xs
xsm
sm
md
lg

“เตช” ออกแถลงโต้ “แม้ว” กล่าวหาศาลไทย ส่งถึงสถานทูตทั่วโลกแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ
“เตช” เผยออกแถลงการณ์โต้ “แม้ว” กล่าวหากระบวนการยุติธรรมไทย ส่งไปยังสถานทูตทั่วโลกแล้ว ยันศาลไทยปลอดจากการแทรกแทรก แต่ยังยึดพาสปอร์ตแดงไม่ได้ อ้างต้องรอ ตร.แจ้งมาอย่างเป็นทางการก่อน รับการนำตัว “ทักษิณ” กลับมาคงใช้เวลานาน เพราะต้องขึ้นอยู่กับศาลอังกฤษด้วย ด้าน “ไกรศักดิ์” หวั่นอังกฤษไม่ส่งตัว “แม้ว” หากข้อมูลไม่รอบคอบ ที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติอังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ไทยเลย

วันนี้ (14 ส.ค.) นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทางการทูตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า กระทรวงกำลังรอหนังสือตอบกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการประกาศชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในประวัติอาชญากรแล้ว ก็ยังไม่สามารถดำเนินการริบหนังสือเดินทางการทูตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทันที เพราะทางตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็มีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายกังวลว่าการทำตามขั้นตอนที่ล่าช้าอาจทำให้ไม่สามารถนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในไทยได้ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยู่ที่ประเทศอังกฤษ และกระบวนการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมานั้นก็ต้องใช้เวลานานมาก เพราะต้องขึ้นศาลที่ประเทศอังกฤษ

เมื่อถามว่า รู้สึกหนักใจหรือไม่ถ้านำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาล่าช้า และทางอังกฤษอาจไม่ยอมให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา นายเตช กล่าวว่า ตนไม่หนักใจ เพราะเราไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของชาติอื่นๆ ได้ และต่างประเทศก็ไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยได้เช่นกัน

ส่วนระยะเวลาในการขึ้นศาลไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานเท่าใด รวมทั้งไม่ทราบถึงความยากลำบากในการนำตัวอดีตผู้นำประเทศกลับมา อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าวไปยังสถานทูตในประเทศต่างๆ แล้ว

ด้าน นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน กล่าวว่า ขั้นตอนของประเทศอังกฤษ ละเอียดอ่อนมาก รายละเอียดของทุกคดี ต้องมีการบันทึกให้ชัดเจนให้ได้มาตรฐาน รวมถึงภาษาที่ต้องชัดเจน เอกสารทุกชิ้นต้องมีตราประทับโดยศาลไทย โดยเฉพาะผู้ที่กระทำการสอบสวนและผู้ที่นำหลักฐานเข้าสู่ศาลต้องมีการสาบานตน อาทิ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียต่อรัฐ (คตส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากขั้นตอนมีการผิดพลาดในส่วนใดส่วนหนึ่ง กระบวนการยุติธรรมของประเทศอังกฤษก็จะไม่ดำเนินการพิจารณาเพราะถือว่าไม่ครบตามกำหนดและไม่สามารถนำตัวกลับมาได้ เพราะกระบวนการฝ่ายไทยไม่สมบูรณ์ หากมีการขาดช่วงเวลาไป ก็ถือว่าไทยหรือหน่วยงานของไทยไม่สนใจเท่าที่ควร

เมื่อถามว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้กล่าวพาดพิงถึงกระบวนการยุติธรรม จะมีส่วนหรือไม่ต่อการพิจารณาและการนำตัวกลับมา นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมของเรา ถือว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการนำตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับมา แต่ของเราไม่รู้ส่งกลับไปกี่คนแล้ว เกือบทุกปีผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีอื่นๆ ที่ทางตำรวจไทยจับส่งกลับไป แต่จะนำตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากอังกฤษกลับไทยไม่มีเลย ส่วนเรื่องพาสปอร์ตสีแดง ตามมารยาท ทาง ก.ต่างประเทศ ต้องทำการยึดพาสปอร์ตสีแดงคืน เนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนที่จะมาอ้างว่าเคยเป็นอดีตนายกฯก็คงไม่ได้

รายละเอียดหนังสือเตชชี้แจงต่อทูตประเทศต่างๆ

ยันระบบตุลาการไทยเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงภายนอก ได้รับการยอมรับจากสังคม

*** อำนาจตุลาการของไทย เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของอำนาจอธิปไตย เคียงคู่ ดุล และคาน กับอำนาจอธิปไตยด้านการบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรัฐชาติประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับในสากล

*** ในประวัติศาสตร์ไทย อำนาจตุลาการมีความเป็นมาสืบเนื่องมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องนับร้อยปีและได้วิวัฒนาการมาอย่างไม่มีการสะดุดหยุดยั้ง จากระบบกฎหมายแบบประเพณี มาสู่การสร้างระบบกฎหมายแบบประมวล ที่มีความทันสมัยและได้มาตรฐานทัดเทียมนานาอารยประเทศ

*** ขณะที่อำนาจอธิปไตยในด้านนิติบัญญัติและด้านบริหารอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือการชะงักงันในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย แต่ระบบตุลาการมีความมั่นคง ต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคมไทยเสมอมา โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น

***กระบวนการคัดสรรบุคลากรผู้มาเป็นตุลาการ ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมไทยว่ามีความเป็นวิชาชีพสูงมีจรรยาบรรณ และเป็นกระบวนการคัดสรรที่เป็นประชาธิปไตยภายในระบบตุลาการเองที่มีความเข้มงวด ปลอดจากการแทรกแซงภายนอก และเป็นอิสระ ประชาชนในชาติถือเป็นที่พึ่งเสมอมา กล่าวได้ว่า สังคมไทยเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์และยุติธรรมของอำนาจตุลาการตลอดมา

*** ระบบตุลาการไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับสภาพการณ์ของสังคมที่มีวิวัฒนาการ เพื่อสามารถจรรโลงความยุติธรรมให้แก่สังคมได้อย่างทันสมัย เช่น ได้มีการจัดตั้งองค์การทางตุลาการเพิ่มขึ้นจากศาลยุติธรรมที่มีอยู่เดิม เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2540 และฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2550 โครงสร้างใหม่เหล่านี้จึงอยู่คู่กับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี แล้วโดยไม่มีความกังขาใดๆ

***ศาลทั้งหลายต้องพิพากษาอรรถคดีและทำหน้าที่ของตนด้วยความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้พิพากษา อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ผู้พิพากษาถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วย แต่ก็ถือเป็นบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ เพราะการแต่งตั้งผู้พิพากษานั้นเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนการคัดสรรของระบบตุลาการเอง ซึ่งบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยในกรณีนี้ ก็ไม่แตกต่างจากประเพณีปฏิบัติในประเทศที่มีระบอบการปกครองเช่นเดียวกับไทยคือสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อาทิ สหราชอาณาจักร เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น