวงต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่อยู่ในอาณัติของระบอบทักษิณ ในทุกๆ กระทรวง ทบวง กรม เขามีกรมสารนิเทศของเขาอยู่ ใช้พวกนี้ให้เป็นประโยชน์
กรมสารนิเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ทำให้เป็นกรมสารนิเทศของ สตช. และของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นกรมหรือเป็นโฆษกของทักษิณ ขณะนี้โฆษกตำรวจก็ทำหน้าที่เหมือนกับโฆษกของทักษิณอยู่ กระทรวงต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการแก้ไขภาพพจน์ของประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ สร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ กลับกลายเป็นกระบอกเสียงของระบอบทักษิณ กรมประชาสัมพันธ์ที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานของรัฐและประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีหน้าที่ไปอ่านแถลงการณ์ของกบฎหรือนักโทษหนีคุก แต่วันนี้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของคุณทักษิณ คุณสังเกตว่าเมื่อมีกลุ่มเสื้อแดงมาขัดขวางรัฐบาลแถลงนโยบาย กรมประชาสัมพันธ์ใช้รถถ่ายทอดสด 2 คันเลย
เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ตำรวจฆ่าประชาชน แต่ข่าวออกมาว่าตำรวจแถลงว่าประชาชนฆ่าตำรวจ อย่างนี้ไม่ได้ กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ เมื่อมีข่าวออกมาว่าคุณทักษิณไปจ้าง บ.ล็อบบี้ยิสต์เพื่อทำลายชื่อเสียงของประเทศ กระทรวงต่างประเทศก็ต้องออกมาแถลงว่าบริษัทที่ว่าอยู่ในประเทศใดบ้าง ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ ... ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ ในภูมิภาคต่างๆ ยกตัวอย่าง คุณชวน หลีกภัย ที่โดนปาไข่ ถามว่าเจ้าหน้าที่ไปอยู่ไหนหมด ส่วนสื่อวันรุ่งขึ้นก็กลับออกข่าวมาว่า "เสื้อแดงถล่มชวน" แทนที่จะพาดหัวว่า "ม็อบกักขฬะ" สื่อทำให้พฤติกรรมอย่างนั้นเป็นชัยชนะของเสื้อแดง แถมยังว่าเป็นการเลียนแบบเสื้อเหลืองอีก
เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องไปแก้ในต่างประเทศ คุณกวาดบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อน เพราะ มันมีกลไกของมันอยู่แล้ว ให้หน่วยงานของภาครัฐทำงานให้ถูกต้อง ให้ทำงานตามหน้าที่ที่ควรจะทำ กระทรวงต่างประเทศต้องเปลี่ยน กรมประชาสัมพันธ์ต้องปรับปรุงระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปรับปรุงระบบ 3 หน่วยงานนี้พอแล้ว
• พี่กำลังบอกว่า รัฐบาลไม่ควรไปจ้าง บ.ประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศเพื่อสู้กับทักษิณ?
การไปทำการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ เสียเงินเปล่า แล้วจะได้กลับมาในแง่ลบ คุณทักษิณทำประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศมาก ภาพของคุณทักษิณในต่างประเทศเกิดขึ้นในแง่ลบทั้งนั้น ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าแบ็คไฟร์ (backfire; ดาบนั้นคืนสนอง) ถ้าการประชาสัมพันธ์ของคุณทักษิณได้ผล อังกฤษจะไม่ถอนวีซ่าของคุณทักษิณ อังกฤษจะไม่อายัดเงินของคุณทักษิณ แสดงว่า การประชาสัมพันธ์ของคุณทักษิณ ล็อบบี้ยิสต์นั่นแหละทำให้เกิดผลเชิงลบกับคุณทักษิณเอง มันเป็นบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาเล่นงานตัวเอง
เพราะฉะนั้น รัฐบาลไทยท่านนายกฯ คุณสุเทพ คุณสาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องออกไปโรดโชว์ไปหาบริษัทเหล่านี้ เพียงแค่เดินไปที่ตึกมณียา ไปแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเขาต้องเชิญอยู่แล้วแค่นั้นเอง เพราะไปชี้แจงกับอังกฤษ อเมริกา ประเทศเหล่านี้เขามีทูตอยู่เมืองไทยอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาเขาหรอก เขารู้ คนที่ทำประชาสัมพันธ์เขารู้ เขาอยู่ที่นี่ การที่ทูตสหรัฐฯ ทูตอังกฤษมาหาคุณอภิสิทธิ์มันบอกชัดเจนแล้วว่า คุณไม่ต้องไปล็อบบี้กับคนอื่นหรอก ทูตพวกนี้เขารู้ไส้ รู้สันดานของทักษิณหมดแล้ว เพราะฉะนั้นที่ยืนของคุณทักษิณในโลกนี้มีน้อยมาก ... การต่อสู้ของคุณทักษิณ ณ ขณะนี้ไม่เรียกว่าการต่อสู้ ต้องเรียกว่า “ดิ้นรน”
• ถ้าเป็นอย่างที่พี่สุทินว่า การที่คุณจักรภพ คุณนพดล ประกาศว่าจะไปยื่นหนังสือให้ทูตอาเซียนต่างๆ ให้แบนการประชุมอาเซียน ซัมมิตก็ไม่น่าจะมีผล
หนังสือที่เขาทำขึ้นมามันเหมือนกับเป็นกระดาษชำระ รัฐบาลที่แล้วสองรัฐบาล (สมัคร และ สมชาย) ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นมา 2 ครั้ง กลายเป็นกระดาษชำระทั้ง 2 ฉบับ ถ้าพวกนี้จะเขียนขึ้นมาอีกก็กลายเป็นกระดาษชำระอีก 9 ฉบับ เพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐนั้น พวกนี้เคยเป็นแค่รัฐมนตรีระดับชั้นปลายแถว ทูตกษิต (นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) มีความเชี่ยวชาญเรื่องต่างประเทศ เป็นทูตประเทศใหญ่ๆ มาหลายประเทศ เลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คิดว่าอาเซียนจะมาฟังพวกจักรภพกับนพดลหรือ เขาอาจจะรับหนังสือ เพราะโดยขั้นตอนต้องรับ แต่ก็ไม่ดำเนินการต่อ
แล้วผมก็มั่นใจว่ากระบวนการดื้อรั้น กระบวนการที่ออกมาต่อต้านไม่ให้มีการประชุมอาเซียนซัมมิตนั้นจะไม่ได้ผล เพราะ การประชาสัมพันธ์ของคุณทักษิณได้ผลแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ผลทั่วโลกได้ย้อนกลับไปทำร้ายคุณทักษิณเองหมดแล้ว จนคุณทักษิณแทบจะไม่มีที่อยู่บนโลกนี้แล้ว
จำไว้เลยว่าสื่อนั้นอันตรายที่สุด ถ้าคุณใช้ไปสักพักหนึ่ง มันจะลอบกัดคุณเอง แล้วคุณจะเสียหายเพราะสื่อ คนที่เล่นกับสื่อ ตายกับสื่อมาเยอะแล้ว ปิโนเชต์เล่นกับสื่อตายกับสื่อไหม อาควิโนเล่นกับสื่อตายกับสื่อตายกับสื่อไหม ทักษิณเล่นกับสื่อแล้วจะตายกับสื่อไหม?