“ปธ.สภาผู้แทนฯ” โล่ง กกต.มีมติยกคำร้องขาดคุณสมบัติ ส.ส.ระบุ การได้รับประทานบัตรระเบิดหินในที่ดินตัวเอง ไม่เข้าข่ายเป็นสัมปทานกับรัฐ ด้าน “ประพันธ์” ชี้ ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นบริษัทเอกชนอย่าเพิ่งดีใจ เหตุคนละลักษณะใช้บรรทัดฐานเดียวกันไม่ได้
วันนี้ (9 ก.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุมกกต.ที่มีการพิจารณาสำนวนคำร้องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ขอให้พิจารณาวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ของ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเนื่องมาจากคู่สมรสถือหุ้นในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ว่า กกต.มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เห็นควรให้ยกคำร้องตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอมา เนื่องจากบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่ภรรยาของ นายชัย ถือหุ้นอยู่นั้น มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 ขณะเดียวกัน ประทานบัตรที่บริษัทได้รับ ก็ได้รับตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 เป็นเสมือนใบอนุญาตให้เอกชนเข้าดำเนินกิจกรรม โดยผู้ขอต้องเสียค่าธรรมเนียม ต่างกับการขอสัมปทานจากรัฐ เช่น การขุดเจาะปิโตรเลียม หรือการขอสัมปทานเก็บรังนก ที่จะถือว่าเข้าข่ายเป็นสัมปทาน
“การดำเนินการของบริษัท ศิลาชัยฯ เป็นการขอประทานบัตร เพื่อระเบิดหินในพื้นที่ดินของเอกชน ซึ่งกรณีนี้เป็นที่ดินของตัวเองกว่า 100 ไร่ และมีการดำเนินการมาก่อนที่ นายชัย จะเข้ามาเป็นประธานสภาฯ ขณะเดียวกัน ในที่ดินบริเวณดังกล่าวก็ยังมีเอกชนรายอื่นขอประทานบัตรระเบิดหินในลักษณะเดียวกันอีกนับ 10 บริษัท จึงไม่เข้าข่ายการผูกขาด ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายที่ว่าบุคคลในครอบครัว คือ สามี ภรรยา บุตร ถือหุ้นหรือบริษัทสัมปทานจากรัฐ ที่ประชุมเสียงข้างมา 3 ต่อ 2 จึงมีมติยกคำร้อง โดยเสียงข้างน้อยมีความเห็นให้สอบสวนเพิ่มเติม”
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า กรณีของ นายชัย คงจะไปใช้เทียบเคียงการสอบสวนการถือหุ้นของส.ส.และ ส.ว.ที่มีการร้องเข้ามายัง กกต.ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการถือหุ้นคนละลักษณะ และคณะอนุกรรมการที่ กกต.ตั้งขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงก็กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ เนื่องจากมีข้อมูลจำนวนมากที่จะต้องสอบเป็นรายบุคคลคงต้องรออีกระยะหนึ่ง
ด้าน นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า 3 เสียงข้างมาก ตนเอง นายประพันธ์ และ นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง โดยในส่วนของตนเห็นตามที่อนุฯ เสนอยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า กรณีสัมปทานนั้นเป็นการไปขออนุญาตประกอบกิจกรรมในที่ดินที่เป็นของหลวง ขณะที่ประทานบัตรเป็นการขออนุญาตในที่ดินที่เป็นของตนเอง ซึ่งในชั้นการสอบสวนของคณะอนุฯ เสียงข้างมากก็เสนอให้ยกคำร้องเช่นกัน
ส่วน นางสดศรี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ติดใจ เพราะถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์รับสัมปทานจากรัฐ แต่เป็นลักษณะของการขอประทานบัตร เป็นการขออนุญาตรัฐที่กฎหมายกำหนดให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของตนเองที่มีแร่ และตนก็เห็นตามที่คณะอนุฯ 4 ต่อ 1 เสนอให้ยกคำร้อง ส่วนเสียงข้างน้อยของคณะอนุฯ ขอให้สอบหาพยานหลักฐานเพิ่ม และ กกต.เสียงข้างน้อยก็มีความเห็นให้สอบเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลเครือญาติ นายชัย ซึ่งคิดว่าความเห็นคงไม่ต่างจากพยานของฝ่ายผู้ถูกร้องมากสักเท่าไร