รองอัยการสูงสุดหารือคณะทำงานตามตัว “ทักษิณ” หลังอังกฤษถอนวีซ่า ยันต้องรอความชัดเจนเรื่องที่อยู่ในต่างแดนอีกครั้ง และรอฟังจำเลยจะยื่นอุทธรณ์คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ หรือไม่ ย้ำอัยการตั้งใจทำหน้าที่ดีที่สุด ด้านอธิบดีอัยการต่างประเทศ ชี้จนถึงขณะนี้ สตช.ยังไม่ประสานบอกแหล่งพักพิง “นช.แม้ว” หากไปบาฮามาสไม่มีสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดนต้องใช้หลักต่างตอบแทนถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมรับเป็นขั้นตอนยุ่งยาก
วันนี้ (10 พ.ย.) นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ร้ายข้ามแดน กล่าวว่า ภายหลังที่มีข่าวประเทศอังกฤษ ยกเลิกวีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว วันนี้คณะทำงานอัยการได้หารือเตรียมความพร้อมการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนว่าต้องรอความชัดเจนทั้งการยื่นอุทธรณ์คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และแหล่งที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ย้ายไปพำนักประเทศอื่นที่ไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อัยการต้องเตรียมการพิจารณาข้อกฎหมายเพิ่มเติมของประเทศนั้นเพื่อยื่นคำร้องโดยใช้หลักการต่างตอบแทน
ทั้งนี้ ความชัดเจนเรื่องแหล่งที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องรอว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร้องขอให้อัยการดำเนินการขอส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน จะแจ้งความชัดเจนได้เมื่อใด ส่วนอัยการกำลังหารือว่าจะประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในต่างประเทศเพิ่มเติมด้วยหรือไม่
“ผมยืนยันได้ว่า อัยการจะตั้งใจทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และพยายามอย่างเต็มที่ในการเป็นผู้ประสานงานกลาง ยื่นคำร้องขอส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน” นายถาวร กล่าว
ด้าน นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า ตามขั้นตอนการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าบุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในประเทศใด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ที่ไหน บางกระแสข่าวว่าไปที่ประเทศฟิลิปปินส์ บางกระแสก็บอกว่าอยู่ในประเทศจีน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ สตช.ในฐานะผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามหมายจับของศาลที่จะสืบหาข้อมูลที่ชัดเจนว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนักอยู่ที่ใดโดย สตช.จะต้องประสานขอความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว หลังจากที่มีข้อมูลชัดเจนแล้ว อัยการในฐานะผู้ทำหน้าที่ยื่นคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะได้ดำเนินการต่อไป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประสานเข้ามาจากทาง สตช.แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไปพำนักอยู่ที่หมูเกาะบาฮามาส ตามที่มีรายงานข่าวออกมาก่อนหน้านี้ นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบประเทศไทยกับบาฮามาสไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่อัยการยังสามารถดำเนินการยื่นคำร้องได้โดยอาศัยการให้คำมั่นหลักต่างตอบแทนแลกเปลี่ยนกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยการยื่นข้อเสนอว่าถ้ายินยอมส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไทยก็ยินดีพิจารณาอำนวยความสะดวกในเรื่องลักษณะเดียวกันหากมีการร้องขอเข้ามา ซึ่งก็ยอมรับว่าขั้นตอนการดำเนินการคงยุ่งยากกว่าประเทศที่มีสนธิสัญญาระหว่างกันในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
นอกจากนี้ นายศิริศักดิ์ กล่าวเทียบเคียงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (บีบีซี) ที่อัยการขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศแคนาดา ว่า กรณีของนายราเกซ นั้นเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าหลบหนีคดีอยู่ที่ประเทศแคนาดามาโดยตลอด ไม่เหมือนกับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เดินทางไปประเทศนั้นที ประเทศนี้ทีไม่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับทางการประเทศอังกฤษได้ยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศ ดังนั้นจึงต้องหาพยานหลักฐานที่เป็นที่สุดที่ไม่มีข้อโต้เถียงได้อีกว่าเป็นเรื่องที่ยุติแล้วหรือไม่ โดยต้องรอดูว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าไม่ยื่นคำพิพากษาของศาลฎีกา ฯ คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดา ฯ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.51 จะถือเป็นที่สิ้นสุด ที่อัยการจะใช้เป็นหลักฐานขอตัวได้ แต่หากมีการยื่นอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำสั่งรับไว้ก็คงจะต้องรอไปอีกระยะ ส่วนที่จะให้ยื่นเรื่องประสานกับต่างประเทศไว้ล่วงหน้านั้นจะเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะแต่ละประเทศมีข้อตกลงกับประเทศไทยแตกต่างกันไป
ขณะเดียวกัน นายศิริศักดิ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการขอตัว นายราเกซ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศแคนาดา กลับมาดำเนินคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ว่า ขณะนี้ศาลฎีกาประเทศแคนาดามีคำพิพากษาให้ส่งตัวนายราเกซ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาให้ทางการไทยดำเนินคดีตามที่อัยการร้องขอไปแล้ว แต่นายราเกซ ใช้ช่องทางยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแคนาดาให้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง โดยอ้างว่าหากถูกส่งตัวกลับมาอาจไม่ได้รับความปลอดภัย เนื่องจากประเทศไทยอาจจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งอัยการได้สอบถามแล้วไปยังประเทศแคนาดาแล้ว ทราบว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ รมว.ยุติธรรมแคนาดา