อดีต ส.ว.โคราช สะท้อนการเมือง-เศรษฐกิจไทย ล้าหลังจีน ชี้รธน. 2550 ความหวังสร้างความเท่าเทียมในสังคม จวกรัฐบาลหุ่นเชิด อย่าเรียกร้อง รธน. 2540 ที่ตัวเองทำลายมากับมือ ทั้งแทรกแซง หาผลประโยชน์เข้าตัวสารพัด สวนกลับ "จาตุรนต์" พันธมิตรฯ ไม่ได้ดึงประชาธิปไตยถอยหลัง แต่กำลังจะร่วมสร้างประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนเอง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายพิเชฐ พัฒนโชติ ปราศรัย
วันนี้ (9 ส.ค.) เวลาประมาณ 18.35 น. นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา และอดีต ส.ว.จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นกล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ ว่า ได้ดูพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีนแล้ว อยากจะพูดถึงโอลิมปิกทางการเมืองสักนิด ณ วันนี้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของจีนไปแล้ว แต่พี่น้องเชื่อไหมว่าปี พ.ศ. 2492 หรือในปี ค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน ทำให้เราได้เห็นชัดแล้วว่าอะไรเกิดขึ้นกับประเทศจีนบ้างตลอดเวลา 59 ปีที่ผ่านมา จากความยิ่งใหญ่ในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่เพราะอะไร ประเทศไทยถึงยังเทียบเขาไม่ได้ ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เกิดขึ้นก่อนจีนด้วยซ้ำ
โดยนายพิเชฐกล่าวว่า ตนเคยเดินทางไปจีนประมาณ 2-3 ครั้ง ซึ่งไกด์คนหนึ่งได้เล่าประวัติชีวิตตัวเองให้ฟังว่า หากย้อนหลังกลับไปในปี ค.ศ. 1949 ของจีน ตอนที่มีการเปลี่ยนปกครองเขายังเป็นเด็ก ในช่วงนั้นข้าว 1 กระป๋องนมต้องกินร่วมกันถึง 20 คน โดยเอามาต้มใส่น้ำเยอะๆ เพื่อให้กินได้ถึง 3 มื้อ นั่นคือชีวิตช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่จากตรงนั้น มาถึงวันนี้ เศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย จากเมื่อก่อนที่ปกครองกับแบบทุนนิยมสามาญ มีคนที่ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คนเหมือนบ้านเราในวันนี้ แต่ถึงตอนนี้ ทั้งสังคมและเศรษฐกิจของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
คำถามคือว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 บ้านเรา เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นกระทำโดยคณะราชฯ โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ต้องการคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนมิใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งตลอดเวลาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองถึง พ.ศ. 2489 ช่วงนั้นไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเลยสักครั้ง เพราะยึดหลัก 6 ประการในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลักเอกราช ที่พูดถึงการเป็นอาณาจักรอันเดียวไม่อาจแบ่งแยกได้ หลักความปลอดภัยในชีวิต หลักเศรษฐกิจ ให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีการแบ่งปันกัน รวมถึงหลักเสรีภาพ ภารดรภาพ ที่ต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้แค่ 14 ปี ก็เกิดการปฏิวัติโดยทหาร โดยจอมพล ป .พิบูลสงคราม และจากตรงนั้นเป็นต้นมา ปรากฏว่าไทยมีรัฐธรรมนูญสลับกับการปฏิวัติมายาวนาน ซึ่งมีรัฐธรรมนูญไม่เกิน 3 ฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามาดำเนินการในการยกร่าง โดยฉบับแรกสมัย 14 ตุลา 2516 ที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่มาได้ไม่กี่ปีในสมัย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา และล่าสุดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ได้มาอีกฉบับ นั่นคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสสร. จำนวน 99 คนร่วมยกร่าง โดยมาจากการคัดเลือกคนที่จบปริญญาตรีจาก 76 จังหวัด จังหวัดละ 10 คน ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 1 คน ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งคนคนหนึ่งมาแต่ไม่ได้ถูกเลือก คนคนนั้นชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร
จากตรงนั้นเอง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้สร้างกติกาเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งการที่ สสร.มาจากจังหวัดละคน รวมกับผู้เชี่ยวชาญอีก 23 คน เป็น 99 คน ซึ่ง สสร.ทั้ง 99 คนนั้น ได้วางกติกาไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งองค์กรอิสระ กำหนดการควบคุมการถือหุ้นของรัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องแสดงทรัพย์สิน แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เขาเรียกร้องใฝ่หาเหลือเกิน กลับไม่ได้ดูเลยว่าใครเป็นคนที่ทำลายรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นี้ เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากการแทรกแซง ส.ว. องค์กรอิสระที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น กกต. ป.ป.ช. และสุดท้าย พอเกิดรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ก็ออกมาเรียกร้องและตั้งใจล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สาเหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กำลังจะนำประเทศไปในทางที่ดี เป็นรัฐธรรมนูญที่อยากเห็นประเทศพัฒนาแบบสิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนทุกวันนี้ และอยากเห็นคนไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันไม่ใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่ง
"รัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าเปรียบเทียบกันตรงนี้ ก็เพื่อให้การเมือง เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มตั้งแต่ที่มา ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการตั้งสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คน แล้วคัดเลือกให้เหลือ 200 ก่อนที่ คมช. จะคัดเลือกให้เหลือ 100 คนมาเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมธิการร่างรัฐธรรมนูญอีก 35 คน ซึ่งความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ เมื่อยกร่างเสร็จแล้ว ต้องบอกให้ประชาชนรับรู้ว่าแตกต่างจากฉบับเดิมยังไง มีเหตุผลยังไง ก่อนจะส่งให้ สสร. รวมถึงสถาบันการศึกษาพิจารณาด้วย" นายพิเชฐกล่าว
นายพิเชฐกล่าวต่อว่า ถ้าเขาสามารถาเขาล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ สิ่งที่เราเห็นในพิธีเปิดโอลิมจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รับบทเรียนจากปีพ.ศ. 2540 มา โดยบทเรียนนั่นคือ เมื่อเขาตั้งใจแทรงแทรกองค์กรอิสระ เช่น ส.ว. ก็กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งและจากสรรหา ซึ่งมาถึงวันนี้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้พิสูจน์เลยว่า สามารถทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะหลายเรื่องที่ถูกยื่นให้เกิดการตรวจสอบ มาจาก ส.ว. ที่มาจากการสรรหาทั้งหมด ซึ่งนั่นคือการป้องกันไม่ให้ ส.ว. ถูกแทรกแซง
นอกจากนั้น เดิมทีองค์กรอิสระเขาสามารถควบคุมได้หมด แต่ตอนนี้ไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปยุ่ง โดยให้เป็นอำนาจของระบบตุลาการอันมาจาก 3 ศาล ซึ่งประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกา โดยมีผู้นำฝ่านค้านและประธานรัฐสถามีส่วนด้วย ซึ่งแบบนี้ทำให้เขาไม่สามารถเข้ามาครอบงำได้ ดังนั้น จึงต้องการแก้แล้วแก้อีก โดยอ้างว่าให้อำนาจศาลมากเกินไป ทำให้เแทรกแซงไม่ได้ และนั่นคือความปราถนาของเขาที่อยากเปลี่ยนแปลงเหลือเกิน
อีกประเด็นคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้อุดช่องว่างตรงนี้เอาไว้ โดยกำหนดเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ควบคุมการซื้อเสียงด้วยการยุบพรรคเป็นการลงโทษ ขณะเดียวกัน ยังให้อำนาจ ป.ป.ช. ตรวจสอบด้วย ซึ่งกรณีที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องปราสาทพระวิหาารที่ต้องเข้าสภาฯ พิจารณาก่อน
นายพิเชฐกล่าวปิดท้ายว่า มาถึงตอนนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ออกมาพูดว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ทำลายระบบประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง แต่วันนี้ วันที่เราชุมนุมมาเป็นวันที่ 77 แล้ว คือสิ่งที่เราทำให้พวกมันกลัวเหลือเกิน ซึ่งเราขอยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนจะร่วมสร้างประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนเอง