xs
xsm
sm
md
lg

ADB เชื่อวิกฤตสภาพคล่องทุเลา เม็ดเงินไหลจะทะลักกลับสู่เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)
เอเอฟพี - เอดีบีเชื่อหลังวิกฤตสภาพคล่องโลกคลี่คลายลง เงินทุนจะไหลกลับสู่เอเชียอีกครั้ง แต่ให้ระวังว่าอาจบั่นทอนขีดความสามารถแข่งขัน พร้อมกันนี้ ยังแนะนำให้อินเดียเลียนแบบสูตรสำเร็จด้านโครงสร้างพื้นฐานและตลาดแรงงานของจีน หากต้องการให้เศรษฐกิจโตไวเหมือนพญามังกร

มาซาฮิโร คาวาอิ ผู้อำนวยการฝ่ายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แสดงความเชื่อมั่นระหว่างการประชุมประจำปีของเอดีบีในกรุงมาดริด สเปน เมื่อวันเสาร์ (3) ที่ผ่านมาว่า หลังจากระบบการเงินโลกกลับมีเสถียรภาพอีกครั้ง เงินทุนจำนวนมากจะหลั่งไหลกลับสู่เอเชีย

คาวาอิ ที่พ่วงเก้าอี้ที่ปรึกษาพิเศษของประธานเอดีบีอีกตำแหน่ง คาดว่า ตลาดการเงินโลกที่ขณะนี้ยังเผชิญวิกฤตสภาพคล่องที่มีสาเหตุจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ จะสามารถฟื้นคืนความเชื่อมั่นได้ภายใน 6-12 เดือน โดยเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าเอเชียจะรับส้มหล่นจากสถานการณ์นี้คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องอีกหลายไตรมาส

อย่างไรก็ตาม แม้การไหลกลับของเงินทุนอาจส่งผลดีต่อการลงทุนในเอเชีย แต่คาวาอิ เตือนว่า เหตุการณ์นี้อาจมาพร้อมผลพลอยได้ไม่พึงประสงค์คือ ขีดความสามารถแข่งขันถูกลิดรอนลง

ก่อนวิกฤตสภาพคล่อง ค่าเงินของหลายประเทศในเอเชียแข็งขึ้นเนื่องจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ กระตุ้นให้นักลงทุนกู้ยืมเงินทุนต้นทุนต่ำจากประเทศดังกล่าวไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินในภูมิภาค อาทิ เงินบาทของไทย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย ดอลลาร์สิงคโปร์ และเปโซของฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ กลายเป็นปัญหาหนักสำหรับผู้ส่งออกภายในภูมิภาค

ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมประจำปีครั้งที่แล้วของเอดีบีที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่น โดยฮารูฮิโกะ คุโรดะ ประธานเอดีบี เรียกร้องให้ชาติเอเชียร่วมมือกันทางการเงินมากขึ้นเพื่อรับมือกับการไหลเข้าของเงินทุนก้อนใหญ่

ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมเอดีบีล่าสุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีการแนะนำให้อินเดียเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและปฏิรูปตลาดแรงงานตามแบบจีน หากต้องการให้เศรษฐกิจโตเร็วเหมือนพญามังกร

ไบเบ็ก เดอบรอย นักเศรษฐศาสตร์จากเซนเตอร์ ฟอร์ โพลิซี รีเสิร์ชในนิวเดลี แจงว่า ความสำเร็จของผู้ผลิตจีนส่วนหนึ่งนั้นอิงกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของจีนที่ถือว่าดีกว่าอินเดีย

ราจีฟ ลาล ประธานบริหารอินฟราสตรักเจอร์ ดิเวลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ของอินเดีย ขานรับโดยยกตัวอย่างว่า ปี 2005 อินเดียทุ่มงบประมาณในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งสิ้น 5.9% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (จีดีพี) เทียบกับ 14.6 เปอร์เซ็นต์ของจีน และยังเป็นที่น่าสังเกตว่าเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการสาธารณูปโภคของจีนกว่าครึ่งหนึ่งมาจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นรูปแบบที่อินเดียยากจะเอาอย่าง

เดอบรอย ซึ่งเป็นผู้จัดเตรียมรายงานการศึกษาเปรียบเทียบตลาดแรงงานจีนกับอินเดียให้แก่เอดีบี สำทับว่า จีนยังได้ประโยชน์จากการปฏิรูปตลาดแรงงานที่ริเริ่มขึ้นเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งปูทางสู่การใช้ประโยชน์จากแรงงานที่รับงานด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตลาดแรงงานของจีนมีความยืดหยุ่นกว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานอินเดีย

อนึ่ง มีรายงานจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ซึ่งชี้ว่า อินเดียพูดถึงการปฏิรูปตลาดแรงงานบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 11.9 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา เทียบกับอินเดีย 9.4 เปอร์เซ็นต์

และแม้ในปีงบประมาณที่เพิ่งสิ้นสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม อินเดียสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 24,600 ล้านดอลลาร์ แต่จีนกลับทำได้ดีกว่าด้วยตัวเลขสูงถึง 74,700 ล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น