xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชูพันธมิตรยึดทำเนียบไม่เกินเหตุ-จวก NBT ไร้จิตวิญญาณสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรัส สุวรรณมาลา
อาจารย์จุฬาฯ ชี้พันธมิตรฯ ชุมนุมอย่างสันติเกือบ 100 วัน เป็นความก้าวหน้าการเมืองภาคประชาชน ระบุยึดทำเนียบในต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ แนะทางออก สภาต้องล้มเลิกแก้ ม.237 และ 309 ต้นตอปัญหา ติงเอ็นบีที แพร่ภาพโดนบุกยึด ไม่ให้ข้อมูลรอบด้าน ทำ ปชช.เข้าใจผิด เตือน ผอ.สถานีอย่าเลือกแต่คนหน้าสวย-หล่อแต่ไร้จิตวิญญาณสื่อมาเป็นผู้ประกาศ จวกเป็น พนง.บริษัทเอกชนมาใช้สื่อของรัฐกล่าวโทษคนอื่นอย่างไร้ความรับผิดชอบ

วันนี้(28ส.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประชุมหารือด่วนของนักวิชาการจากหลากหลายสาขาและสถาบันเพื่อร่วมหาทางออกวิกฤตสังคมไทย ผู้เข้าร่วมหารือ อาทิ ศ. ดร.จรัส สุวรรณมาลา ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ดร.สุริชัย หวันแก้ว ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ดร.ไชยันต์ ไชยพร ดร.วีระ สมบูรณ์ ดร.นฤมล ทับจุมพล ฯลฯ

หลังจากนั้นได้จัดให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีนายจรัส สุวรรณมาลา นายสุรัตน์ โหราชัยกุล นายไชยันต์ ไชยพร นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ นางสุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ นางสุภาวดี มิตรสมหวัง คณะสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าว

นายจรัส กล่าวว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมานักวิชาการจากหลายสถาบันได้ร่วมหารือต่อสถานการณ์บ้านเมืองและได้ข้อสรุปว่า กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกือบ 100 วันที่ผ่านมา แสดงถึงพัฒนาการทางการเมืองภาคประชาชนที่มีการพัฒนาขึ้นไปมาก มีการต่อสู้อย่างสันติวิธี ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ใช้กำลังเข้าปราบปราม จึงถือเป็นพัฒนาการด้านบวกที่จะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในอนาคต

ส่วนเหตุการณ์การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีและทำเนียบรัฐบาล นายจรัสกล่าวว่าแม้ว่าสังคมไทยจะมองว่าการยึดสถานที่ราชการเป็นความรุนแรงแต่ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องธรรมดา การประท้วงของบางประเทศมีการตัดน้ำ ตัดไฟ ยึดสถานที่ราชการ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องเลยเถิด อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงต้องยอมรับว่าเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายจากการต่อสู้แบบอารยะขัดขืนก็ต้องกล้ายอมรับกับผลของการกระทำที่จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดี

นายจรัส กล่าวอีกว่า นักวิชาการขอเรียกร้องให้สถาบันหลักทางการเมือง เช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง ออกมามีบทบาทในการคลี่คลายปัญหาครั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นจากรัฐสภา ดังนั้น จึงควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศด้วยการเปิดอภิปรายเพื่อร่วมกันหางทางออกให้กับปัญหาหรือให้รัฐสภาแสดงออกอย่างเร่งด่วนถึงการชะลอหรือล้มเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราโดยเฉพาะมาตรา 237 และ 309 ซึ่งเป็นชนวนของความขัดแย้งครั้งนี้ อย่ายืนอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้ 2 ฝ่ายแก้ปัญหากันเองเพราะจะมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรง ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ถึงทางตัน

สำหรับสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้กำลังหรือความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ติดตามข่าวสารจากฟรีทีวีช่องต่างๆ พบว่ายังนำเสนอแต่รายการบันเทิง ซึ่งควรเปิดพื้นที่ข่าวให้มากขึ้น

นายจรัส กล่าวอีกว่า ในส่วนของรัฐบาลขอเรียกร้องให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ใช้หลักกฎหมายในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดแต่ควรเป็นกฎหมายที่สมควรแก่เหตุ การตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินไปไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่จะเป็นการยั่วยุให้อีกฝ่ายโกรธแค้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรง

นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อ โดยต้องให้สื่อทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และต้องหลีกเลี่ยงการใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล สำหรับพันธมิตรต้องยึดหลักการต่อสู้อย่างสันติวิธีให้ถึงที่สุด เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองภาคประชาชน

ในส่วนของนักวิชาการจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ส.ค.นี้ จะมีการจัดเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นเพื่อร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ต่อกรณีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้แกนนำพันธมิตรฯ ย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล นายไชยันต์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล แกนนำก็ต้องปฏิบัติตามเพราะคำสั่งศาลต้องเป็นที่สุดของทุกเรื่อง และทุกฝ่ายหากไม่ปฏิบัติตามบ้านเมืองจะไม่มีกติกา อย่างไรก็ตาม นายจรัส ให้ความเห็นว่าหากแกนนำไม่ฟังคำสั่งศาลและเลือกจะต่อสู้ด้วยอารยะขัดขืนก็สามารถทำได้แต่จะต้องพร้อมยอมรับความผิดที่จะตามมาในทุกข้อกล่าวหา

ด้านนายสุรัตน์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้สื่อรายงานสถานการณ์อย่างเป็นกลาง เสนอมุมมองในเชิงวิเคราะห์ให้ประชาชนได้รับทราบว่า การบุกยึดทำเนียบฯ และสถานีเอ็นบีทีมีที่มาที่ไปอย่างไร สำหรับสถานีเอ็นบีทีเป็นสื่อของรัฐมาจากเงินภาษีของประชาชนเอ็นบีทีจึงไม่ใช่สื่อของรัฐบาล จึงไม่ควรใช้เอ็นบีทีเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ด้านนางสุภาวดี กล่าวว่า การเสนอภาพข่าวการบุกยึดเอ็นบีทีซ้ำไปมาโดยไม่แสดงข้อมูลที่รอบด้านจะมีผลต่อจิตวิทยาทางสังคมและประชาชนผู้รับสาร ซึ่งอาจมองว่าจะมีความรุนแรงถึงขั้นเกิดสงคราม จึงอยากเตือนให้สื่อระมัดระวังการเสนอข่าว สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนและต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของต้นสังกัด ขณะเดียวกันคนที่เป็นสื่อต้องตระหนักถึงจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง

นางสุภาวดี กล่าวต่อว่า วันนี้สื่อไม่ได้ทำหน้าที่โดยปราศจากอารมณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่เวทีละครที่จะให้นางร้ายออกมาแสดงอารมณ์ จึงเรียกร้องให้ผู้อำนวยการเอ็นบีที พิจารณาคัดเลือกผู้ประกาศข่าวที่มีประสบการณ์และคุณวุฒิของนักนิเทศศาสตร์ อย่าเลือกคนที่หน้าสวย หน้าหล่อแต่ไม่มีจิตวิญญาณของนักนิเทศศาสตร์ วันนี้เราใช้พื้นที่ของทีวีและหนังสือพิมพ์เพื่อความเด่นดัง

"ผู้ดำเนินรายการของเอ็นบีทีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่มาเช่าเวลาของสถานีจัดรายการ จึงไม่ควรให้ใครก็ได้มาใช้เวลาของสถานีกล่าวโทษคนในสังคมอย่างไร้ความรับผิดชอบ หากผู้บริหารเอ็นบีทีปล่อยไว้เช่นนี้จะถูกตราตรึงว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้องในฐานะสื่อของรัฐ"นางสุภาวดีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น