xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:อิสระในการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ (ตอน 3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใน 2 ตอนที่แล้วผมจุดพลุให้ผู้อ่านได้ขบคิดเกี่ยวกับการให้แบงก์ชาติเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายแค่ไหน อย่างไร เป็นการจุดประกายความคิดในการหาทางที่ดีมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของแบงก์ชาติ ที่ในปัจจุบันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันพอสมควรว่า แบงก์ชาติควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยและการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ส่วนตัวผมเห็นด้วยให้ปรับเปลี่ยนเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติใน 3 ประเด็น คือ การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา, การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เพราะเห็นว่ามีผลสำคัญยิ่งต่อประเทศ

หากตัดสินใจผิดพลาดสามารถทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศได้ ดังนั้น จะเป็นอิสระทั้งหมดไม่ได้ จึงต้อมีการคานอำนาจกันกับรัฐบาล

ในขณะเดียวกันบทบาทของสื่อมวลชนก็สำคัญ หากเห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจไปในทางไม่ถูกต้องก็ต้องช่วยกันประณาม หรือหากเห็นว่ามีการแทรกแซงไม่ถูกต้องก็ต้องช่วยกันป้องกันเป็นเกราะคุ้มกันให้แบงก์ชาติด้วย

และโดยทั่วไปแล้วถ้าแบงก์ชาติไม่อยากให้การเมืองเข้ามาแทรก ตัวเองก็ต้องไม่ยุ่งเรื่องการเมืองด้วย นอกจากนั้น แบงก์ชาติมีทรัพยากรทางการเงินมากกว่าองค์กรสาธารณะอื่นๆ มากมายมหาศาล หากใช้ไม่ถูกต้องจะเป็นการไม่ยุติธรรมและอาจมีโทษต่อระบบเศรษฐกิจได้ เช่นกัน

ข้อเสนอแนะ อีกประการหนึ่งก็คือ แบงก์ชาติ ควรเปลี่ยนการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อจากการตั้งเป้าหมายที่เงินเฟ้อพื้นฐาน Core inflation มาเป็น Headline inflation หรือ ดัชนีผู้บริโภค (CPI) เพราะความเป็นอิสระที่แบงก์ชาติได้รับในเรื่องการกำหนดนโยบายการเงิน ควรมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่จะต้องพยายามรักษาเสถียรภาพอัตราเงินเฟ้อที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด นั้นคือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งภาคธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดและใช้ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากตารางว่าประเทศส่วนใหญ่ก็ทำเช่นนั้น และอีกประการหนึ่งกรอบเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติตั้งไว้กว้างเกินไป(มากที่สุดในบรรดาประเทศตามตาราง) ควรที่จะลดลงให้แคบกว่านี้

สรุป

การตัดสินใจและการกระทำของแบงก์ชาติ มีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสาธารณะแบงก์ชาติจะตัดสินใจเรื่องสำคัญมากๆแต่เพียงลำพังไม่ได้ รัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นต้องมีสิทธิที่จะตรวจสอบถ่วงดุล คานอำนาจกับแบงก์ชาติได้ แบงก์ชาติที่ทำหน้าที่ได้ดี จะมีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับความไว้วางใจจากสาธารณะ และความอิสระก็จะตามมาพร้อมกัน โดยไม่มีใครกล้าแทรกแซงหรือขัดแย้ง โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร แต่หากเมื่อใดยุคใดแบงก์ชาติบริหารจัดการตัดสินใจผิดพลาด ความอิสระของแบงก์ชาติก็จะถูกลิดรอนไปโดยปริยายด้วยแรงกดดันจากสังคม โดยทั่วไปแล้วผมคิดว่าแบงก์ชาติทำหน้าที่ได้ดีขึ้นกว่า 10 ปีที่แล้ว และภาพพจน์ก็ดีขึ้น ถ้าสามารถทำหน้าที่ได้ดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่น่าที่จะถูกดึงความเป็นอิสระออกไป

หมายเหตุ: ความเห็นในการนำเสนอไม่จำเป็นต้องเหมือนกับความเห็นขององค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น