เครือข่ายระบอบแม้ว แค่นผลงานอวดนายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ตะแบงโยงสินบน 7.6 หมื่นล้านบาทเชื่อม คตส. ป่วนกระแสชี้ระเบียบขัดต่อ กม. ปกป้องทรัพย์สินเต็มพิกัด อ้างเงิน “แม้ว” มีอยู่ก่อนนายกรัฐมนตรี ไปน้ำขุ่นๆ แถลงการณ์นายใหญ่ไม่ได้หมิ่นศาล แต่ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม
วันนี้(15ส.ค.) นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงเกี่ยวกับการออกระเบียบการจ่ายสินบน 25 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้ชี้เบาะแสการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ว่า ตนสงสัยมากที่สุด ว่าทำไม คตส.ต้องออกระเบียบนี้ และทำไมต้องอายัดทรัพย์ครอบครัวชินวัตร และดามาพงษ์ เป็นเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท และการที่ตนสงสัยก็มีที่มาคือทรัพย์สินที่ คตส.ไปยึดมา ที่เป็นเงินสดในธนาคาร ถือเป็นทรัพย์ทำมาหากินมาแต่ดั้งเดิม ของตระกูลชินวัตร และดามาพงษ์ คือบริษัทชินคอร์ป ได้ขายหุ้นให้เทมาเสกตามที่เป็นข่าว โดยเมื่อปี 2537 ทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้กว่า 10 ปีแล้ว โดยมีมูลค่า 118,424 ล้านบาท ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ 1,532 จุด โดยมีมูลค่าหุ้นราคาหุ้นละ 79.60 บาท ต่อหุ้น
นายวิชิต กล่าวว่า มาถึงปี 2544 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่ง โดยมูลค่าหุ้นดังกล่าวตกลงเหลือ 31,242 ล้านบาท ซึ่งดัชนีตกลงมาก เนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มูลค่าดัชนีหุ้นขณะนั้นเหลือเพียง 324 จุด ราคาหุ้นลดลงเหลือ 21 บาทต่อหุ้น และทรัพย์สินตัวเดียวกันในตลาดหลักทรัพย์ หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ และบริหารบ้านเมือง ตลาดหุ้นก็ขึ้น และขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งวันที่ 23 ม.ค.2549 ขายหุ้นให้กับเทมาเสก ดัชนีหลักทรัพย์ขึ้นถึง 750 จุด มูลค่าต่อหุ้น 49.25 บาท ต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งหมด 73,271 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นความแตกต่าง ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นและลดลงนั้นเป็นปกติในตลาดหุ้น ไม่ใช่เป็นความร่ำรวยผิดปกติ หรือไม่ฉ้อโกงเขามา
“นี่คือสิ่งที่ทำให้คิดว่าทำไมความชัดเจนอย่างนี้ ตรวจสอบได้ แล้วทำไม คตส.จึงไปอายัดทรัพย์ของท่านทั้งหมด ที่ขาย แล้วทำไมออกระเบียบ 25 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อ คตส.หมดวาระ แล้วโอนคดีให้กับ ป.ป.ช.จากนั้นตั้งคณะกรรมการโดยมีนายวิชัย วิวิธเสวี เป็นประธานตรวจสอบว่ามีอำนาจอายัด ยึดของเขาหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช.เองไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปยึดหรืออายัดเงินที่ คตส.อายัดไป แต่อีกฝ่ายกลับพยายามยืนยันว่ามีอำนาจยึด แต่ไม่มีอำนาจที่จะถอน เมื่อไม่มีอำนาจ ในส่วนของประธานที่ทำการตรวจสอบ เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ก็สงสัยว่ามีวาระซ่อนเร้น หรือแบ่งก๊ก แบ่งฝ่ายกันหรือไม่ใน ป.ป.ช.”นายวิชิตกล่าว
นายวิชิต กล่าวอีกว่า ทรัพย์สินในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ทรัพย์สินมีมูลค่า 313,242 ล้านบาท แต่ยึดทรัพย์ 7 หมื่นกว่าล้านบาท ทำไม่ไม่คืนทรัพย์สินก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่ออ้างว่าร่ำรวยจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยึดไม่ให้เหลือแม้แต่บาทเดียว จึงสงสัยในความถูกต้องชอบธรรม จึงทำให้สงสัยว่าที่ยึดทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับการออกระเบียบของ คตส.หรือไม่ ในการแบ่งสินบนให้กับผู้ชี้เบาะแส 25 เปอร์เซ็นต์ ทำไมถึงดึงดัน ที่จะยึดทรัพย์ให้ได้ 7 หมื่นกว่าล้าน ทั้งๆ ที่ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ ชี้แจงกับสาธารณะหลายรอบแล้ว หากไปดูในระเบียบ คณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน 25 เปอร์เซ็นต์ของ คตส.ก็มีข้อสงสัยมากมาย ทุกคนคงเข้าใจว่าการให้อำนาจกับ คตส.ในการอายัดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นคำสั่งของคณะปฏิวัติ แต่เมื่อดูทั้งหมดแล้ว ไม่มีข้อความตรงไหนที่บอกให้ คตส.ไปออกระเบียบเอง โดยให้สินบนกับผู้ชี้เบาะแส ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ที่ยึดไป 76,000 ล้านบาท คิดเป็นตัวเลขแล้ว ประมาณ 19,000 ล้าน ใครจะรับสินบน และทำไมมันมากมายขนาดนี้
นายวิชิตกล่าวว่า หากทรัพย์สินเหล่านี้พิสูจน์ไม่ได้จริงๆ ตกเป็นของแผ่นดินประชาชนได้ประโยชน์ แต่ใครที่จะได้ประโยชน์จาก 25 เปอร์เซ็นต์ ทำไมถึงออกระเบียบอย่างนี้ ทั้งๆ ที่หน่วยราชการได้ยกเลิกหมดแล้ว เพราะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการทุจริต แต่กลับออกระเบียบอีก นอกจาก คตส.ไม่มีอำนาจชัดเจนแล้ว ตัวเลขที่แสดงก็ชัดเจนว่าไม่ได้มาจากการทุจริต ที่สงสัยมากที่สุดและอยากถามนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.มีใครเข้ามาขอสินบน 25 เปอร์เซ็นต์นี้แล้วหรือไม่ เพราะผู้ที่แจ้งเบาะแส ทำได้ทั้ง 2 ทาง คือเปิดเผยและไม่เปิดเผยชื่อ ถ้าชี้เบาะแสกับนายนาม โดยตรงไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน แจ้งที่อยู่ เพียงแต่นายนาม ลงชื่อรับรอง ว่าเป็นผู้ชี้เบาะแส ก็มารับได้ ทั้งที่แสดงตนและไม่แสดงตน
“ระเบียบนี้ออกมาได้อย่างไร ไปเอาเงินมาจากไหน ไปเอางบประมาณแผ่นดินโดยไม่ผ่านสภา ทั้งที่เป็นเงินของประชาชน ออกระเบียบอย่างนี้ต้องชี้แจง ขอความกรุณา ท่านทำแล้วใครได้ประโยชน์หรือไม่ ที่สำคัญได้รับกระแสข่าวว่ามีคนใน คมช.ไปพูดว่าตนเองกำลังจะรวยแล้ว มีคนประเภทนี้รึเปล่าที่มาชี้เบาะแส และอยากถามคุณนามอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ก้าวล่วงความสุจริตอะไรของท่านแต่อยากให้เกิดความโปร่งใส หากพิสูจน์ไม่ได้ควรตรงเป็นของแผ่นดินไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งและนายนาม ควรจะชี้แจงเรื่องนี้ ” นายวิชิต กล่าว
นายวิชิต กล่าวต่อว่า สุดท้ายขอฝาก ป.ป.ช.ช่วยพิจารณา เพราะประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ตั้ง คตส.ขึ้นมา บอกว่าเมื่อหมดวาระแล้วต้องส่งสำนวนการไต่สวนไปให้ ในกรณีที่ยังไม่เสร็จ แต่ไม่ได้บอกเรื่องเงินสินบน หรือคนที่ชี้เบาะแส คนที่ได้รับสินบน ป.ป.ช.ต้องไปสั่งให้จ่าย เมื่อวาระหมดสิ้นระเบียบฉบับนี้ก็น่าจะจบไป อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกัน
“ผมคิดว่าไอ้โม่งมันจะโผล่ เมื่อศาลพิพากษาให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน เพียงแต่นายนามเซ็นชื่อรับรองว่าแจ้งเบาะแส สิ่งที่ผมทำก็เพื่อลูกหลาน เพราะถ้าบ้านเมืองไม่มีกฎหมายอะไรจะเกิดขึ้น และผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ท่านอยู่ลอนดอน ในเรื่องที่มีการมอบหมายให้ดำเนินคดี ก็จะเดินหน้าต่อในฐานะที่ท่านเป็นผู้เสียหายจากการกล่าวหาและหมิ่นประมาททั้งแพ่งและอาญา ซึ่งดำเนินไปแล้ว 10 กว่าเรื่อง เป็นการรักษาสิทธิ์ตามกฎหมายและการที่ท่านระบุผ่านแถลงการณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมนั้น
“ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้หมายถึงศาล แต่หมายถึงกระบวนกรยุติธรรมเบื้องต้น อยากให้พูดตรงไปตรงมา คตส.ที่ตั้งขึ้นโดยคณะปฏิวัติองค์ประกอบหลายท่านก็เห็นอยู่ว่าเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นอย่านึกว่าการแทรกแซง อยู่ในขั้นตอนของศาล ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรฯ ก็เคยกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ทุกคนเคารพศาล อยากให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ใช้กฎหมายบังคับใช้กับคนๆเดียวหรือมีกฎหมายย้อนหลัง”นายวิชิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นการให้สินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแสการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการ คตส.ได้ชี้แจงเมื่อวานนี้ (14ส.ค.)ว่า ตามระเบียบนั้น กรรมการ คตส.หรือเจ้าหน้าที่ คตส.ไม่มีสิทธิที่จะได้รับสินบนดังกล่าว และตั้งแต่มีการออกระเบียบดังกล่าวออกมายังไม่มีใครเข้าข่ายที่จะได้รับสินบนแม้แต่คนเดียว (อ่านข่าว “แก้วสรร” จวกผู้ไม่หวังดี ป้ายสี คตส.ริบสินบน 7.6 หมื่นล้าน)