xs
xsm
sm
md
lg

สื่อชี้ NBT เป็นของประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการสนทนาประสาสมัคร 17 ส.ค. 2551
ผู้จัดการออนไลน์ – องค์กรจับตาสื่อเอเชียในสหรัฐฯ เผยแพร่บทความจากสื่อไทยระบุ “สมัคร” กำลังบิดเบือนกรณียก NBT เทียบ ASTV แถมมั่วให้ ป.ป.ช.เข้าสอบ ASTV ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจและหน้าที่ ฟันธงคนที่มองว่า สื่อกรมประชาสัมพันธ์ต้องเป็นกระบอกเสียงของรัฐนั้นถือเป็นพวกอำนาจนิยม ชี้สื่อรัฐต้องทำเพื่อประโยชน์ของ ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) องค์กรจับตาสื่อเอเชีย Asia Media สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่บทความเรื่อง ใครเป็นเจ้าของสื่อรัฐ (Who owns state media?) จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่เขียนโดย นายกมล เฮงเกียรติศักดิ์ ระบุ กรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกล่าววิพากษ์วิจารณ์การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า การที่ ป.ป.ช.แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีผู้กล่าวหาร้องเรียนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้อำนวยการวิทยุโทรทัศน์ประเทศไทย NBT ปฏิบัติการ หรือละเว้นปฏิบัติการโดยมิชอบกรณีปล่อยให้รายการ “ความจริงวันนี้” ที่ดำเนินรายการโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ โดยมีแขกรับเชิญประจำ คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกอากาศเนื้อหาโจมตีหน่วยงานของรัฐข้างเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง โดย นายสมัคร ระบุว่า เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เพราะ ป.ป.ช. ควรจะตรวจสอบ การออกอากาศของ เอเอสทีวีด้วย

บทความใน นสพ.บางกอกโพสต์ ฉบับดังกล่าว อ้างอิงถึงบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ระบุว่า ความเห็นที่ขัดแย้งกันกรณีบทบาทของสื่อภายใต้การควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์ว่า จริงๆ แล้ว สื่อของรัฐควรจะเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล หรือเป็นสื่อของประชาชน เนื่องจากก่อตั้งและดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนจากภาษีของประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่มีมานานมาก ทว่า การที่นายสมัครกล่าวผ่าน รายการสนทนาประสาสมัคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ส.ค. ระบุว่า หาก ป.ป.ช.จะตรวจสอบการออกอากาศของเอ็นบีทีก็ควรจะตรวจสอบการออกอากาศของ เอเอสทีวี ด้วยนั้นถือเป็นการชี้นำสังคมไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ นายสมัคร ระบุว่า รายการความจริงวันนี้ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ออกอากาศ 6 วัน วันละ 45 นาที นั้นเป็นรายการที่ “ดี” และ “พูดจาดี มีเหตุผล เรียบร้อย” ทั้งยังเทียบว่า เหตุใดจึงไม่มีใครร้องเรียนให้ ป.ป.ช.สอบกรณีที่สถานีเอเอสทีวีออกอากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และมีการกล่าวโจมตีรัฐบาลด้วยถ้อยคำเสียหายบ้างเลย

บทบรรณาธิการของไทยรัฐ ยังระบุด้วยว่า จริงๆ แล้วเอเอสทีวี ก็เหมือนกับวิทยุชุมชุนอีกเป็นพันๆ แห่ง ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาต แต่สามารถออกอากาศอยู่ได้ภายใต้การคุ้มครองของ มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทั้งนี้ หาก นายสมัคร หรือใครในรัฐบาลรู้สึกว่าถูกหมิ่นประมาทโดยเอเอสทีวีก็สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้

ไทยรัฐ ยังระบุอีกว่า เอเอสทีวีนั้นดำเนินการโดยบริษัทเอกชน และไม่ได้ก่อตั้งด้วยเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น การที่ นายสมัคร หรือใครชี้ให้ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ เอเอสทีวีนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือขอบเขตและอำนาจของ ป.ป.ช.เนื่องจาก ป.ป.ช.มีอำนาจเฉพะการตรวจสอบนักการเมืองและหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ ในกรณีของรายการความจริงวันนี้ ที่ออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ที่ดำเนินการโดยภาษีประชาชน ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจในการเข้าตรวจสอบตามการร้องเรียน

สำหรับข้อถกเถียงเรื่องทำงานสื่อในการควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ ว่า ควรจะเป็นสื่อเพื่อประชาชน หรือเป็นสื่อที่เป็นเป็นกระบอกเสียงของรัฐ บทความชิ้นดังกล่าว ระบุว่า กลุ่มคนที่มองว่าคลื่นความถี่ของรัฐในการออกอากาศโทรทัศน์-วิทยุนั้นควรใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตย

ในทางกลับกัน ผู้ที่มีทัศนะว่าสื่อของรัฐควรถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร และควรประพฤติตัวเป็นกระบอกเสียงของรัฐนั้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้นั้นมีทัศนะในเชิงอำนาจนิยม ทั้งนี้ บทความชิ้นดังกล่าว กล่าวสรุปว่าตนเองยืนอยู่ในข้างที่ระบุว่า สื่อของรัฐควรเป็นสื่อเพื่อประชาชน ด้วยเหตุผลที่ว่า สื่อของรัฐนั้นก่อตั้งและดำเนินการโดยเงินภาษีจากประชาชน ดังนั้น สื่อของรัฐจึงควรที่จะเป็นอิสระจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง และควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังควรจะรายงานข่าวและความเห็นอย่างปราศจากอคติและให้เวลาทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน
รายการความจริงวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น