“อภิสิทธิ์ 1” จัดให้สานต่อ “ประชานิยม” เร่งอัดฉีดงบกลางปีกว่าแสนล้านบาท โดยในระยะแรกจะออกเป็นมติ ครม.เป็นนโยบายกึ่งการคลัง กระตุ้นการใช้จ่ายสู่รากหญ้าผ่านกองทุนหมู่บ้านในชื่อใหม่ คือ กองทุนเศรษฐกิจพอเพียงกระจาย 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศเพิ่มเม็ดเงินเป็นสองเท่า พยุงว่างงานปีหน้า พร้อมให้เรียนฟรี เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา เพิ่มเงินอสม.
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการจัดสรรงบกลางปีแสนล้านบาท ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนกว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ดังนั้น ทางรัฐบาลจะใช้นโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Policy) มากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งนำเงินคืนสู่มือประชาชนโดยเร็วที่สุดแทน โดยจะออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำเงินมาใช้ในโครงการเร่งด่วน ด้วยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน 2.1 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเป็น 2 เท่ามากกว่าโครงการเอสเอ็มแอลที่ผ่านมา ลงไปใน 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยใช้หลักเกณฑ์ตามเหมือนเดิม
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณกึ่งการคลังที่จะนำมาใช้ แม้ว่าจะสามารถลดข้อจำกัดด้านการจัดสรรงบประมาณได้ แต่ทางรัฐบาลจะทำเท่าที่จำเป็นที่สุด แม้ว่านโยบายนี้รัฐบาลเก่าสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำไว้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในสถานการณ์ช่วงนั้น เพราะรัฐบาลช่วงนั้นต้องการเพิ่มกำลังซื้อเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเท่านั้น
“แม้ว่าการใช้นโยบายนี้อาจจะสุ่มเสี่ยง แต่สิ่งที่จำเป็นในยามนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้รอช้าไม่ได้ เพราะปัญหายิ่งรุนแรงมากขึ้นทุกวัน แต่ทางรัฐบาลจะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น” รองนายกฯ กล่าว
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทางรัฐบาลจะทบทวนงบกลางแสนล้านบาท โดยจะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้แก้ไขปัญหาการว่างงานงบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปฝึกอาชีพกับแรงงานเก่าและใหม่จำนวน 5 แสนคน เป็นเวลา 1 เดือน เช่น การทำงานกับวิสาหกิจชุมชน การประกอบอาชีพส่วนตัว หรือ โครงการคืนครูให้โรงเรียน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีแรงงานตกงานประมาณ 8 แสนคนถึง 1.2 ล้านคน
“แหล่งเงินกู้สำหรับผู้ฝึกอาชีพจะมาจากหลายส่วน เช่น โครงการ ธ.ก.ส.สานฝัน ที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับแรงงาน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ”
รองนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ งบกลางปีแสนล้านบาท จะนำมาใช้กับ นโยบาย 99 วันทำได้จริงของรัฐบาล โดยจะมีการตั้งงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มาใช้กับโครงการเรียนฟรี 15 ปี, ซื้อตำราเรียนฟรี, จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน และ เครื่องแบบนักเรียน 2 ชุดฟรี พร้อมกับจ่ายค่าซ่อมแซมอาคารสถานที่แก่โรงเรียนให้กับผู้ปกครองอีกด้วย ซึ่งเงินส่วนนี้ คือ ค่าแป๊ะเจี๊ยะของผู้ปกครองที่จะต้องจ่าย แต่รัฐบาลจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ และจะมีการเพิ่มเงินให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่มาขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ จะได้รับเดือนละ 500 บาท