xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ชำแหละ “หมัก” ตบรางวัลนายทุนพรรคดึงนั่ง รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิชย์
ทีมเศรษฐกิจ ปชป.สับรัฐบาลตบรางวัลนายทุนพรรคนั่งเก้าอี้ รมต.ทั้งที่ไม่มีฝีมือแฉตั้ง ดร.โกร่ง เป็นที่ปรึกษาเลี่ยง เปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หวั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน ล้วงข้อมูลภายใน เหตุ เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชน จี้ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ นโยบายตามแนวทางที่ปรึกษา

วันนี้ (3 ส.ค.) นายกรณ์ จาติกวาณิช รมว.คลังเงา และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนที่คาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจของไทยเดินหน้าผ่านวิกฤตไปได้ เนื่องจากรัฐบาล และ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยังยึดติดเกี่ยวกับจำนวนโควตาและนายทุนพรรค นำบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจเข้ามาเป็นเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่จริงแล้วบุคคลที่จะมาบริหารงานตรงนี้ได้ควรเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ มีทัศนคติในการบริหารประเทศ แต่รายชื่อที่ปรากฏออกมาสร้างความผิดหวังครั้งใหญ่ เป็นการปิดโอกาสที่จะกอบกู้เศรษฐกิจของชาติกลับคืนมา สูญเสียความเชื่อมั่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะตัว รมว.คลัง ที่ปฏิเสธที่จะแสดงสปิริตหลังศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติรับฟ้องคดีหวยบนดิน และการแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยที่ยังยึดโยงอยู่กับโควตาของพรรคร่วม

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงมีจุดยืนและแนวคิดเหมือนเดิม หากรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารประเทศ มีความรู้ความสามารถ พรรคก็พร้อมสนับสนุน แต่หากยังมีกลไกหรือยึดโยงดังกล่าวเราก็พร้อมจะคัดค้าน โดยเฉพาะกรณีการตั้งคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการอาวุโสบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีความไม่โปร่งใส เนื่องจากมีกรรมการสรรหาอยู่ 2 คน มีคุณสมบัติขัดต่อ พ.ร.บ.ธปท.เนื่องจากยังมีตำแหน่งอยู่ในธนาคารพาณิชย์บางแห่งอยู่ ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และไม่ให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการบริหารของบอร์ดดังกล่าวในภายหลัง และเพื่อความชัดเจน ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงจะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจาณาภายในสัปดาห์หน้า

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุถึงการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาพิเศษคณะรัฐมนตรี โดยไม่แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เพราะอาจขาดรายได้มหาศาลและเสี่ยงต่อการติดคุกว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาล้วนแต่เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนคนจึงไม่มีความเชื่อมัน และบางคนก็เคยแสดงจุดยืนเป็นฝ่ายเดียวกับรมว.คลัง แต่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ว่าการ ธปท.ทั้งที่ภารกิจที่จะต้องประสานระหว่ากระทรวงการคลัง และธปท.มีความจำเป็นมา แต่จุดยืน และหลักความเชื่อต่างกัน จึงมีการแสดงออกที่ไม่เป็นมิตรผ่านทางสื่อ และการแต่งตั้งนี้ เพียงเพื่อมากลบเกลื่อน การตั้ง รมต.ที่บรรดานักลงทุน และภาคเศรษฐกิจไม่มีความมั่น ดังนั้น จึงสะท้องให้เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนในไตรมาส 2 ที่เหลือเพียง 4% ซึ่งเห็นชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่อยู่ที่ 7% และในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาเดือนเดียวมีเงินทุนไหลออก ดุลบัญชีขาดทุนกว่า 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่เคยมีเงินทุนไหลออกมาขนาดนี้นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เป็นการสะท้องให้เห็นถึงแนวนโยบายในการบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ นายวีรพงษ์ รามางกูร มาเป็นที่ปรึกษา ครม.และยังมีสิทธิเข้าร่วมประชุม ครม.ทั้งที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนจะเกิดปัญหาหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะนายวีระพงษ์ เป็นบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือและให้เกียรติ และการให้อำนาจคล้าย รัฐมนตรี แต่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอาจมีการแทรกแซงนโยบายทางด้านตลาดทุนเช่น กลต.ธปท. และองค์กรอิสระอื่น เป็นการหลบเลี่ยงไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิ และหนี้สิน เป็นการสร้างมิติที่ไม่สมควรขึ้นมา และจะเกิดข้อครหาได้ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลนอกเข้าไปล้วงลูกข้อมูลทางเศรษฐกิจ รู้ความลับที่ไม่ควรเปิดเผยในการประชุม ครม.

“การแต่งตั้งบุคคลระดับนี้ในลักษณะนี้ไม่น่าจะคุ้มค่า เพราะหากต้องการปรึกษา เรื่องใด ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำเป็นต้องแต่ตั้งมาเป็นที่ปรึกษา เป็นการหาผักชีชั้นสูงมาโรย ทำให้เกิดหน้าตาของทีม ครม.เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้น คำปรึกษาของคณะที่ปรึกษาส่งผลกระทบต่อการบริหารนโยบาย นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”

ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันที่จะสนับสนุนหากการปรับครม.เป็นไปเพื่อประเทศชาติและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เช่นการแต่งตั้ง รมว.ต่างประเทศ จุดยืนของพรรครัฐบาลต้องไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง รักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญไม่แทรกแซงองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรยุติธรรม แต่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดว่ากลุ่มพันธมิตรฯกังวลเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกลัวว่าจะมีการแก้ไขในมาตรา 63 ทั้งที่เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะชุมนุมได้โดยสงบ ดังนั้น นายกฯต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการใช้การเมืองมาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหาร ที่นายกฯระบุว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันเมื่อปี 2543 ซึ่งความจริงแผนที่ที่แนบเมื่อปี 2543 องค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ศาลโลกก็ให้การยอมรับ มีเพียงประเทศเดียวที่ปฏิเสธ คือ กัมพูชา แต่ นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศกลับไปลงนามในข้อตกลงยอมรับตามกัมพูชา ดังนั้น รัฐบาลควรหันมาสนใจปากท้องของประชาชนมากกว่าไปบิดเบือนทางการเมือง ดังนั้น นายกฯต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และลดปัญหาความขัดแย้งของประชาชน และมาให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องของประชาชนแต่จะเห็นได้ว่า ขณะนี้นายกฯกลับทำตรงกันข้าม
กำลังโหลดความคิดเห็น