รอง ปธ.สภาปลุกกระแสแก้ รธน.รายวัน อ้าง พปช.ถอยมาแล้ว 2 ก้าว แต่เสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ รธน. โยนบาป ม.190 ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินสะดุด
วันนี้ (19 พ.ย.) พ.อ.อภิวันทน์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทางพรรคพลังประชาชนได้มีการหารือนอกรอบ เห็นว่าบรรยากาศภายหลังเสร็จงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คนไทยมีความสามัคคีกันดี ทางพรรคพลังประชาชนพร้อมจะถอย 2 ก้าว และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันถอย 2 ก้าว ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ถอยมาแล้ว 2 ก้าว คือไม่ผลักดันนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ และการชะลอเรื่องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ต้องถามประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ หากประชาชนรวบรวมรายชื่อได้เกิน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเรียกร้องหรือสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางสภาฯ ก็ต้องดำเนินการ แต่ที่เราไม่แก้ไขในขณะนี้เพราะไม่อยากให้มองว่าทำเพื่อช่วยคดียุบพรรค หรือช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดปัญหาและข้อบกพร่อง ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะมาตรา 190, 266, 267
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ไม่เสนอแก้ไขมาตรา 291 ในตอนนี้ แต่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) เข้ามาพิจารณาแทนเพื่อเลี่ยงระแสต่อต้าน พ.อ.อภิวันทน์ ตอบว่า ยืนยันว่ายังไม่ยกเลิกการดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 ไม่มีการหมกเม็ด แต่ทางพรรคเห็นว่าบรรยากาศขณะนี้เสนอแก้รัฐธรรมนูญไปก็ไม่เหมาะสม และคงไม่เสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งหมดเราต้องดูเรื่องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก ที่ผ่านมาทางพรรคยังไม่มีมติให้บรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภา วาระการประชุมต้องให้ประธานสภาฯเป็นผู้พิจารณาไปตามกรอบของกฎหมาย ส่วนวาระการประชุมร่วม 2 สภา ในวันที่ 24-25 พ.ย.นี้จะพิจารณาในเรื่องที่รัฐบาลต้องไปลงนามร่วมในสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีถึง 25 เรื่องที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ให้นายกฯ ไปลงนามในข้อตกลงกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อความรอบคอบ ถึงแม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอว่าไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ 2 สภา เพื่อสามารถพิจารณาไปตามกรอบได้นั้น ตนเห็นว่าเพื่อความรอบคอบและเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างกรณีเขาพระวิหารอีก เราควรปฏิบัติไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดจะดีกว่า และหลังจากนี้จะมีกรอบอย่างไรค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง