xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” แนะ “ทหาร” ใช้ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” พิทักษ์สถาบัน-ปกป้อง ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“นักวิชาการ” แนะ “ทหาร” ใช้ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” เพื่อปกป้องสถาบัน-เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ยัน “กองทัพ” สามารถตั้งกองกำลัง “กอ.รมน.” ที่ประกอบด้วย “ภาคประชาชน-องค์กรสิทธิฯ-นักกฎหมาย” เพื่อดูแลพื้นที่ที่มีการชุมนุมได้ ย้ำชัดหาก “ครม.-นายกฯ” ไม่อนุมัติ ต้องโดนข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ความมั่นคง

วานนี้ (6 พ.ย.) นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางที่กองทัพจะเข้าไปทำหน้าที่รักษาความมั่นคงทางการเมืองตามมาตรา 77 ในขณะนี้ว่า กองทัพสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยใช้ร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเป็นระบบมาเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องสถาบัน และรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง

“โดยเฉพาะในมาตรา 3 ที่ให้กองทัพสามารถตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาจักร (กอ.รมน.) ได้ ซึ่งทางกองทัพสามารถยื่นขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตั้ง กอ.รมน. โดยหน่วยงานที่ว่านี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนที่ประกอบด้วย องค์กรสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมาย ซึ่งหากทาง ครม. และนายกฯ อนุมัติก็สามารถจัดตั้งกองกำลัง โดยทางกองทัพจะต้องทำเรื่องไปขอกองกำลังจากทางตำรวจ เพื่อช่วยกันแบ่งกำลังคุ้มกันในพื้นที่ที่มีการชุมนุมของประชาชน” นายปณิธาน กล่าว

ส่วนกรณีที่ทาง ครม.และนายกฯ ไม่อนุมัติ แล้วทางกองทัพจะทำอย่างไรนั้น นายปณิธาน กล่าวว่า หากไม่ได้รับการอนุมัติจากทาง ครม. และนายกฯ แต่ถ้าทหารมีข้อมูล หรือมีหลักฐานว่าบ้านเมืองเกิดความไม่สงบสุข ทำให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปยื่นกับทาง ครม. และนายกฯ แต่หากยังไม่ได้รับอนุมัติอีก ก็ถือว่านายกฯ และ ครม.ทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง

นายปณิธาน ยังกล่าวถึงกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในสถานการณ์ปัจจุบันว่า กรณีดังกล่าวไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเชื้อเชิญให้ทหารปฏิวัติ แต่เป็นไปได้ที่พันธมิตรฯ ซึ่งมีท่าทีที่จะหนุนกองทัพให้ออกมาทำหน้าที่ แต่ทหารได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะไม่มีการปฏิวัติ ส่วนที่พันธมิตรฯ ต้องหนุนทหารนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติบทบาท หรือไม่ก็ยุบสภา เพื่อไม่ให้รัฐบาลยืดเยื้ออำนาจอีกต่อไป แต่ทางรัฐบาลกลับไม่มีท่าทีที่อ่อนลง จึงเป็นไปได้ที่พันธมิตรฯ มีแนวโน้มที่จะหนุนกองทัพให้ออกมาทำหน้าที่ แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า คงไม่ใช่การปฏิวัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น