“จาตุรนต์” ป้ายสีพันธมิตรฯใช้เงื่อนไขก่อปฏิวัติ อ้างความชอบธรรมระดมพลคนเสื้อแดงต้านรัฐประหาร แต่กลับยุส่งให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบใหม่ ปรามเหตุรุนแรง เมินเสียงคนเดือนตุลาท้วงติงร่วมโฟนอินนายใหญ่
วันนี้ (30 ต.ค.) โรงแรมเรดิสัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงถึงสถานการณ์ความรุนแรงในบ้านเมือง ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีความพยายามที่จะเสนอแนวทางการแก้วิกฤตทางการเมือง โดยการหยุดใช้ความรุนแรงและให้มีการพูดจาหารือกัน ซึ่งถือว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ดี แต่ปรากฏว่า ไม่ได้รับการขานรับจากกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ยึดทำเนียบ ทำผิดกฎหมาย และยังเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อให้เกิดความรุนแรง ข้อเสนอของผู้หวังดีก็ไม่ได้รับการยอมรับและยังถูกโจมตี ซึ่งทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้คิดว่าการแก้วิกฤตของประเทศไทยต้องใช้เวลา ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามโดยเฉพาะสังคมโดยรวมที่ควรพยายามใช้สันติวธี ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรพยายามรักษากฎหมายและยึดหลักการซึ่งจะทำให้กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ลดน้อยลง ขณะเดียวกัน ประชาชนจะต้องร่วมกันแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรฯ และการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะขณะนี้มีเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการปฎิวัติอยู่ตลอดเวลา
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อทางออกของพันธมิตรฯ มีทางเดียว คือ การรัฐประหาร ฉะนั้น มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งในการชุมนุมในวันที่ 1 พ.ย. ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเนื้อหาสำคัญของการจัดงานในวันนั้น คือ การคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ยืนยันว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่ปิด มีการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยได้ ป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกได้ดี และยืนยันว่า จะไม่มีการเคลื่อนย้ายไปเผชิญหน้ากับใคร และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการคัดค้านกลุ่มบุคคลใด นอกจากเป็นการแสดงความเห็นเพื่อคัดค้านรัฐประหารเท่านั้น
“ขอเรียกร้องต่อประชาชนผู้รักประชาธิปไตย มีความจำเป็นที่จะต้องชุมนุมในวันดังกล่าวเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร” นายจาตุรนต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า คนรักในหลังไม่จำเป็นต้องไปแสดงพลังที่ไหน แต่ควรอยู่ที่บ้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความคิดเห็นนี้เข้าใจว่าจะแตกต่างอย่างมากกับการเคลี่อนไหวของพันธมิตรฯ ที่อ้างในทางตรงข้ามกัน ทั้งนี้ คิดว่าข้อความดังกล่าวจะสมบูรณ์มากขึ้น นายดิสธรควรที่จะแนะนำไปว่าไม่ควรไปชุมนุมที่กระทำโดยผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คนไทยทั้งประเทศรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยกันทั้งสิ้น และเชื่อว่า การชุมนุมวันที่ 1 พ.ย.จะไม่มีปัญหาและความรุนแรงเกิดขึ้น
เมื่อถามถึงเหตุลอบวางระเบิดหน้าบ้านพัก นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุระเบิดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ จนมีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ บาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าว จึงยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายคงต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ ตั้งตนเป็นเขตปกครองพิเศษ มีการ์ดพกอาวุธ ตำรวจเข้าใกล้ไม่ได้ ทำให้การรักษาความสงบทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรนำเหตุการณ์นี้มาเป็นเหตุในการทำรัฐประหาร ซึ่งหากทหารเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมืองก็ทำได้ โดยการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ราชการฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับการชุมนุมในวันที่ 1 พ.ย.จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1,000 นาย มารักษาความสงบเรียบร้อย และคงมีการพิจารณาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ต่อข้อถามถึงกรณีกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นคนกลางในการประสานงานให้ทุกฝ่ายมีการเจรจากันนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การใช้สันติวิธีในการหารือถือเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องหยุดการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย นอกจากนี้ จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากผู้เจรจาที่จะต้องมีความชัดเจนก่อนว่าใครเจรจากับใคร ฝ่ายที่สำคัญที่สุด คือ พันธมิตรฯ ที่ไม่ยอมเจรจา ถ้าคิดจะไปเรียกผู้ใหญ่มาจะเป็นการเสียเวลาเปล่า อย่างเช่น นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ออกมาเสนอความคิดเห็นก็ยังถูกโจมตีอย่างหนัก ทั้งนี้ เชื่อว่า การเชิญ พล.อ.เปรม มาเป็นคนกลางนั้นเป็นไปไม่ได้ และ พล.อ.เปรม จะรับเป็นคนกลางหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แกนนำพันธมิตรฯ บางคนอยู่ในสภาวะขาดสติไปแล้ว การเสนอบุคคลขึ้นมาเป็นผลเสีย วันนี้แกนนำไมต้องการเจรจากับใครทั้งสิ้น แม้จะมีคนเปิดทางให้แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.อดีตคนเดือนตุลาเรียกร้องให้ทบทวนการเข้าร่วมงานความจริงวันนี้ต้านรัฐประหาร เนื่องจากอาจจะตกเป็นเครื่องมือล้มล้างสถาบันได้ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่มีเรื่องเสียหายอะไรที่ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หรือเรื่องไม่ดีเลย ดังนั้น ไม่มีเหตุผลที่ตนจะต้องทบทวนการไปร่วมงานดังกล่าว และจะไปร่วมงานแน่นอน ยกเว้นจะเกิดการรัฐประหารเสียก่อน ต่อข้อถามว่า การระดมคนจากต่างจังหวัดเข้ามาชุมนุมจำนวนมาก อาจจะเป็นเงื่อนไขการรัฐประหารได้หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จะอ้างให้เหมือนเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 ไม่ได้เลย ยืนยันว่า จะไม่มีการเกณฑ์ประชาชนมาร่วมงานอย่างแน่นอน แต่ที่ประชาชนจะมาจำนวนมากนั้น เป็นเพราะล้วนแต่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และต้องการคัดค้านการรัฐประหาร