xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” จวก กม.ฮิตเลอร์ ปั้นตำรวจเป็นเทวดา เจตนาเชือดพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” ชี้ ร่างกฎหมายฮิตเลอร์ เจตนาใช้เล่นงานพันธมิตรฯโดยเฉพาะ จวก ให้อำนาจตำรวจเป็นเทวดา ทั้งที่คือตัวดีที่ชอบคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน เย้ย นักวิชาเกินทางกฎหมายทั้งหลาย ที่ชอบปากดี ละเมิดศาลมุดหัวอยู่ที่ไหน ไม่ออกมาป้องสิทธิประชาชน เผย เตรียมเก็บข้อมูลสอบ “โกวิท” ส่อพัวพันคดีทนายสมชาย

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายประพันธ์ คูณมี ปราศรัย 

วันนี้ (5 ส.ค.) เมื่อเวลา 18.22 น.นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงกรณีรัฐบาลเตรียมเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 63 และเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ... ว่า เป็นกฎหมายที่เขาจงใจจะออกมาเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมโดยเฉพาะ ไม่ต้องอ้อมค้อมแล้ว

นายประพันธ์ กล่าวว่า ได้ท้าทายไปแล้วเมื่อเช้า ว่า ถ้าแน่จริงลื้ออย่าได้ถอนร่างนี้ออกจากสภา แล้วจะได้รู้พลังของพี่น้องพันธมิตรฯ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เคยเสนอมาแล้วในสมัยสภานิติบัญญัติ โดย พล.ต.อ.อิสรพันธุ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นรอง ผบ.ตร.แต่ถูกคัดค้านจากสมาชิกอย่างหนัก ไม่ใช่ว่าพิจารณาไม่ได้ ไม่ครบองค์ประกอบ บรรจุแล้วเสนอเข้ามาในวาระที่หนึ่งแล้ว ถูกเราอภิปรายในขั้นรับหลักการ ไม่ผ่านจึงต้องยอมถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปในวาระที่หนึ่ง ดังนั้น นายจุมภฏ บุญใหญ่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ขนาดเป็น ส.ส.ในสภายังไม่ไปตรวจสอบรายงานการประชุมเลย ทะลึ่งบอกว่าพิจารณาไม่ได้ เพราะไม่ครบองค์ประชุม โกหกแล้วก็ไม่รู้เรื่อง แล้วตัวเขาก็ยืนยันแล้วว่าเอากฎหมายนนี้ลอกจาก สนช.ที่ตกไป

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ตำรวจเป็นใหญ่ พิจารณาอนุญาตจัดการชุมนุม โดยคณะกรรมการมีแต่ตำรวจทั้งนั้น เป็นผู้มาอนุญาต

“สรุปแล้วเป็นกฎหมายที่ให้ตำรวจเป็นเทวดา ทั้งๆ ที่ตำรวจเป็นตัวคุกคามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด แล้วถ้าหากว่าเขาไม่อนุญาต ก็ต้องถือว่าคำวินิจฉัยของเขาถือเป็นทีสุด เขาจะอนุญาตให้ชุมนุมได้เฉพาะที่เขาเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่สนับสนุนทางราชการ” นายประพันธ์ กล่าว

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า แต่ที่แปลกใจ คือ พวก ส.ส.พวกนี้ชอบด่าว่า สนช.เป็นเผด็จการ รัฐธรรมนูญนี้ก็เผด็จการมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร แต่กฎหมายที่ไม่เป็นผลดีไปเอามาทำไม แล้วประการทีสอง ถ้าเกลียดกฎหมายเผด็จการ เกลียดรัฐธรรมนูญที่ร่างมาจากกฎหมายเผด็จการ ถามว่า พวกลื้อที่ไปนั่งในสภา มาจากรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารใช่ไหม แล้วนั่งอยู่ทำไม เกลียดตัวกินไข่ ถ้าเกลียดกฎหมายเผด็จการลาออกทั้งสภาไปเลย อยู่ทำไม หน้าด้านหน้าทนอยู่ทำไม

“พอมีกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพออกมาอย่างนี้ เคยเห็นนักวิชาการคณะนิติศาสตร์ 4-5 คน ออกมาแสดงความเห็นดีเหลือเกิน เวลาศาลตัดสิน ตุลาการตัดสินก็บอกเป็นตุลาการภิบัติ นายวรเจตน์ คนหนึ่ง นายประสิทธิ์ คนหนึ่ง คนโน้นคนนี้ พวกนักวิชาการหน้าสลอน เวลามีกฎหมายอย่างนี้หดหัวอยู่ที่ไหน พวกนักวิชาการ ม.เที่ยงคืน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ทำมาอวดดีสั่งสอน นายธีรยุทธ หดหัวอยู่ที่ไหน เคยออกความเห็นไหมกฎหมายแบบนี้” นายประพันธ์ กล่าว และว่า ธาตุแท้ของคนพวกนี้เหมือนกันหมด เวลาอันไหนดีเป็นประโยชน์กับตัวเองบอกเอา เวลาอันไหนไม่ดีกับตัวเองบอกเป็นเผด็จการต้องแก้ไขให้หมด

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า พวกนี้เป็นพวกที่พูดจากลับกลอกกลับไปกลับมา ไม่ต่างอะไรกับหัวหน้ารัฐบาล อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีประชาชนเริ่มสงสัยแล้ว เมื่อวันก่อนไปนั่งอยู่ในห้องส้วม 30-40 นาที ออกมาก็ด่านักข่าว แล้ววันนี้จะมาให้จับคนใส่เสื้อลูกจีนรักชาติ บ้าอีกแล้ว บอกสันติบาลติดตามอยู่รู้แล้ว แล้วทำไมจะไม่รู้ก็ถ่ายทอดสดทุกวัน และในวันพรุ่งนี้จะมีคนไปยื่นหนังสือ กกต.เพราะเขาสงสัยว่าหัวหน้าพรรคพลังประชาชน สติสมประกอบดีอยู่หรือเปล่า เพราะเดี๋ยวจะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 100 จะได้รู้กันว่าตกลงปกติดีอยู่หรือเปล่า พรุ่งนี้ก็ไปให้กำลังใจคนที่ไปยื่นหนังสือก็แล้วกัน

นอกจากนั้น นายประพันธ์ ยังกล่าวย้ำถึงกรณีของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย และอดีต ผบ.ตร.ว่า คุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 182(3) เพราะต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุก ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดลหุโทษ และวันนี้ขณะที่เป็น รมต. เรื่องนี้ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำพิพากษานี้ยังมีผลอยู่ แม้รอลงอาญาก็ต้องถือว่าความเป็น รมต.สิ้นสุด ดังนั้น จึงไม่สมควรจะมาดำรงตำแหน่ง รมต.แต่ นายสมัคร ก็ยังตะแบงเสนอชื่อขึ้นไป โดยอ้างว่า มีคำพิพากษาก่อนที่จะมาเป็น รมต.เรื่องนี้ขอเรียกร้องไปยัง ส.ว.และประชาชน เราอาจจะต้องเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้ เพื่อจะได้ตบหน้านายสมัครอีกเรื่องหนี่ง ว่า กระทำการให้เป็นที่ระคายเคืองฯ เอาคนที่คุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญไปทูลเกล้าฯ

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่ง ตนยังทราบว่า กรณีอุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิตร เกิดขึ้นขณะที่ พล.ต.อ.โกวิท เป็นรอง ผบ.ตร.และผู้ต้องหา 5 คน ให้การไว้ว่า นายตำรวจใหญ่คนหนึ่งที่ซ้อมเขา และนายสมชาย กำลังจะทำเรื่องสู่ศาลนั้น มีนายตำรวจใหญ่ที่อยู่ในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ขณะนั้น ซี่งตนยังสงสัยอยู่ว่า จะเป็น พล.ต.อ.โกวิท หรือไม่ แต่พยานยืนยันมาแล้วว่าชื่อน่าจะคล้ายๆ โกวิท นี่แหล่ะ เพราะคนที่มายืนยันกับตน เป็นพยานที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม ตนจะไปรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพิ่มแล้วส่งต่อให้ นายวีระ สมความคิด เช็กบิล และจะขอให้ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย ช่วยยื่นเรื่องเข้าสมทบอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่ควรปล่อยให้คนทำผิด หรือทำชั่วลอยนวลอยู่

ทั้งนี้ นายประพันธ์ กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้ง นายวีรพงษ์ รามางกูร และคณะเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ว่า ตามกฎหมายที่ปรึกษานายกฯ ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้นไม่ว่าจะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็ตามแต่ ถ้าหากคำสั่งเป็นการตั้งที่ปรึกษาทางการเมือง 5 คนนี้จะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน แม้จะบอกว่าไม่รับเงินเดือนก็ตาม

อีกประการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 การที่คนเหล่านี้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาบริษัทห้างร้านเอกชนต่างๆ แล้วมานั่งเป็นที่ปรึกษานายกฯ รู้ข้อมูลภายในขณะนี้ เข้าข่ายเป็นเรื่องการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ กฎหมายให้บังคับถึงไม่ว่า ส.ส.รมต.หรือ ส.ว.ให้รวมถึงบุคคลที่เป็นคู่สมรสและบุคคลอื่นด้วย

“เพราะฉะนั้นการที่บุคคลเหล่านี้มานั่งทำงาน แล้วมาล่วงรู้ข้อมูลในฐานะมาตามคำสั่งของนายกฯ และมีฐานะตำแหน่งทางเอกชนอีกขาหนึ่ง เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนต่างๆ จึงเป็นเรื่องขัดกันเรื่องผลประโยชน์และขัดจริยธรรมด้วย เรื่องนี้จะต้องมีการยื่นให้ตรวจสอบการกระทำของนายกฯ และทีมที่ปรึกษาฯเหล่านี้ด้วย เพราะเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจ มานั่งประชุมรู้ความลับภายในของรัฐบาลและรู้เมกะโปรเจกต์โครงการต่างๆ ได้ยังไง นี่ก็เท่ากับส่งตัวแทนของนายทุนมานั่งแสวงหาผลประโยชน์” นายประพันธ์ กล่าว

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า นายวีรพงษ์ จะต้องพึงสังวร ว่า ตัวเองกำลังทำตัวไม่เป็นแบบอย่างและเอาเปรียบคนอื่น รู้ข้อมูลทั้งหลาย และตนรู้ว่าเขาหวังที่จะรู้เรื่องข้อมูลรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน และต้องการรู้นโยบายทางการเงิน ควบคุมนโยบายทางการเงินของสถาบันทางการเมือง เพราะพวกนี้เป็นแก๊งเดียวกันหมด


ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ
พ.ศ. ....


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“การชุมนุม” หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ
“ที่สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
“ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“หัวหน้าสถานีตำรวจ” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8
(1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร
(2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน
(3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม
(4) มีการใช้ยานพาหนะ
(5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม

มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้
(2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ
(2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2)

มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม
มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด
เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14
มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น
(2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม
เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18
มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

กำลังโหลดความคิดเห็น