xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนฯมหานครขึ้นมหา’ลัยอันดับ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.เทคโนโลยีมหานคร ขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศจากการประเมินของ สมศ.ทำคะแนนเต็มในมาตรฐานหลายข้อ มั่นใจคุณภาพบัณฑิตไม่เป็นรอง ม.อื่น “อธิการบดี” ตั้งเป้าอยู่ในอันดับ 15-25 ในภูมิภาคเอเชียภายใน 4-5 ปีนี้ จี้รัฐบาลให้ความสนใจคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา สถาบันต้องมีความพร้อมจึงค่อยให้เปิดหลักสูตรพิเศษได้ ขณะที่ ม.รังสิตก็ไม่ธรรมดาสามารถทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงถึง 4.62 “ดร.อาทิตย์” ประกาศเดินหน้าพัฒนาไม่หยุด พร้อมจี้รัฐแก้เกณฑ์การให้ทุนวิจัย เลิกผูกขาดเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ ชี้การศึกษาคือรากแก้วของชาติ การที่ประเทศชาติจะเข้มแข็งได้ การศึกษาจะต้องเข้มแข็งก่อน

ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. รอบสอง ในกลุ่ม 1 เน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย ระดับสถาบัน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 พบว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครมีผลคะแนนอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศเหนือมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนแห่งอื่นในประเทศ โดยสามารถทำคะแนนเต็ม 5 ในมาตรฐานที่ 1 คุณภาพบัณฑิต มาตรฐานที่ 2 งานวิจัย มาตรฐานที่ 3 บริการวิชาการ และมาตรฐานที่ 4 ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งในกลุ่มมาตรฐานที่ 1-4 นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครสามารถทำคะแนนเฉลี่ยได้เต็ม 5 คะแนน

ส่วนในมาตรฐานที่ 5 พัฒนาสถาบันและบุคลากร ได้คะแนน 4.55 คะแนน มาตรฐานที่ 6 หลักสูตรและการสอน ได้คะแนน 4.33 คะแนน และมาตรฐานที่ 7 ประกันคุณภาพ ได้คะแนนเต็ม 5 คะแนน ทำให้คะแนนมาตรฐาน 1-7 ได้คะแนนเฉลี่ย 4.86 ผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก และผ่านการรับรองการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ยังมีผลคะแนนเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์ โดยในมาตรฐานที่ 1 คุณภาพบัณฑิต มาตรฐานที่ 2 งานวิจัย มาตรฐานที่ 3 บริการวิชาการ สามารถทำคะแนนได้เต็ม 5 คะแนน ส่วนมาตรฐานที่ 4 ได้คะแนน 4 คะแนน มีผลคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มมาตรฐานที่ 1-4 เท่ากับ 4.9 คะแนน สำหรับมาตรฐานที่ 5 พัฒนาสถาบันและบุคลากร ได้คะแนน 4.64 คะแนน มาตรฐานที่ 6 หลักสูตรและการสอน ได้คะแนน 4.45 คะแนน และมาตรฐานที่ 7 ประกันคุณภาพ ได้คะแนนเต็ม 5 คะแนน คะแนนเฉลี่ยมาตรฐานที่ 1-7 มีคะแนน 4.82 คะแนน ผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก ผ่านการรับรองคุณภาพภายนอกรอบสอง

ดร.สุเจตน์ กล่าว่า นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครก่อตั้ง มีปณิธานชัดเจนว่าก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการวิจัย และการเรียนการสอน เป็นนโยบายที่ยึดถือมาตั้งแต่สมัย ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครได้คะแนนการประเมินด้านคุณภาพบัณฑิตจาก สมศ.สูงนั้น เพราะเมื่อนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้ามาเรียนในสถาบัน จะต้องปูฐานความรู้ใหม่ทั้งหมด และเรามีอาจารย์ที่มีคุณภาพมาทำการสอน โดยอาจารย์ที่จะมาสอนนักศึกษาต้องมีผลงานวิจัย การสอนต้องไม่ใช่เปิดสอนตามหนังสือ ไม่เช่นนั้นเด็กก็จะไม่ได้ความรู้ที่แท้จริง

“บัณฑิตที่จะจบการศึกษาออกไปได้นั้น เราต้องมั่นใจว่าได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ออกไป โดยทุกคนต้องผ่านการทำโครงงานวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมทั้งต้องเข้าสอบด้านทฤษฎี และการนำเสนอ โดยต้องตอบคำถามกับอาจารย์ผู้สอน ซึ่งคำถามที่ใช้สอบนักศึกษาจะเป็นคำถามเจาะลึกในเนื้อหา นักศึกษาต้องมีความรู้จริงจึงจะตอบได้ เราจึงมั่นใจว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครทุกคนมีคุณภาพและมาตรฐานแน่นอน”

ดร.สุเจตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนคะแนนจากงานวิจัยซึ่งได้เต็มเช่นกันนั้น เราเน้นเสมอว่าอาจารย์ต้องมีความรู้ความสามารถ แม้ว่าจะจบปริญญาเอกมาแล้วก็ต้องทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยการประเมินค่าตอบแทนผู้สอนก็จะพิจารณาจากงานวิจัยเป็นส่วนประกอบด้วย นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังสร้างบรรยากาศในการพัฒนางานวิจัย และสนับสนุนเครื่องมืออย่างเต็มที่ หากบุคลากรต้องการเครื่องมือเพื่อใช้ในการทำวิจัย เราก็พร้อมจัดซื้อให้ทันที เป็นผลให้เรามีผลงานวิจัยจำนวนมากนำเสนอในที่ประชุม และวารสารทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปที่คุณภาพของนักศึกษา ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แม้ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยี นอกจากเราจะให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังสอดแทรกเข้าไปในวิชาการเรียนการสอนด้วย เพราะเชื่อว่าหากบัณฑิตจบออกไปโดยไม่มีความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมก็อยู่ในสังคมไม่ได้ หรือการผลิตงานวิจัยต่างๆ ก็สามารถพ่วงเข้ากับเรื่องศิลปวัฒนธรรมได้เช่นกัน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวอีกว่า สำหรับคะแนนด้านการพัฒนาบุคลากรที่ยังไม่ได้เต็มนั้น สมศ.มีเกณฑ์เรื่องอัตราส่วนผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ และวุฒิการศึกษา ซึ่งขณะนี้เราเร่งผลักดันให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยฯ ขอตำแหน่งทางวิชาการให้มากขึ้น และส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อเพิ่มเติม คาดว่าจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นในการประเมินครั้งต่อไป ส่วนการประเมินมาตรฐานเรื่องหลักสูตรและการสอนนั้น ตนเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของ สมศ.ที่พิจารณาจากค่าใช้จ่ายของนักศึกษาต่อปี ซึ่งการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายไม่น่าจะนำมาเป็นตัววัดมาตรฐานเรื่องหลักสูตรและการสอน

“เราตั้งเป้าว่าภายใน 4-5 ปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครจะต้องอยู่ในอันดับ 15-25 ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับสากลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่งานวิจัยของสถาบันต้องถูกเผยแพร่ในระดับสากล”

อธิการบดี ม.มหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรให้ความสนใจเรื่องคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้น การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรต้องพิจารณาถึงความพร้อมของสถาบัน แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งโดยเฉพาะของรัฐ เปิดหลักสูตรแล้วไม่มีความพร้อม และต้องใช้อาจารย์พิเศษช่วยสอน กลายเป็นการเปิดหลักสูตรเป็นธุรกิจ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนได้แข่งขันด้วยเกณฑ์เดียวกัน เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยของเอกชนหลายแห่งมีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ

**ม.รังสิตพอใจคะแนน
จี้รัฐแก้เกณฑ์ให้ทุนวิจัย

ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ม.มหาวิทยาลัยรังสิตเนื่องจากสามารถทำคะแนนได้ถึง 4.62 จากคะแนนเต็ม 5 ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) องค์กรมหาชน

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า การที่ ม.รังสิตสามารถทำคะแนนรวมได้สูงถึง 4.62 ถือเป็นคะแนนที่ทางมหาวิทยาลัยพอใจ และจะต้องพยายามต่อไปเพื่อทำคะแนนให้ได้สูงกว่านี้ โดยเป้าหมายสูงสุดก็คือคะแนนเต็ม 5 ซึ่งไม่เพียงแค่ ม.รังสิตเท่านั้น มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จะต้องพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาเป็นอันดับแรก

สำหรับเรื่องคุณภาพบัณฑิต มหาวิทยาลัยได้คะแนน 4.88 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังไม่พอใจและจะต้องทำให้ได้คะแนนเต็ม 5 ให้ได้เช่นกัน ส่วนเรื่องงานวิจัยต้องยอมรับความจริงว่า มหาวิทยาลัยเอกชนด้อยกว่ามหาวิทยาลัยภาครัฐค่อนข้างมาก เนื่องจากมีงบประมาณค่อนข้างน้อย โดยม.รังสิตเองใช้งบสำหรับงานวิจัยอยู่ที่ประมาณปีละ 9-10 ล้านบาทเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว อาจารย์จึงต้องขวนขวายหางบประมาณจากภายนอกเอาเอง ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ก็ตกอยู่ที่ราว 60 ล้านบาท

“ผมคิดว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุนในเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย โดยต้องแก้กฎเกณฑ์ในการให้ทุนเสียใหม่ เพราะการอนุมัติงบจะให้เฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเอกชนต้องไปร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยรัฐ ไปขอใช้ชื่อร่วมกับเขา ทั้งๆ ที่บางงานวิจัย เราเป็นตัวหลักในการทำด้วยซ้ำไป”

ขณะที่ทางด้านบุคลากร ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้บุคลากรได้แสวงหาความรู้เพิ่มมากขึ้นผ่านการให้ทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ทุน พร้อมทั้งให้อาจารย์พัฒนาองค์ความรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เช่น การสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อให้ได้ตำแหน่งวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นผศ.หรือรศ. ซึ่งจะทำให้ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

ดร.อาทิตย์ให้ความเห็นถึงปัญหาการศึกษาของชาติด้วยว่า การศึกษาทุกระดับมีความสำคัญ เช่น ในขั้นพื้นฐานต้องทำให้ระบบการเรียนการสอนและครูมีคุณภาพสูงสุด ไม่ใช่ไปมุ่งเน้นเรื่องวัตถุอย่างการซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียน ต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และต้องทำให้ทุกคนได้เรียนฟรีจริง ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ไม่จริงอย่างที่ประกาศเอาไว้

ขณะที่ในระดับอุดมศึกษา ต้องมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญเช่นกัน ไม่ใช่คำนึงปริมาณเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าการได้ปริญญามานั้นได้มาถูกต้องหรือไม่ มีการโกง มีการปลอมหรือไม่

“การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญต่อประเทศชาติในทุกๆ ด้าน เป็นรากแก้วของชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การที่ประเทศชาติจะเข้มแข็งได้ การศึกษาจะต้องเข้มแข็งก่อน”ดร.อาทิตย์สรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น