ผู้จัดการออนไลน์ – สามเกลอเปลี่ยนท่าที หนุนแนวคิด “ปฏิรูปการเมือง” ของ 24 อธิการบดี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไล่ให้ไปฟัง สนนท.ไม่วายไล่กัดนักวิชาการอาวุโส ดร.สุรพล-ดร.อาทิตย์-ดร.ชัยอนันต์ ไล่หาประธานคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการเมือง “จตุพร” ชู “อุทัย พิมพ์ใจชน”
วานนี้ (29 ก.ย.) รายการความจริงวันนี้ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งดำเนินรายการโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่มีข่าวว่าได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีวานนี้ ไม่ได้มาดำเนินรายการ แต่มี นายก่อแก้ว พิกุลทอง หนึ่งในผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวีและหนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ รุ่น 2 (นปก.2) มาร่วมรายการแทน
ในช่วงต้นของรายการได้มีการเสนอให้ผู้ชมทางบ้านโหวต ว่า “เห็นด้วยกับข้อเสนอการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือไม่?”
จากนั้น นายวีระ ได้กล่าวถึงข้อเสนอเรื่อง “การปฏิรูปการเมือง” ของ อธิการบดี 24 มหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงของชาติอย่างเร่งด่วน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองโดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง” ทั้งนี้ นายวีระ กล่าวว่า ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอรายชื่อ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการอิสระดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นายวีระ ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ ศ.ดร.สุรพล อธิการบดี มธ.และ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต
โดยพยายามโจมตีว่า ศ.ดร.สุรพล นั้น เข้าไปร่วมมือกับ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หลังการปฏิรูป 19 กันยายน 2549 ซึ่งพวกตนเห็นว่าเป็นพวกเผด็จการ
“ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นี่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บทบาทของท่านเป็นที่เลื่องลือว่าจุดยืนทางการเมืองของท่านออกจะแปร่งๆ ชอบกล ออกนอกแนวทางที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยดำเนินมา 75 ปี นั่นก็คือ การพูดการจา การแสดงความคิด ความเห็นและบทบาท เน้นไปในทางร่วมกับเผด็จการ คมช.” นายวีระ กล่าว พร้อมกับพยายาม กล่าวว่า การที่ ศ.ดร.สุรพล ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองใหม่หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เพียง 7 เดือนนั้น แสดงว่า การทำรัฐประหารและการปฏิรูปทางการเมืองโดยทหารนั้นล้มเหลวใช่หรือไม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น นายวีระ ไม่ได้กล่าวเลยว่า ดร.สุรพล ไม่ได้ร่วมทำรัฐประหาร เพียงแต่รับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เท่านั้น ขณะที่ความล้มเหลวของการเมืองหลังจากการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งเป็นที่มาของ รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นความล้มเหลวหลักก็เกิดจาก การที่นักการเมืองยังติดอยู่กับวัฏจักรการเมืองเก่าๆ นั่นคือ ซื้อเสียง คอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ลุแก่อำนาจ และไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น
ในส่วนของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวีระได้กล่าวโจมตีว่า ดร.อาทิตย์ไร้จุดเด่นทางด้านการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ว่า หลังจากที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยอมลงจากตำแหน่งแล้ว ดร.อาทิตย์ ในฐานะประธานสภา แทนที่จะเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย กลับเสนอชื่อเอาคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
“ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า คนเขานองเลือดกันมาหยกๆ ต่อสู้กันว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. พอสภาเปิดโอกาสดันไปเอาคนนอกมาซะนี่ และท่านกลับได้รับการขนานนามว่าวีรบุรุษประชาธิปไตย” นายวีระกล่าว และว่า นี่เป็นสาเหตุที่ ดร.อาทิตย์ ถอนตัวจากแวดวงการเมืองไปทำงานให้ ม.รังสิต ซึ่งเมื่อปี 2550 ก็เพิ่งมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ
ต่อมา นายวีระ ได้กล่าวว่า แนวคิดที่อธิการบดี 24 สถาบัน เสนอขึ้นมานั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เสนอขึ้นมาก่อนแล้ว ทว่า เมื่อคณะอธิการบดีเสนอเรื่องการเมืองใหม่ขึ้นมาพวกตนก็ยินดีที่จะรับฟัง แต่ก็อยากตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องมาเสนอในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับ การเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย และกล่าวต่อว่า อธิการบดีเหล่านี้ไม่มีบทบาทระหว่างการรัฐประหารของ คมช.
ด้าน นายก่อแก้ว นปก.รุ่น 2 กล่าวต่อว่า ตนยอมรับการปฏิรูปการเมือง แต่ไม่ยอมรับการเมืองใหม่ โดยระบุว่าการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ไม่มีอยู่จริง พันธมิตรฯ เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี กล่าวคือ ในการเลือกตั้งปลายปี 2550 กฎกติกา กรรมการก็เป็นฝั่งพันธมิตรฯ หมด แต่เมื่อแพ้การเลือกตั้งแล้ว ก็มาหาว่ามีการซื้อเสียง มีการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล
“(พันธมิตรฯ) รีบเสนอเรื่องการเมืองใหม่ ให้มันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต คนมองเข้าไปแล้วจะได้ลืมว่าพวกนี้คือผู้ต้องหาคดีกบฏ” นายวีระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายก่อแก้ว และผู้ดำเนินรายการอีกสองคนกลับปฏิเสธที่จะกล่าวถึง ข้อเท็จจริงที่ว่ากรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช และพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งถูกศาลเลือกตั้งตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริงกรณีทุจริตการซื้อเสียง ซึ่งส่งผลให้พรรคชาติไทย มัชฌิมา และพรรคพลังประชาชนกำลังจะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว
ต่อมา นายวีระ ได้กล่าวถึง กรณีที่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักรัฐศาสตร์อาวุโสและอดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาส่วนตัวของคนเพียงคนเดียว แต่โดยพื้นฐานสังคมไทยแล้วยังดีอยู่ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทว่า ไม่คิดว่าข้อเสนอของอธิการบดี 24 สถาบันจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ว่า นายชัยอนันต์ นั้น ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวทางของพันธมิตรฯ อยู่แล้ว เพราะมีความสนิทสนมกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล มาอย่างยาวนาน
จากนั้นทั้ง 3 คน ได้พยายามถกเถียงถึงการตั้งประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครองว่า มีหลายชื่อที่เป็นไปได้ เช่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ระพี สาคริก นายอานันท์ ปันยารชุน โดยนายวีระกล่าวปฏิเสธว่านายอานันท์นั้นไม่เหมาะสม
“ไม่ใช่ไปเอายาดำมาอีกอันนะ นึกออกไหม พอคว้าใครไม่ได้ ก็ไปคว้า อานันท์ ปันยารชุน” เจ้าของฉายาไข่มุกดำ กล่าว ขณะที่ นายจตุพร กล่าวว่า ตนสนับสนุน นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และ ส.ส.พรรคไทยรักไทย
ตอนท้ายรายการ พิธีกรทั้ง 3 คน ระบุว่า หากมีการตั้งคณะกรรมการอิสระชุดดังกล่าวขึ้นมาจริง แม้จะเกิดการยุบสภา คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ต้องดำเนินหน้าปฏิรูปการเมืองต่อไป โดยแนวทางปฏิรูปการเมืองใหม่ที่ทั้งสามคนแสดงความเห็นด้วยนั้นคือแนวทางของกลุ่มนักศึกษา สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เป็นต้น ที่มีแนวคิดหลักๆ คือ เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ยกเลิกวุฒิสภา นอกจากนี้ ยังลดอำนาจของ ศาลและทหาร สร้างรัฐสวัสดิการ เก็บภาษีมรดกและทำการปฏิรูปที่ดิน (อ่าน : ข้อเสนอการเมืองใหม่ของ สนนท.จากเว็บไซต์ประชาไท)