กกต.คลอดระเบียบห้าม ครม.-รมต.รักษาการใช้งบ-ทรัพยากรรัฐเอื้อประโยชน์เลือกตั้ง รับยุบสภา ระบุ นับหนึ่งเมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ด้าน “ประพันธ์” เชื่อแม้ไม่ครอบคลุมการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน แต่ก็น่าจะมีผลทำให้การเลือกตั้งดีขึ้นระดับหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ “ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการใช้ทรัพย์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใด ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2551” ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้มีผลใช้บังคับแล้ว โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าว กกต.ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 83/2551 โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กรณีที่ ครม.พ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภา ให้ ครม.และรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เท่าที่จำเป็นจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงกำหนดให้ กกต.วางระเบียบเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของครม.และรัฐมนตรีขณะที่อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคำนึงถึงความสุจริต เที่ยงธรรม เสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
ส่วนรายละเอียดของระเบียบดังกล่าวมีทั้งสิ้น 5 ข้อ ข้อที่ 1-3 นั้น เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อระเบียบ และความหมายของของคำว่า “ทรัพย์กรของรัฐ” “บุคลากรของรัฐ” “หน่วยงานของรัฐ” “กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่” ส่วนข้อ 4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.หรือรัฐมนตรีระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาฯต้องกระทำไปตามเท่าที่จำเป็น และต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดไม่ว่า โดยตรงหรือทางอ้อม ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งด้วยวิธีการ คือ (1) ใช้ทรัพยากรมนุษย์ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยมีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง (2) จัดให้มีการประชุม ครม.นอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
(3) กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ หรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง และแจ้งให้ กกต.ทราบโดยเร็ว (4) กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่อยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐ หรือกิจการทีรัฐถือหนุ้นใหญ่ทำการแจกจ่ายทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ หรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง และแจ้งให้ กกต.ทราบโดยเร็ว
(5) กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการแจกจ่าย หรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ให้แก่บุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เวนแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กำหมายกำหนด หรือมีเหตุเป็นการเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ หรือประชาชน แต่มิใช่เป็นการสร้างโอกาสเกิดความไม่ทัดเทียมในการเลือกตั้ง และแจ้งให้ กกต.ทราบโดยเร็ว (6) ใช้พัสดุหรือเบิกจ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงาน เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง และ (7) ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรืองบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งกล่าวถึงการมีผลบังคับใช้ของระเบียบฯดังกล่าวว่า ร่างระเบียบดังกล่าวออกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ และจะมีผลบังคับใช้เมื่อยุบสภาหรือสภาครบวาระและมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ซึ่งจะทำให้คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหากจะอนุมัติงบประมาณ จัดประชุมสัมมนา โยกย้ายข้าราชการ ก็ต้องแจ้งให้ กกต.รับทราบโดยเร็ว ซึ่งคิดว่าระเบียบดังกล่าวน่าที่จะส่งผลให้การเลือกตั้งดีขึ้นในระดับหนึ่ง
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลมีการอนุมัติงบประมานในโครงการประชานิยมก่อนยุบสภา ระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมหรือไม่ นายประพันธ์กล่าวว่าระเบียบดังกล่าวจะใช้ได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น การกระทำที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นเรื่องของมารยาท แต่ กกต.ก็จะดูเจตนาเป็นเรื่องๆไปว่าเป็นการกระทำที่ยังผลให้ได้รับเลือกตั้งหรือไม่
ส่วนหากถึงเวลามีการฝ่าฝืนระเบียบ กกต.ก็มีสิทธิระงับการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่แล้ว และตามกฎหมายเลือกตั้งการฝ่าฝืนก็เป็นเหตุให้ กกต.สามารถให้ใบเหลือง ใบแดงได้ อย่างไรก็ตาม ระเบียบดังกล่าวยังไม่สามารถนำมาใช้ตรวจสอบกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าแก๊งออฟโฟร์ ของพรรคพลังประชาชน เตรียมผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อเตรียมเงินไว้ใช้ตั้งพรรคใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รวมทั้งการเลือกตั้งใหม่ใน จ.เชียงราย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เพราะระเบียบจะใช้ได้เฉพาะกรณีสภาครบวาระ หรือยุบสภาเท่านั้น แต่ก็ขอให้รัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะตรวจราชการในพื้นที่จ.เชียงรายขณะนี้ได้พึงระมัดระวังตัวและวางตัวให้เป็นกลาง
นายประพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งซ่อมที่เขต 3 จ.เชียงราย กกต.ได้เตรียมความพร้อมทั้งการจัดชุดป้องปราม และรณรงค์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิ โดย จะจัดเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 9-10 ส.ค.นี้ ให้กับผู้ที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งแต่ในวันเลือกตั้งต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือติดธุระ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และขอเตือนร้านค้าและประชาชน ว่า ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันลงคะแนนล่วงหน้า จนถึง 24.00 น.ของวันลงคะแนนล่วงหน้า ห้ามจำหน่ายจ่ายแจก จัดเลี้ยงสุรา เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการออกระเบียบดังกล่าว เป็นผลเนื่องมาจากในครั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้มีการกำหนดห้ามการกระทำของรัฐบาลรักษาการ ส่งผลให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนี้มีการผุดโครงการประชานิยมมากมาย รวมทั้งมีการอนุมัติใช้งบกลางจำนวนมาก ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เป็นการกระทำที่ยังผลเพื่อให้พรรคไทยรักไทยในขณะนั้นได้รับการเลือกตั้งทำให้เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 50 จึงมีการตราบทบัญญัติมาตรา 181 ขึ้น และให้ กกต.เป็นวางระเบียบปฏิบัติรองรับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่า ระเบียบที่ กกต.ประกาศใช้โดย ครม.และรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามหลังจากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไปแล้ว จะสามารถป้องกันการเอาเปรียบจากการใช้งบประมาณ หรือทรัพยากรของรัฐบาล ที่เป็นผู้มีอำนาจในการยุบสภาได้หรือไม่