xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเสื้อแดงหยัน “มาร์ค 1” ไร้เสถียรภาพ-โทษ รธน.50 ต้นตอปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
นักวิชาการสาย “เสื้อแดง” ถกปัญหาประเทศ หลังรัฐบาลใหม่ ท่องนะโม รธน.50 ทำประเทศตัน ย้ำเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง เป็นทางออก สับ “อภิชน” ทวนเข็มนาฬิกา ทำการเมืองอ่อนแอ แนะแก้ไข รธน.ยกเลิกมาตรา ที่เป็นอำมาตยธิปไตย ปกครองโดยอภิชน ฟังธง “อภิสิทธิ์” นั่งนายกฯปัญหาตามมาเพียบ รบ.ไม่มีเสถียรภาพ แขวะกรรมสนอง ปชป.-พันธมิตรฯ ตีกันแน่

วันนี้ (14 ธ.ค.) นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่ง ในการเสวนาเรื่อง “การเมืองสยามประเทศ(ไทย)-หลังรัฐบาลใหม่ และหลัง “รัฐธรรมนูญ 2550” ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตนฟันธงได้เลยว่า เราจะได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพมากนัก โดยหากมีการโหวตเป็นไปตามผลของกฎหมายมีผลได้นายกรัฐมนตรี แต่หากไม่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มฝ่ายผลประโยชน์ ก็จะมีปัญหาทางกฎหมายตามมา เช่น การยื่นตีความทางกฎหมาย ของสมาชิกภาพของ ส.ส.ระบบสัดส่วน ว่า เข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ด้วยหรือไม่

อาจารย์ผู้นี้ ยังเห็นว่า หลังรัฐบาลใหม่และรัฐธรรมนูญปี 2550 จะทำให้เกิดความเผชิญหน้าของความแตกแยกเพิ่มขึ้น ขณะที่คะแนนที่โหวตนายกรัฐมนตรีจะไม่ขาดมากนัก จะทำให้เกิดปัญหาในคะแนนที่จะสนับสนุนทั้งนโยบายและกฎหมาย เขายังยืนยันว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีทางตัน และจะมีความพยายามที่ตีความกฎหมาย เพื่อให้เกิดภาวะสุญญากาศและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกติกา

“รัฐธรรมนูญจะถูกนำมาเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งฝ่ายที่ต้องการคงรัฐธรรมนูญไว้ กลุ่มที่เกลียดนักการเมืองต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่ และกลุ่มที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ”

นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมาก ขณะเดียวกัน เกิดความเหลื่อมล้ำของคนชั้นชนบท และคนระดับกลางถึงรวยมากขึ้น คนจนถึง 20% มีจีเอ็นพี ไม่ถึง 5% จากที่คนรวยมีจีเอ็นพีถึง 20% ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนของประเทศใกล้เคียงกับทวีปละตินอเมริกาไปแล้ว ขณะที่คนในเมืองกลุ่มน้อยที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ และคนระดับล่าง ก็มองว่า เขาถูกดูถูกว่าไม่มีการเรียนรู้ทางการเมือง จนนำมาซึ่งความแตกแยกโดยเฉพาะความเห็นต่างทางประชาธิปไตย ขณะที่ชนชั้นอภิชนหรือชนชั้นการเมืองกลับคิดถอยหลัง ต้องการที่จะเปลี่ยนแนวคิด 1 คน 1 เสียงมาเป็นการแต่งตั้งที่มีสัดส่วนมากขึ้นและพยายามที่จะนำแนวคิดอื่นๆ มาใช้ ถือว่าเป็นการคิดย้อนหลังเพื่อต้องการให้มีการเข้ามาแทรกแซงการเมืองให้ได้ง่ายขึ้น

“คนส่วนใหญ่ต้องการระบบการปกครองตามหลักการประชาธิปไตย 1 คน 1 เสียง แต่ชนชั้นอภิชนกลับทำแบบทวนเข็มนาฬิกา ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้เกิดช่องว่างและเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้”

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะทำให้กลับไปสู่การเมืองเก่า หรือวังน้ำวน ของคณาธิปไตยอันเป็นการปกครองของอภิชน โดยอภิชนของอภิชน และเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ จะได้เป็นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสูตรผสมใหม่ จากกลุ่มนายเนวิน แต่จะบริหารบ้านเมืองอย่างไม่ราบรื่น และบริหารได้ในระยะเวลาช่วงสั้นๆ ยังเชื่อว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการพักรบ และเกี้ยเซี๊ย ของเงินเก่าและเงินใหม่ ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวกจะหมดอนาคตทางการเมืองตามโผของพลังสีเหลืองและพลังสีเขียว ผนวกกับตุลาการธิปไตย ตามทฤษฎีอัลาคาโปน จะติดคุกหรืออยู่ต่างประเทศไประยะเวลาหนึ่ง แต่ก็อาจสามารถกลับมาได้ด้วยทฤษฎีประชานิยมและการอภัยโทษ ตามทฤษฎี เอวิตา เปรอง จากความเห็นใจของรากหญ้า เขาเชื่อว่าการนองเลือด สงครามการเมือง การจลาจล หรือกลียุคจะเกิดขึ้น และยุคคสมัยใหม่จะรุ่งเรืองกว่า

อดีตอธิการ มธ.กล่าวอีกว่า ทางออกของสังคมไทยจะต้องมีการยอมรับความแตกต่างที่ไม่แตกแยก ต้องมีจิตใจกว้างขวางไม่คับแคบ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตราที่เป็นอำมาตยธิปไตย ที่เป็นการปกครองของอภิชน ไม่เอา ส.ว.ไม่เอา ส.ส.ปาร์ตี้ลิตส์ หรือการสรรหา ไม่เอากฎหมายยุบพรรค แต่ยุบนักการเมืองได้ ไม่เอา 70/30 แม้แต่ถอยหลังไปที่ 50/50 แต่ต้องอยู่ในหลักสากล และให้อำนาจตุลาการกลับไปสู่ความยุติธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองและไม่เอาส่วนเกิน คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และปรับปรุง เปลี่ยนแลงให้สถาบันกษัตริย์ของสยามประเทศ เป็นสถาบันสูงสุด ที่ทรงไว้ ซึ่งพระคุณ อย่างเช่นในอารยประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป) และไม่ถูกนำอ้าง หรือใช้ และนำไปอิงในการต่อสู้ทำลายกันทางการเมือง

นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากได้รัฐบาลใหม่ตามที่คาดคะเน การเมืองไทยก็จะได้ระบบการเมืองเก่า และได้ระบบการเมืองก่อนรัฐบาลทักษิณกลับมาเหมือนทศวรรษที่ 80-90 ขณะที่การผสมผสานของรัฐบาลก็จะเป็นแบบเก่า มีแต่การแก่งแย่งและฝ่ายบริหารก็จะอ่อน ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็จะทำให้สถาบันอำนาจเด่าแข็งแกร่งขึ้น ทั้งกองทัพ ระบบราชการ เครือข่ายตุลาการ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องเก่าๆ

อาจารย์ผู้นี้ กล่าวอ้างด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประโยชน์จากการออกมาเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่า พันธมิตรฯต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเมืองใหม่ โดยปฏิเสธระบบผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการการคานอำนาจให้มีการแต่งตั้งเพิ่มขึ้น เน้นการแต่งตั้งในสภาล่างมากที่สุด ซึ่งเชื่อว่า หาก 20-30 ปีที่ผ่านมา คงทำได้ แต่ในปัจจุบันคงจะทำได้ยาก เพราะจากความตื่นตัวของภาคชนบท

ขณะที่การเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีความได้เปรียบจากบุคลากร ทั้งด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ แต่เมื่อคู่ต่อสู้ไม่มี กองทัพยังพยายามที่จะอุ้มเข้าทางประตูหลัง ขณะที่อีกฝ่ายก็กวาดทิ้ง ระบบตุลาการ และการสร้างเงื่อนไขกรรโชกของพันธมิตรฯ ที่ทุกฝ่ายก็อยู่ในภาวะจำยอม ดังนั้น ตนเชื่อว่า คนที่ตีกันเองก็อาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯ รวมไปถึงการปั่นป่วนจากกลุ่ม นายเนวิน ชิดชอบ และเชื่อว่า กรรมก็จะตามสนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น