xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : เมื่อไม่เลิก “ทุจริต”...ก็ “ยุบทิ้ง” เสียให้สิ้นซาก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลายเป็นอดีตนายกฯ ทันที หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค พปช.และตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห.ของพรรคทั้ง 37 คน
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

รับชะตากรรมกันไปแล้วทั้ง 3 พรรค (พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย)จากกรณีทุจริตเลือกตั้งโดยบุคคลที่เป็น กก.บห.พรรค จึงต้องพบจุดจบด้วยการถูก “ยุบพรรค” พร้อมตัดสิทธิ กก.บห.109 คนของทั้ง 3 พรรคเป็นเวลา 5 ปี ...นับเป็นการ “ย่ำรอย” พรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้ จนเป็นเหตุให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนถูกแช่แข็งเป็นเวลา 5 ปีเช่นกัน แม้จะยังคาดหวังไม่ได้ว่าการเมืองไทยหลังจากนี้จะดีขึ้นหรือไม่ หรือจะยังคงเป็น “รัฐบาลนอมินีทักษิณ” ต่อไป แต่ก็ยังน่าดีใจที่วันนี้ กระบวนการยุติธรรมของไทยยังดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง-ยุติธรรม อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

ก่อนจะพูดถึงคดียุบ 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ลองมาย้อนดูการถูกยุบของ “พรรคไทยรักไทย” ที่บริหารโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ของพรรคพลังประชาชนกันก่อนว่ามาจากสาเหตุใด

ชนวนเหตุที่ทำให้พรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ก็เพราะผู้บริหารของพรรคมีการดำเนินการแก้ไขข้อมูลทะเบียนสมาชิกพรรคและจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยพรรคไทยรักไทยเลี่ยงเกณฑ์ 20% คราวนั้น บุคคลที่เป็นตัวหลักในการทำผิด ก็คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคฯ เมื่อทั้งคู่ถือเป็นกรรมการบริหารพรรค จึงถูกตัดสินยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 111 คนเป็นเวลา 5 ปี

การถูกสั่งยุบพรรค ไม่เพียงเป็นการปิดตำนานพรรคไทยรักไทย แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกไว้ด้วยว่า พรรคไทยรักไทยหาได้มีอุดมการณ์เพื่อคนในชาติไม่ เป็นเพียงพรรคที่ใช้ประชาชนและการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ เพื่อที่ตนจะได้เข้าไปผูกขาดอำนาจการบริหารประเทศเท่านั้น ถ้าไม่เชื่อ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นเป็นเครื่องยืนยัน

“…พรรคไทยรักไทยเป็นสถาบันพรรคการเมือง ต้องเป็นสถาบันหลัก มีภาระหน้าที่ในการผดุงไว้ที่จะให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่พรรคไทยรักไทยกลับทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.เป็นเพียง “แบบวิถีที่จะเข้าไปผูกขาดอำนาจการบริหาร” ของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น ย่อมแสดงถึงความไม่เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง พรรคไทยรักไทยไม่ได้มีอุดมการณ์มุ่งให้คนในชาติมีความสุขถ้วนหน้า แต่ประสงค์ที่จะทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ พฤติกรรมเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า พรรคไทยรักไทยไม่สมควรจะมีสภาพความเป็นพรรคการเมืองต่อไป สมควรยุบพรรค”

เมื่อพรรคไทยรักไทยทุจริตเลือกตั้งจนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คนเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แทนที่จะเป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนให้นักการเมืองและพรรคการเมือง โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคเลิกทุจริตเลือกตั้ง เปล่าเลย! หลายพรรคยังคง “ย่ำรอย” พรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชาชน” ที่เป็น “นอมินี” หรือ “ตัวตายตัวแทน” ของพรรคไทยรักไทยที่ไม่ยอมตาย ยังคงทุจริตเลือกตั้งซ้ำอีกในการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 โดยบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรค คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 1 และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่ซื้อเสียงด้วยการแจกเงินให้กลุ่มกำนัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่นายยงยุทธนัดมาพบถึงกรุงเทพฯ แม้นายยงยุทธจะพยายามอ้างว่านั่นเป็นการจัดฉากและตนติดกับดัก แต่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเห็นว่า ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) แก่นายยงยุทธ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551

“ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายยงยุทธได้ให้เงินกำนันดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่พรรคพลังประชาชนและผู้สมัคร ส.ส.เชียงราย แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า เมื่อกลุ่มกำนันพบนายยงยุทธแล้ว กลุ่มกำนันมีพฤติการณ์ช่วยเหลือในการหาเสียงหรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่นายยงยุทธหรือผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่การที่นายยงยุทธเรียกกลุ่มกำนันไปพบเพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ นั้น นายยงยุทธย่อมเล็งเห็นเห็นว่า กลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นผู้นำของหมู่บ้านสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชนได้ จึงเชื่อได้ว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งนายยงยุทธและพรรคพลังประชาชนตามที่นายยงยุทธอ้าง จึงเห็นควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ”

ส่วนการทุจริตเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย บางคนจนโดนใบแดงเหมือนกันนั้น คือ กรณีที่นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยนาท เขต 1 และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ถูกตรวจพบว่าหัวคะแนนของตนเก็บบัตรประชาชนชาวบ้านและเตรียมจ่ายเงินให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หน้าหน่วยเลือกตั้งกลางในการเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย ผู้ที่ทุจริตเลือกตั้งจนโดนใบแดง คือ นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากมีพฤติการณ์แจกทรัพย์สิน

ทั้งนี้ การให้ใบแดงผู้สมัครพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นการให้โดย กกต.เนื่องจาก กกต.วินิจฉัยได้ทันก่อนที่จะมีการรับรองผลเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากกรณีของนายยงยุทธ ที่ กกต.วินิจฉัยไม่ทัน จึงต้องประกาศรับรองผลเลือกตั้งให้นายยงยุทธเป็น ส.ส.ไปก่อน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า หาก กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้สมัครรายใดไปแล้ว และต้องการให้ใบแดงภายหลัง กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งในที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งก็วินิจฉัยให้ใบแดงนายยงยุทธ

แม้ผู้สมัครที่เป็นกรรมการบริหารของทั้ง 3 พรรคจะโดนใบแดงฐานทุจริตเลือกตั้ง แต่ กกต.ก็มิได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบทั้ง 3 พรรคในทันที แต่ได้พยายามดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะการยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ จึงให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.(7 คน) ไปพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายของผู้สมัครหรือกรรมการบริหารพรรคที่จะโยงไปสู่การยุบพรรคตามมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า หากกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคไม่ได้รู้เห็นการกระทำผิดหรือทุจริตที่เกิดขึ้น กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคนั้นหรือไม่?

ซึ่งในที่สุด ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ กกต.ก็มีมติ 6 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ว่า กรณีที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิด แม้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค เพราะถือว่าเข้าข่ายมาตรา 237 วรรค 2 และมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.เนื่องจากข้อกฎหมายมีลักษณะบังคับหรือล็อกไว้อยู่แล้วว่า กกต.ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใดรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รธน.

เมื่อข้อกฎหมายเขียนไว้ชัด จึงไม่แปลกที่คำอ้างของทั้ง 3 พรรคที่บอกว่า กรรมการบริหารพรรคไม่ได้รู้เห็นการกระทำของผู้สมัคร จะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า “หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใดรู้เห็น....” ดังนั้น การที่ นายยงยุทธ เป็นกรรมการบริหารพรรคพรรคพลังประชาชน นายสุนทร เป็นกรรมการบริหารพรรคพรรคชาติไทย และนายมณเฑียร เป็นกรรมการบริหารพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย แล้วกระทำการทุจริตเลือกตั้ง จึงเข้าองค์ประกอบข้อกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถอ้างได้อีกว่ากรรมการบริหารพรรคพรรคไม่รู้เห็น เพราะผู้กระทำผิดเป็น กก.บห.พรรคเสียเอง

คงยังจำกันได้ว่า หลังมีข่าวว่า กกต.จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคทั้ง 3 พรรค ปรากฏว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น ได้ออกมาประกาศทันทีว่ามีคนจ้องยุบพรรครัฐบาลทั้ง 3 พรรค พร้อมอ้างว่า ถ้าทั้ง 3 พรรคถูกยุบจะเท่ากับเป็นการฆ่าประเทศไทย

“...จะเอากันให้ตายกันตรงนี้ก็เอาสิ เอากันไหม เอากันให้ตายไปเลยไอ้พรรคการเมืองให้มันตายกันไป ไอ้พรรคการเมืองตายมันไม่เป็นไร แต่ประเทศชาติมันตาย กว่าจะล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะเงยหัวขึ้นมาได้ พอเงยหน้าไปคบค้าสมาคมกับใครเขาได้ ก็จะกลับอย่างเดิม จะเอากันให้ตายอีก อย่างนี้พอใจหรือยัง”

จากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็ออกมาส่งสัญญาณแก้ไข รธน.เพื่อหนีคดียุบพรรคทันที โดยอ้างว่า เมื่อกฎหมายรัดคอ กกต.ให้ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคง่ายเกินไป จึงสมควรแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อปลดล็อกเรื่องดังกล่าว และว่าต้องดำเนินแก้รัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็วก่อนที่คดีจะถึงมือศาล

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องประกาศฟื้นตัวเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะนายสมัครเคยบอกตั้งแต่แรกว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ แต่รัฐบาลกลับตระบัดสัตย์จะแก้รัฐธรรมนูญหนีคดียุบพรรค ทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 3 เดือน

รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชาชนพยายามอ้างว่า มาตรา 237 มีขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งพรรค ให้พรรคต้องถูกยุบ ทั้งที่ความจริงแล้วมาตราดังกล่าวมีขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 หลายเดือน มีขึ้นในขณะที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าจะมีพรรคไหนลงสมัครรับเลือกตั้งบ้าง และผู้สมัครหรือกรรมการบริหารพรรคไหนจะกระทำการทุจริตเลือกตั้งบ้าง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ว.กทม.และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ไม่ได้มีขึ้นเพื่อทำลายล้างหรือกลั่นแกล้งพรรคไหน เพราะไม่รู้ว่าจะมีพรรคไหนกระทำผิดหรือไม่ และที่สำคัญ ตอนที่ยกร่างฯ ทุกพรรคก็ได้รับทราบแล้วว่ามีบทบัญญัติเรื่องยุบพรรคแบบนี้ก็ไม่เห็นมีพรรคไหนคัดค้าน ดังนั้น ส่วนตัวแล้ว ตนไม่ห่วงว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคใด เพราะตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคไหน แต่ตนติดใจกระบวนการที่รัฐบาลจะออกกฎหมายมาใช้ในบ้านเมืองมากกว่า เพราะในขณะที่รัฐบาลออกกฎหมายที่สามารถลงโทษประชาชนที่ทำผิดได้ แต่พอรัฐบาลเข้าข่ายอาจทำผิดบ้าง ก็จะแก้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิด แล้วอย่างนี้จะตอบชาวบ้านว่าอย่างไร และบ้านเมืองจะไม่วุ่นวายหรือ?

“การแก้รัฐธรรมนูญเนี่ยจะต้องแก้เพื่อส่วนรวม แก้ที่มันเป็นปัญหาในระบบโครงสร้างการบริหารบ้านเมือง และมาตรา 237 เจตนาเพื่อจะแก้ปัญหาการโกงการเลือกตั้ง ทีนี้ถ้าเกิดมันมีผลกระทบกับนักการเมืองบางคน พรรคการเมืองพรรค และมาแก้เพื่อให้(ตน) พ้นข้อกล่าวหาอย่างนี้ มันก็เป็นการแก้เพื่อตัวเอง มันก็ไม่เหมาะไม่ควรอยู่แล้ว และนี่มันตอบชาวบ้านไม่ได้ เพราะรัฐสภาเนี่ยเป็นที่ออกกฎหมายสร้างกติกาให้คนปฏิบัติตามกฎหมาย ในเมื่อเราจะออกกฎหมายลงโทษประชาชน แต่พอเราได้รับผลซึ่งอาจจะถูกพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิด เรากลับกลายมาแก้กฎหมายเพื่อให้เราพ้นผิดกันเอง แล้วจะไปตอบประชาชน ตอบชาวบ้านได้ยังไง ...แล้วอีกหน่อยอนาคตเนี่ย ก็จะเป็นตัวอย่างว่า รัฐบาลต่อไป ถ้าเกิดทำอะไรผิด ก็ไปแก้ รธน.ไปแก้กฎหมายเพื่อให้ตนพ้นผิด แล้วมันจะไม่ยุ่งไปใหญ่เหรอ”

นายเสรี ในฐานะรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยังเผยถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันด้วยว่า ความผิดที่จะนำไปสู่การยุบพรรคนั้น มีจุดสำคัญอยู่ 2 ส่วน 1.ถ้าผู้กระทำผิดหรือทุจริตเลือกตั้งเป็นแค่สมาชิกพรรค (ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคพรรค) แต่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคพรรค มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือมิได้ยับยั้งการกระทำนั้น ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรค กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค 2.ถ้าผู้กระทำผิดเป็นถึง กก.บห.พรรค แม้หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นจะไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำของพรรค ซึ่ง กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเช่นกัน เพราะกรรมการบริหารพรรคต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าสมาชิกพรรค และกฎหมายต้องการให้กรรมการบริหารพรรครับผิดชอบร่วมกันและคอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน

“ข้อกฎหมายเนี่ยชัดเจน เพราะมีการอภิปรายในสภาและมีบันทึกไว้ชัดเจน เรื่องเหล่านี้ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เสนอญัตติ ขอเพิ่มเติมมาตรา 237(2) ไว้ กรรมาธิการเห็นด้วย พอมาเข้าในสภาเนี่ย อ.เจิมศักดิ์ ก็ถาม กมธ.ยกร่างว่า ถ้าหากว่ามีผู้สมัคร หรือกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำผิดเนี่ย และหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นเขาไม่รู้เห็นด้วยเนี่ย คนที่ไม่รู้เห็นดังกล่าวต้องรับผิดชอบด้วยมั้ย อ.ประพันธ์ นัยโกวิท ที่เป็น กกต.ก็เป็น กรรมาธิการยกร่างด้วย ท่านก็เป็นคนอธิบายและอธิบายไว้ชัดเจนว่า คนอื่นที่รู้เห็นที่ไม่ได้ทำผิดก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย อันนี้ก็ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ก็คือ ให้บรรดาหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคร่วมรับผิดชอบด้วยกัน นี่เจตนารมณ์ (ถาม-ถ้าบางพรรคอ้างว่ามันดูแลไม่ทั่วถึงหรอก?) อ้างไม่ได้หรอก เพราะอย่างที่บอกว่า อันนี้มันเขียนเอาไว้ก่อนที่จะมีพรรคพลังประชาชนด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเขียนเนี่ย เขาไม่ได้มองว่าพรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา ไม่ทราบด้วยซ้ำไป และมันเป็นกติกาที่ตกลงยอมรับไปแล้วไง ผมพยายามจะบอกตรงนี้ว่า คนที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเป็น กก.บห.พรรคก็ต้องรู้ว่ากติกาเขามีเขียนไว้อย่างนี้ จะบอกว่าตัวเองไม่รู้ไม่เห็นไม่เกี่ยว จะละเว้นความรับผิดชอบตัวเอง บางพรรคอาจจะมีบันทึกไว้เลยว่า ถ้าใครทำผิด คนอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ถึงแม้เขียนไว้อย่างนั้น ยังไม่พ้นเลย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า ให้รับผิดชอบทุกคน”

นายเสรี ยังชี้ด้วยว่า หากรัฐบาลสามารถแก้กฎหมายเพื่อให้พรรคพวกของตนพ้นผิดได้ ถ้าเช่นนั้นคนที่อยู่ในคุกก็สามารถลงชื่อขอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้พวกเขาพ้นผิดได้เช่นกันใช่หรือไม่

แม้ว่ารัฐบาล จะพยายามทุกทางเพื่อแก้รัฐธรรมนูญหนีคดียุบพรรค แต่ก็สายเสียแล้ว เพราะวันนี้ (2 ธ.ค.) ทั้ง 3 พรรค (พรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย) เดินมาถึงกาลอวสาน เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคมัชฌิมาธิปไตย และมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรคชาติไทย พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารทั้ง 3 พรรคเป็นเวลา 5 ปี

การปิดฉากของ 3 พรรคการเมืองครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นเครื่องยืนยันว่า ผู้บริหารพรรคที่ทุจริตเลือกตั้งซ้ำซาก หรือไม่เกรงกลัวผลที่จะตามมาหลังการทุจริต ก็ไม่สมควรที่จะดำรงอยู่ในวงการเมืองไทยอีกต่อไป แต่ยังตอกย้ำสัจธรรมที่ว่า “ใครทำสิ่งใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งการกระทำนั้น”!!
โฉมหน้า กก.บห.พรรคพลังประชาชนบางส่วนที่ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค
บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เข้าแถลงปิดคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองเช้าวันนี้(2 ธ.ค.) ขณะที่พรรค พปช.ไม่ส่งใครมาแถลงปิดคดี
อนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็เข้าแถลงปิดคดียุบพรรคด้วยตัวเองเช่นกัน
แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะย้ายสถานที่พิจารณาคดียุบพรรคไปที่ศาลปกครอง ม็อบเสื้อแดงที่ถูก นปช.และ ส.ส.พรรคพลังประชาชนปลุก ก็ยังตามไปล้อมกดดัน(2 ธ.ค.)
กก.บห.พรรคชาติไทยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 43 คน ในจำนวนนี้มีนายบรรหาร ศิลปอาชา และบุตรชาย(วราวุธ)-บุตรสาว(กัญจนา)รวมอยู่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น