ผู้จัดการออนไลน์ - “อานันท์” แสดงทีท่าสนใจร่วม คกก.ปฏิรูปการเมือง ยืนยัน ปชต.ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ชี้ จะให้สมบูรณ์-ยั่งยืน ต้องประกอบด้วยเสาหลัก 6 ประการ เสนอรัฐบาล-สภา อาจต้องเป็นเจ้าภาพ เพราะกุมงบ ทว่าต้องให้อิสระเต็มที่ เสนอต้องแก้ทั้งระบบ ยุติธรรม-สื่อ-ประชาสังคม ออกไอเดียดึงช่อง 9 และ 11 กลับมาเป็นสื่อของประชาชน ยันถ้าพรรคการเมือง-นักการเมือง ไม่เปลี่ยนทุกอย่างก็เหลว
เวลา 21.45 น.วานนี้ (1 ต.ค.) รายการตอบโจทย์ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยพิธีกรคือ น.ส.กรุณา บัวคำศรี ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในเรื่องมุมมองต่อสถานการณ์การเมือง การปฏิรูปการเมือง และแนวทางสู่การเมืองใหม่ โดยเนื้อหามีดังนี้
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง การปฏิรูปการเมืองในทัศนะ “อานันท์ ปันยารชุน” รายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
กรุณา – คุณอานันท์ ได้ศึกษาในเรื่องของข้อเสนอของอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต่อข้อเสนอของการปฏิรูปการเมืองหรือยังคะ
อานันท์ – ไม่ได้ศึกษานะครับ แต่ได้อ่านในข่าวหนังสือพิมพ์กับได้ฟังโทรทัศน์บางช่อง ผมก็มองว่าข้อเสนอของอธิการบดี 24 แห่งนี่ก็เป็นข้อเสนอในทางสร้างสรรค์ เพราะทุกคนก็ยอมรับว่าปัจจุบันนี้การเมืองเมืองไทย มันอยู่ในขีดที่เรียกว่าอันตราย ผมไม่อยากใช้คำว่าทางตันนะฮะ แต่อย่างน้อยก็รู้สึกว่าทุกคนมองเห็นว่า มันเป็นปัญหาใหญ่ของชาติที่ควรจะได้รับการแก้ไข สาเหตุก็มาจากหลายประการด้วยกัน แต่ละฝ่ายก็อาจจะมีสาเหตุที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมก็แล้วแต่ แต่จุดร่วมคือว่าการเมืองแบบเก่ามันไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสองสามปีที่ผ่านมา
กรุณา – แต่เราก็เพิ่งปฏิรูปการเมืองไปเมื่อสักสิบปีที่แล้ว
อานันท์ – การปฏิรูปนี่เราต้องเข้าใจนะว่าการปฏิรูปมันไม่ใช่ทำเสร็จแล้วเสร็จเลย เพราะว่าโลกเรามันเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ทั้งการเมือง ทั้งเศรษฐกิจ ทั้งสังคม เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามที่จะเริ่มต้นที่จะทำปฏิรูปก็ดี หรือจะทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ดี เราต้องมองว่ามันเป็นกระบวนการมากกว่าและมันก็ไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ทำมาแล้วเปลี่ยนแปลงมาแล้ว อีก 5 ปี 10 ปี ก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงอีก เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการดำเนินการโดยต่อเนื่องมากกว่า
กรุณา – คุณอานันท์ เคยพูดถึงปัจจัยที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีประชาธิปไตยได้ จะมีอยู่ 7-8 อย่าง มาถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง ต้นทุนที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง มีการพูดถึงว่า สิ่งที่จะเป็นเหตุผลหรือจะเป็นปัจจัยได้ก็คือ ต้องมีคนกลางที่น่าเชื่อถือมาเป็นประธานและต้องได้รับการยอมรับจากรัฐบาลด้วย
การเลือกตั้ง
ขันติธรรมทางการเมือง
การปกครองด้วยกฎหมาย
เสรีภาพในการแสดงออก
ความผิดชอบต่อประชาชนและความโปร่งใส
การกระจายอำนาจและประชาสังคม
อานันท์ – ที่ผมไปพูดที่ยุโรปเมื่อสองสามเดือนมานี้ (ปาฐกถา เรื่อง ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน (Sustainable Democracy) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2551 ที่นครบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม) ผมพูดว่าจะทำยังไงให้ประชาธิปไตยอยู่ยั่งยืน เพราะผมมองว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการ ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยไม่ใช่การใช้หลักการใช้นิติรัฐหรือนิติธรรม ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของสื่อเสรีอย่างเดียว มันมีองค์ประกอบอยู่ 6-7 อย่าง ที่ผมถือว่าเป็นเสาหลัก เหมือนคุณปลูกบ้าน บ้านทั้งหลังเหมือนประชาธิปไตย แต่บ้านก็ต้องมีเสาหลัก และผมก็เปรียบเทียบว่าเสาหลักนี่มันมีอยู่ 6-7 ข้อนี้ ซึ่งถ้าเผื่อจะให้ประชาธิปไตยยั่งยืน มันไม่ใช่ว่าจับหลักใดหลักเดียว มันจะต้องอาศัยทั้งหกหลัก
กรุณา – ขาดอะไรไปไม่ได้เลยใช่ไหมคะ
อานันท์ – ขาดไปไม่ได้ แต่ความหมายของผม หมายความว่า ในการจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มันจำเป็นต้องใช้ทั้งหกเสาหลัก แต่ถ้าว่าใช้เสาหลักอันเดียว ใช้ผลของการเลือกตั้งอย่างเดียว มันก็เป็นประชาธิปไตย แต่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่จะต่อเนื่องและที่จะยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราต้องมองทุกๆ อย่าง ทั้งความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องของการสร้างประชาสังคมที่ให้เป็นหลักใหญ่ในการที่จะเป็นกลไกของการคานอำนาจซึ่งกันและกัน
ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพัฒนาประชาธิปไตย ผมไม่อยากจะมองการพัฒนาประชาธิปไตยคือพัฒนาการเมืองอย่างเดียว แต่มันต้องพัฒนาทั้ง 6 เสาหลัก มันขาดไปไม่ได้ ถ้าเผื่อเรามี 6 เสาหลักที่แข็งแรง ที่แข็งแกร่ง ที่ยึดติดอยู่กับพื้นที่อย่างแน่นหนา หรืออย่างแข็งแกร่งแล้ว ประชาธิปไตยถึงจะยั่งยืน
กรุณา – การปฏิรูปการเมืองจะตอบคำถามของเสาหลัก หรือ ไปอุดช่องว่างตรงไหนคะ
อานันท์ – อันนี้ก็แล้วแต่ว่าคณะกรรมการที่เสนอมา ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้ามองในด้านแคบ ก็เป็นการเสนอให้เริ่มต้นกลไกอันหนึ่งขึ้นมาก่อนเพื่อที่จะทำการศึกษาในเรื่องนี้ ส่วนจะศึกษาอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะให้เขามีอำนาจหน้าที่อย่างไร หรือถ้าเผื่อจะมองกว้างหน่อยก็คือว่า สร้างกลไกขึ้นมาเพื่อมาดูแลเรื่องสาระโดยตรงด้วย ผมยังไม่แน่ใจว่ามันเป็นอะไรกันแน่ อาจจะเป็นกึ่งกลางก็ได้ แต่อย่างน้อยมันเป็นการจุดประเด็นที่จะต้องมีกลไกอันหนึ่งจะออกมาในรูปไหนก็แล้วแต่ที่มาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ประเด็นก็อยู่ที่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพมันก็ไม่ได้ผิดหรือไม่ได้ไม่เหมาะสมอะไร แต่ปัญหาของสังคมขณะนี้คือ มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นความชอบธรรมของรัฐบาลนี้ มันก็เลยต้องเถียงกันว่าใครจะเป็นเจ้าภาพดี สิ่งเหล่านี้ผมว่า เรื่องคณะกรรมการอิสระคงจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างเงียบๆ ในระหว่างผู้ที่เสนอ กับผู้ที่สนใจมากกว่า
กรุณา – ทำไมต้องเงียบคะ
อานันท์ – เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน สองถ้าเกิดเถียงกันอย่างเละเทะในที่สาธารณะตลอดเวลาก็อาจจะมีคนเข้ามาร่วมอยู่ในวงพันคนแล้วคุณจะเอาอยู่ที่ไหน ที่ผมพูดว่าต้องเงียบๆ หน่อย ก็คือเป็นการส่วนตัว เป็นการคุยกันมากกว่าว่าต้องการอะไรแน่ จุดมุ่งหมายอยู่ที่ไหน และวิธีการจะใช้อะไร และจะดำเนินการโดยวิธีใด สิ่งเหล่านี้ผมยังไม่เคยได้พบกับท่านอธิการบดีทั้ง 24 ท่าน ผมก็เลยยังไม่ทราบแน่ แต่ในแง่ถ้าเผื่อผมหรือใครก็ตามที่สนใจในเรื่องนี้จริงจัง ก็คงจะต้องคุยกับเจ้าของเรื่องเขาหน่อยว่าเขาคิดยังไง เพราะที่ประกาศออกมาก็เป็นแถลงการณ์ซึ่งยังมีคำถามอีกหลายคำถาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในแนวทางผมคิดว่าไม่มีใครขัดข้อง
กรุณา – คุณอานันท์ยังไม่ได้รับการติดต่อใช่ไหมคะ
อานันท์ – ไม่มี ผมอยู่นอกวงราชการแล้ว
กรุณา – คุณอานันท์เคยเป็นตัวหลักในการปฏิรูปการเมืองหลักจากเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 และทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 บรรยากาศการเมืองในตอนนี้กับตอนโน้นค่อนข้างจะต่างกัน ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปการเมืองโดยมีการร่วมมือจากหลายฝ่ายที่หลากหลายเหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จะมีโอกาสอีกไหมคะ
อานันท์ – มันก็เป็นไปได้นะ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้วิกฤตทางการเมืองไทย ผมว่ามันรุนแรงมากกว่าครั้งใดๆ ในอดีต มันรุนแรงมากกว่าสมัยหลักพฤษภาทมิฬ รุนแรงมากกว่าตอนมีการผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และผมคิดว่ามันยากกว่า แต่คนที่อยากจะเข้ามาหรือคนที่มีความสนใจที่จะเห็นว่า การเมืองรูปเก่ามันใช้ไม่ได้เพราะมันไม่ได้ให้คำตอบ มันไม่ได้แก้ปัญหา คนก็พูดบอกว่าต้องมี “การเมืองใหม่”
แต่การเมืองใหม่โดยสาระแล้วผมว่ามันก็ยังกระจัดกระจายเกินไป ยังไม่เป็นกลุ่มก้อน ไม่มีการศึกษาที่แท้จริงว่าไอ้ที่เราพูดว่าการเมืองใหม่มันคืออะไรบ้าง เท่าที่ได้ยินมาก็บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของการเมืองอย่างเดียว มันต้องทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม เรื่องอีกมากมาย เรื่องการเงินอะไรแล้วแต่ แต่ผมว่าในปัจจุบันมันยังไม่ใช่เรื่องที่พูดกันในทางสาธารณะอย่างเดียว ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้พูดกันในทางสาธารณะนะ แต่มันต้องควบคู่ไปกับการปรึกษาหารือกันภายในด้วย ในระหว่างคนที่สนใจ ในระหว่างคนที่นึกอยากจะไปมีบทบาท
กรุณา – มีสองประเด็น สองปัจจัยที่ทางอธิการฯ บอกว่ามันจะไม่สำเร็จในเรื่องของการปฏิรูปทางการเมืองถ้าเกิดไม่มีสองอันนี้ อันที่หนึ่งก็คือ การได้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับ อันที่สองก็คือ คอมมิตเมนต์ (สัญญาประชาคม) หรือการที่รัฐบาลเอาด้วยกับเรื่องนี้ ถ้าเกิดไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้ไหมคะ
อานันท์ – ผมยังไม่รู้ว่าท่าทีรัฐบาลเป็นยังไง แต่ผมคิดว่าไอ้ทั้งหมดการที่จะออกมาเป็นเจ้าภาพมันไม่ยากอะไร แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม ถ้าเผื่อจะทำอะไร ถ้าเผื่อจะได้รับความนิยมชมชอบ มันจะต้องพิสูจน์ถึงความตั้งใจจริงและความพร้อมที่จะดำเนินการจริงจังด้วย มิใช่ว่าจะเป็นกลไกถ่วงเวลา หรือเป็นกลไกที่จะนำ ... ถ้าเผื่อไม่สนใจจริงก็อย่าออกมา แต่ถ้าเผื่อบอกสนใจจริง ก็คงจะต้องมีมาตรการอะไรที่ทำให้ประชาชน หรือสาธารณชนเขามีความรู้สึกว่า เออ เรื่องนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังนะ ไม่ใช่เล่นเป็นเกม อันนี้สำคัญมาก
ปัญหาใหญ่ๆ ขณะนี้ในสังคมไทยคือ มันขาดความเชื่อถือ ขาดความเชื่อมั่นน่ะมันขาดมานานแล้ว แต่ตอนหลังๆ นี่มันขาดความเชื่อถือกันจริงๆ เลย ใครพูดอะไรอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่เชื่อ
กรุณา – เราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองกันเยอะ จริงๆ แล้วการปฏิรูปการเมืองคืออะไร คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการที่ทำให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเราสามารถตรวจสอบได้ จริงๆ แล้วมันคืออะไรคะ
อานันท์ – ที่พูดเมื่อกี้มันเป็นประเด็นที่แคบไปหน่อยนะ ผมว่าการปฏิรูปการเมืองก็คือการนำไปสู่การเมืองที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ยั่งยืนและมั่นคง
กรุณา – ก็กลับไปถึงเสาหลัก 6-7 อย่างที่คุณอานันท์พูดถึงเมื่อครู่ใช่ไหมคะ
อานันท์ – นี่ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ได้มองเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวนะ ผมมองว่ารัฐธรรมนูญมันเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย หรือระบอบประชาธิปไตยของบางประเทศเขาก็ไม่มีรัฐธรรมนูญ เช่นอย่างอังกฤษเขาก็ไม่มี แต่เขาอาศัยจารีตประเพณี แล้วผมก็มองไม่เห็นว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดคุณดูทั่วโลกแล้ว ทุกประเทศเขาก็มีระบอบการเลือกตั้ง ระบบการนำเข้าสู่ภาคการเมืองมันก็แตกต่างกันไป
แต่ผมมองไปว่ามันยังขาดองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่ไม่ได้มีการพูดถึงหรืออาจจะไม่มีการศึกษาที่มีคำตอบที่แน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องการสร้างกระบวนการยุติธรรมใหม่ก็ดี แล้วก็ในเรื่องของความโปร่งใส เรื่องของความรับผิดชอบ (Accountability) ยังไม่มีการพูดถึงเท่าที่ควร แล้วก็เรื่องเสรีภาพของสื่อ การใช้สื่อของรัฐในทางที่จะให้ประโยชน์แก่สาธารณชนโดยแท้จริง
อย่างสื่อโทรทัศน์เนี่ย ช่อง 3 5 7 ถึงแม้จะเป็นของรัฐ เพราะรัฐเป็นเจ้าของ แต่รัฐก็ให้สัมปทานไปแล้ว เพราะฉะนั้นบริษัทการค้าเขาก็ไปทำธุรกิจ เขาก็อาจจะมีละครน้ำเน่า อาจจะมีเกมโชว์ อาจจะมีอะไรหลายต่อหลายอย่างที่คนในสังคมอาจจะไม่สนใจ แต่เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอเรื่องพวกนี้ เพราะเขาหากิน แต่ถ้าเผื่อมองสื่อของรัฐเนี่ย ทีวีของรัฐ ช่อง 9 ช่อง 11 มันก็น่าจะปรับให้ ช่อง 9 ช่อง 11 ไม่ใช่สื่อของรัฐนะครับ แต่เป็นสื่อของประชาชนที่แท้จริง เป็นสื่อที่รัฐจะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ทันท่วงที โดยสมบูรณ์ ให้กับประชาชน และเป็นการเสนอโดยไม่เลือกฝ่าย เป็นการเสนอแบบไม่ใช่เป็นกลางนะ แต่หมายความว่าเป็นการเสนอที่เรียกได้ว่า ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เห็นตรงกันก็จะต้องมาปรากฎตัว โดยทั่วถึงด้วย
กรุณา – แสดงว่าการปฏิรูปการเมืองตามความหมายคุณอานันท์จะกว้างไกล จะครอบคลุมมากกว่าเรื่องเฉพาะ ปี 2540 อาจจะมากกว่านั้น แต่เราอาจจะจำได้เฉพาะเรื่องของการมีรัฐธรรมนูญเท่านั้น
อานันท์ – ใช่ ... แล้วระยะเวลามันพิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญให้มันดีอย่างไร คุณจะเขียนรัฐธรรมนูญให้มันมีช่องโหว่น้อยที่สุดอย่างไร ขีดความสามารถของคน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือแม้แต่ประชาชน พ่อค้า ที่จะบิดเบือนรัฐธรรมนูญนั้นมันมีมาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้เลยว่า ตอนรัฐธรรมนูญ 2540 ออกมา ทุกคนตื่นเต้นมากว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เปิดเวทีการเมืองภาคประชาชนขึ้นมา มีกลไกในการตรวจสอบฐานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริงมันอีกเรื่องนึงเลย รัฐธรรมนูญ 2550 ตอนที่เขียนขึ้นมาก็มีคนพูดกันบอกว่า ที่เขียนออกมานี่มันรัดกุมมากเลย ต่อไปนี้นักการเมืองโกงกินไม่ได้ ต่อไปนี้นักการเมืองคอร์รัปชั่นไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีผล
สัจธรรมในเรื่องนี้คือว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สำคัญ การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญขาดไปไม่ได้ ในระบอบประชาธิปไตยถ้าเผื่อไม่มีรัฐธรรมนูญ ในแง่ของประเทศที่ไม่ได้ใช้จารีตประเพณีนะ หรือไม่มีการเลือกตั้งนะ ก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ แต่การเลือกตั้งมันมีหลายระบบ มันมีหลายวิธีการ รัฐธรรมนูญก็มีวิธีเขียนหลายอย่าง เขียนสั้น เขียนยาว เขียนรัดกุม เขียนให้มันมีความยืดหยุ่น สิ่งเหล่านี้ก็คงจะต้องมีการพูดกันอีก แต่มันไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเท่านั้นนะ แต่มันมีอีก 4-5 อย่างที่ต้องดูแลอย่างจริงๆ มิฉะนั้นแล้วประชาธิปไตยก็จะล้มลุกคลุกคลานอย่างที่เป็นมา 70 กว่าปี เกือบ 80 ปีของเมืองไทย มันก็เป็นวงจรเก่า
ทีนี้อีกสิ่งหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดกันก็คือถ้าปฏิรูป ผมว่าต้องปฏิรูปพรรคการเมืองนะ ไอ้กฎเกณฑ์ของการตั้งพรรคการเมืองก็ดี กติกาของการกำกับดูแลพรรคการเมืองก็ดี เพราะพรรคการเมืองของเมืองไทยขณะนี้ มันเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มพรรคพวกเดียวกันมากกว่า ในพรรคหนึ่งก็อาจจะมีหลายแก๊ง 5 แก๊ง 6 แก๊ง พรรคการเมืองปัจจุบันนี่ยังเรียกว่าพัฒนาตัวเองขึ้นมามากพอใช้ แต่ยังไม่ใช่พรรคการเมืองที่คนเข้ามารวมกันเพราะว่ามีความเห็นชอบในนโยบายพร้อมกัน มันยังเป็นเรื่องของหัวหน้า ผู้นำกำหนดนโยบายแล้วคนอื่นก็เข้ามาแฝงตัวไว้เท่านั้น ผมว่าถ้าเผื่อเราไม่มองดูถึงตัวนักการเมืองเอง พรรคการเมืองเอง เราก็จะมีปัญหาต่อไป
กรุณา – แต่งานแบบนี้นักการเมืองอาจจะไม่เห็นด้วยที่จะมาปรับเปลี่ยนแก้ไข งานนี้ใครควรจะเป็นเจ้าภาพ งานใหญ่ขนาดนี้ใครควรจะเข้ามามีส่วนร่วมคะ
อานันท์ – อันนี้ผมคงตอบไม่ได้นะ เพราะว่าผมค่อนข้างจะห่างจากข้อมูลข่าวสาร เพราะว่าผมไม่ได้คลุกคลีกับนักการเมือง ผมไม่ได้คลุกคลีกับพวกอธิการบดีนะ ผมไม่รู้ว่าต่างคนต่างคิดกันอย่างไร แต่ผมคิดว่าคนที่เขามีข้อเสนอแนะมาในอดีตเขาก็จะคุยกัน
กรุณา – ถ้าปราศจากการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล จากฝ่ายการเมืองจะเกิดขึ้นได้ไหมคะ
อานันท์ – ผมมองอย่างนี้ว่า การที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ผมมองว่า หนึ่ง รัฐบาลไม่มายุ่งในเรื่องสาระใช่ไหม แต่รัฐบาลต้องหางบประมาณไว้ให้ คุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ คุณจะมีคณะกรรมการ 30 คน คุณจะมีสภาร่าง 100 คน มันต้องมีเงินใช้
กรุณา – นี่คือบทที่รัฐบาลจะต้องเล่นใช่หรือเปล่า
อานันท์ – เหมือนอย่างที่ตอนคุณทักษิณ (ชินวัตร) เชิญให้ผมไปทำคณะกรรมการสมานฉันท์ภาคใต้ เดิมทีคุณทักษิณก็มองเหตุการณ์หรือมองปัญหาคนละแง่กับผมเลย จนกระทั่งผมได้คุยกันเรียบร้อยแล้ว เอ้ย มันต้องเข้ามาใกล้ๆ กันหน่อยมันถึงจะพูดกันรู้เรื่อง แล้วคุณทักษิณก็ดีที่จัดงบประมาณให้ตามที่ผมขอ แล้วก็คณะกรรมการก็มีอำนาจเรียกคน เรียกเอกสารอะไร แต่สุดท้ายแล้วคุณทักษิณก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้จริงจังนะฮะ เพราะตอนเราเสนอรายงานไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไร
เพราะฉะนั้นมันมีหลายขั้นตอน แต่อันแรกที่จำเป็นที่สุดจะเป็นรัฐบาลตั้ง หรือสภาตั้งก็แล้วแต่ จะต้องเป็นคนที่มีอำนาจอนุมัติ หนึ่ง อนุมัติเรื่องงบประมาณ โสหุ้ยในการใช้จัดประชุม ใช้การไปพบปะราษฎรต่างๆ สอง คือ เรื่องของการที่หน่วยราชการจะต้องให้ความร่วมมือด้วย เพราะฉะนั้นเจ้าภาพมันหลีกเลี่ยงไปไม่ได้มันต้องเป็นรัฐบาล หรือ สภา พูดกันง่ายๆ แต่หมายความว่า สาระก็เป็นเรื่องของการทำงานโดยอิสระมากกว่า
กรุณา – สุดท้ายนี้เรื่องการเมือง ถ้าเกิดไม่มีการปฏิรูปการเมือง แล้วก็บางคนบอกว่าก็ปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้ไปกับระบบที่เราเป็นอยู่ แล้วสักวันการเมืองจะเปลี่ยนแปลงเอง
อานันท์ – แต่คนไทยเป็นคนใจร้อนไง ประชาธิปไตยประเทศอื่นเขาทำกันมาร้อยปี สองร้อยปี แต่ที่ร้ายที่สุด ประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วใช้เวลาหนึ่งร้อยปี สองร้อยปี ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ กลับมามองเห็นว่าไทยเราต้องทำให้เสร็จภายในพรุ่งนี้ อันนี้มันเป็นปัญหาที่ผมเองก็ปวดหัวเพราะผมเองไปเรียนอยู่ที่อังกฤษ 7 ปี แล้วผมไปอยู่อเมริกาตั้ง 12 ปี ในสมัยที่รับราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผมคิดว่าผมเป็นคนที่เข้าใจวิธีคิดของพวกฝรั่งเขาเหมือนกันล่ะ แต่ตอนหลังๆ นี้ผมชักงงแล้วว่าฝรั่งนี่เขาคิดกันยังไง
คือมองกันอย่างง่ายๆ ตอนที่มีระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกานี่ สองร้อยกว่าปีแล้วเกินสองร้อยห้าสิบปีมาแล้ว คนผิวดำเพิ่งได้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1964 คือเมื่อประมาณ 44 ปีมานี้เอง เพราะฉะนั้นก่อนหน้าที่เขาหลงใหลว่าเขามีประชาธิปไตยนี่เขาตัดสิทธิ์คนผิวดำไม่รู้กี่สิบล้านคนในประเทศเขาเอง แต่ตอนนั้นไม่มีใครใหญ่พอที่จะไปว่าเขา ว่าทำไมไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ หรือแม้แต่ในอังกฤษ สหราชอาณาจักรนี่ เมืองไทยเราเองมีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือ กษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ที่เขาเรียกว่า Constitutional Monarchy เรามีเมื่อปี พ.ศ.2475 แต่อังกฤษเองเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งเพียงเมื่อ 4 ปีก่อน 2475 เพราะฉะนั้นอังกฤษเองก็ไม่ได้ว่าเปิดมาเป็นชาติอังกฤษมีระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์
ของเราก็เช่นเดียวกัน บางครั้งมันก็ต้องเดินช้าไปหน่อย บางครั้งอาจจะเดินถอยหลังหนึ่งก้าว แต่เดินหน้าสามก้าว แต่อย่างน้อยแนวทางต้องเดินก้าวหน้าไปอีกเรื่อยๆ และจะต้องรักษาหลักการของประชาธิปไตยเอาไว้ แต่จะมาบอกว่าเราจะต้องเป็นประชาธิปไตยในวันนี้หรือในวันพรุ่งนี้ ผมว่าเขาพูดแบบเอาเปรียบ หรือ เขาใช้สองมาตรฐานมาตลอดเวลา