โฆษกพรรค ปชป.ตอกแผน “แม้ว” ใช้พลังมวลชนดึง 2 สถาบันเผชิญหน้าหวังแก้ปัญหาตัวเอง ชี้เหตุสัมภเวสีต่างแดนไม่เกี่ยวกับรัฐประหาร เย้ยให้ยอมรับโทษก่อนขอพระราชทานอภัยโทษ
วันนี้ (2 พ.ย.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจัดงานความจริงวันนี้สัญจรต้านรัฐประหารของกลุ่ม นปช.เมื่อบ่ายวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ทางพรรคดีใจที่ไม่มีเหตุร้ายแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น แต่ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โฟนอินเข้ามาพร้อมกับมีการฉายวีดีทัศน์นั้น มีความพยายามดึงเอา 2 สถาบันหลัก คือ สถาบันตุลาการ และสถาบันที่ไม่ได้อยู่ข้างมวลชนเข้ามาสู่ปัญหาความขัดแย้ง ทางพรรคเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณสมควรได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน รวมไปถึงทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ หากพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ได้มาโดยทุจริตก็สมควรได้รับคืน ส่วนการขอพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นการกระทำที่พยายามแสดงออกถึงความจงรักภักดี แต่การขอพระราชทานอภัยโทษนั้นต้องเกิดขึ้นหลังจากยอมรับโทษก่อน ต้องยอมต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ในคดีที่ดินรัชดาฯ ได้ภายใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า การตั้งเงื่อนไขว่าจะกลับเมืองไทยก็ต่อเมื่อมีพระเมตตา หรือเสียงเรียกร้องจากประชาชนนั้น เป็นการพยายามใช้กระแสมวลชน และเสียงข้างมากมาเป็นข้ออ้างชี้ถูกชี้ผิด การที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับหรือไม่อยู่ที่สำนึกภายในใจมากกว่า นายกรัฐมนตรีก็เป็นน้องเขย จึงน่าจะให้ความมั่นใจในการต่อสู้คดีของท่านได้ ที่บอกว่าจุดวิกฤตจนทำให้อยู่เมืองไทยไม่ได้มาจากเหตุรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาฯ นั้น ท่านก็กลับเข้ามาต่อสู้คดีแล้ว แต่การออกไปครั้งล่าสุด ไม่ใช่จากเหตุรัฐประหารแล้ว แต่เป็นช่วงการพิจารณาคดีของท่าน เราต้องดูคำพูด สิ่งที่อยู่ในใจและพฤติกรรมของรัฐบาลชุดนี้ และเครือข่ายระบอบทักษิณว่ามีความจริงใจที่จะให้บ้านเมืองสงบสุขหรือไม่ ขบวนการปลุกระดมสร้างความวุ่นวายโจมตีสถาบัน ให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามและใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามรัฐ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงเหตุการณ์ผู้ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงปิดล้อมแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ไปจัดสัมมนาที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าบางคนก็อยู่ในอาการมึนเมา ด่าทอพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาหลักคือการไม่เข้าร่วมประชุมรับฟังนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตัดสินใจไม่เดินฝ่าวงล้อมของกลุ่มเสื้อแดงเข้าไปประชุม และเลื่อนเที่ยวบินกลับจากเวลา 16.45 น.มาเป็น 14.50 น. และแจ้งให้กลุ่มเสื้อแดงทราบเพื่อให้คนที่อยู่ในโรงแรมออกมาได้
“ข่าวลือที่ว่ามีการเผชิญหน้าและแสดงกิริยาต่างๆ ใส่ผู้ชุมนุมจึงไม่เป็นจริง ขณะเดียวกัน มีหลักฐานชัดเจนว่า กลุ่มเสื้อแดงดังกล่าวมีการเกณฑ์มาจากจังหวัดใกล้เคียง อย่างเชียงราย ลำปาง พะเยา โดยมารวมตัวกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ โดยที่เจ้าของโรงแรมนั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกับพรรคพลังประชาชน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ไปอยู่ที่เชียงใหม่ในช่วงเดียวกัน ดังนั้น การอ้างว่ายอมรับในกระบวนการสานเสวนา แต่ปล่อยให้มวลชนมาปิดล้อมการประชุมของพรรค สะท้อนถึงความจริงใจของท่านในการหาทางออกจากวิกฤติการเมืองโดยสันติหรือไม่”
ส่วน การที่ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน ออกมากล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์อิงกับเผด็จการจึงไม่ขอร่วมรัฐบาลด้วยนั้น เราไม่อยากต่อปากต่อคำเพราะคำพูดของ ร.ท.กุเทพไม่มีน้ำหนัก เพราะบางทีก็ออกมาด่าพรรคตัวเอง แต่ยืนยันในจุดยืนว่าตลอด 60 ปีที่ทำงานการเมืองมา เราไม่อิงกับเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นขี้ข้านายทุน เราไม่สังฆกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตขัดแย้งในวันนี้ ทางพรรคมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมให้คู่ขัดแย้งออกจากภาวะวิกฤตด้วยแนวทางสันติ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนหนังสือชื่อ “เข็มทิศประเทศไทย” เพื่อแนวทางหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศ โดยเสนอให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกันแก้ไข โดยหนังสือดังกล่าวจะแจกให้แก่ผู้มาร่วมงานระดมทุนของพรรค ภายใต้ชื่องานว่า “เชื่อมั่นประเทศไทย เชื่อมั่นพรรคประชาธิปัตย์” ที่จะจัดขึ้นที่เมืองทองธานี ในวันที่ 8 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในหนังสือ “เข็มทิศประเทศไทย” ของนายอภิสิทธิ์ มีใจความพอสรุปได้ดังนี้ ความขัดแย้งที่เป็นวิกฤตขณะนี้เป็นการต่อสู้ทางความคิด คนชอบคาดคิดว่าการเผชิญหน้าครั้งนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงจะชนะ แต่ในความเห็นตนการจะบอกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกต้องเสียทั้งหมดหรือชนะอย่างเด็ดขาดนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้จริง ปัญหาสำคัญขณะนี้คือเรากำลังเอาบางเรื่องมาชนกันทั้งที่เป็นคนละเรื่องคนละหลักความคิด ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย กำลังอาความนิยม ความชอบหรือความต้องการของตนเอง นำมาชนกับความเชื่อในเรื่องความถูกต้อง และการบังคับใช้กฎหมาย เราจึงเห็นคนมีอารมณ์มีความรู้สึกร่วมมาก ในสถานการณ์เช่นนี้จุดทดสอบสำคัญคือเราจะสามารถแยกโจทย์และตอบโจทย์ได้ถูกต้องหรือไม่ เช่น ฝ่ายที่สนับสนุนระบอบทักษิณ ก็มีแนวคิดว่าการจะตัดสินถูกผิดนั้นไม่จำเป็นต้องดูตามเนื้อผ้า ข้อเท็จจริงหรือกฎหมาย ผสมกับค่านิยมที่ว่าคนจะโกงก็ได้ขอแค่ให้เขาทำอะไรให้บ้านเมืองหรือตัวเราก็พอ ขณะที่อีกกลุ่มยึดถือความถูกผิด ยึดหลักกฎหมาย
หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังทดสอบเราอย่างแหลมคมมากว่า ถ้ามีความจำเป็นจะต้องยืนยันความถูกต้องทั้งกรณีของพรรคการเมืองหรือกรณีตัวบุคคลจะก้าวไปถึงจุดที่เราสามารถยืนยันได้หรือยังว่าต่อไปนี้สังคมเรา กฎคือกฎ กติกาคือกติกาถ้ายังผ่านจุดนี้ไมได้ยังเลือกที่รักมักที่ชัง วิกฤติการณ์เมืองและเศรษฐกิจก็จะย้อนกลับมาและกลายเป็นวงจรต่อไปเรื่อยๆ เราจะไม่สามารถถีบตัวเองไปเป็นสังคม เป็นประเทศที่เติบโตมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ตนไม่ปฏิเสธว่ามีคู่กรณีที่มีผลประโยชน์เรื่องอำนาจ มีการช่วงชิงอำนาจอยู่ที่ใช้คำว่า การต่อสู้ทางความคิดเพราะถ้าลำพังเพียงแค่คู่กรณีเล่นกันเองมันไม่ลุกลามเป็นวิกฤตขนาดนี้ แต่วันนี้มีมวลชนและประชาชนที่ไม่มีผลประโยชน์ในเชิงอำนาจโดยตรง แต่ถูกทำให้ต้องเลือกข้างแล้วมาต่อสู้กัน ซึ่งทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม พันธมิตร และคนที่สนับสนุน นปก. หรือคนที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ตัวแกนนำตนไม่รู้ แต่คนจำนวนมากคงมีความเชื่อของเขาอย่างนั้นจริงๆ
นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเนื้อหาการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นความคิดเห็นที่เห็นแก่ตัว โดยดึงสถาบันลงมา ตามกระบวนการยุติธรรม พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถกลับประเทศไทยได้ทุกเวลาเพื่อต่อสู้คดี พ.ต.ท.ทักษิณรู้ดีว่าได้ทำอะไรไว้บ้าง และสังคมไทยอยากให้ท่านกลับมาต่อสู้คดีโดยเร็ว เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะสู้คดีความในชั้นศาล และที่ผ่านมาก็เคยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีที่คนอื่นหมิ่นประมาทเป็นหมื่นล้านบาท ต่าพอศาลสั่งจำคุกกลับไม่กล้าที่จะกลับมาต่อสู้คดี ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าทำเรื่องระคายเคืองให้พระองค์ท่านแล้วยังไม่สำนึกผิด