อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
การสั่งรับฟ้องคดีหวยบนดินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ดูเหมือนจะไม่มีความหมายในสายตาของ รบ.เพราะนอกจากจะหาเหตุอุ้ม 3 รมต.ให้ไม่ต้องหยุดพักงานแล้ว ยังถึงกับออกมติ ครม.สั่ง “อัยการสูงสุด” ให้จัดอัยการไว้เป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ทั้ง 47 คนด้วย (ทักษิณ-ครม.ทักษิณ-บอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งฯ) ด้าน สนง.อัยการสูงสุด แม้จะได้มีมติไปแล้วว่า เพื่อความชอบธรรม จะไม่รับแก้ต่างให้จำเลยในคดีที่ คตส.ฟ้อง เนื่องจากฟ้องแทนรัฐ แต่เมื่อเป็นใบสั่ง ครม.จึงส่อว่าจะไม่ขัดขืน ต้องลุ้นว่า ระหว่าง “รบ.” กับ “ความชอบธรรม” อัยการจะเลือกสิ่งไหน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ
หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องคดีหวยบนดินที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ ครม.รัฐบาลทักษิณ รวมทั้งคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตกเป็นจำเลยรวม 47 คน โดยจำเลย 3 คน ในคดีนี้ไม่เพียงเป็นอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ขณะนี้ยังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวชด้วย คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง, นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม แล ะนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีแรงงาน
ซึ่ง รธน.2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก็ระบุไว้ชัดว่า หากรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ก็พยายามดิ้น-เอาสีข้างเข้าถู โดยกอดเก้าอี้แน่น แล้วอ้างว่า ต้องให้กฤษฎีกาตีความหรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นางพรทิพย์ จาละ) ได้ขอเวลาพิจารณาเรื่องนี้ 2 สัปดาห์ ก็หวังว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายบริหาร จะตีความกฎหมายด้วยความเที่ยงตรง มิใช่เอาใจฝ่ายบริหาร!
ลำพังการไร้สปิริตและยึดติดตำแหน่งของ 3 รัฐมนตรีดังกล่าว ก็ทำให้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันหนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว แต่ ครม.นายสมัคร ยังทำให้ภาพลักษณ์ตัวเองที่แย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่ลงไปอีก โดยนอกจากจะอุ้ม 3 รัฐมนตรีว่าไม่ต้องหยุดทำหน้าที่แล้ว ยังมีมติทำหนังสือให้สำนักงานอัยการสูงสุด จัดอัยการไว้แก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ทั้ง 47 คนด้วย!?!
เป็นที่น่าสังเกตว่า มติ ครม.ดังกล่าว ไม่เพียงสะท้อนว่า ต้องการให้อัยการช่วยแก้ต่างให้ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ และข้าราชการที่นั่งอยู่ในบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้อัยการให้ช่วยแก้ต่างให้จำเลยอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ ครม.รัฐบาลทักษิณที่หมดอำนาจไปแล้วด้วย
ปัญหาตามมาทันทีว่า เมื่อโจทก์ที่เป็นผู้ฟ้องในคดีหวยบนดินคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ต้องออกโรงลุกขึ้นมาฟ้องคดีนี้ต่อศาลฯ เอง เพราะอัยการไม่ยอมสั่งฟ้องให้ โดยอ้างว่า สำนวนคดียังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับว่า คตส.ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นองค์กรของรัฐ ขณะที่อัยการซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเช่นกัน แต่นอกจากจะไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐด้วยการสั่งฟ้องจำเลยในคดีนี้แล้ว ยังกลับจะมาทำหน้าที่แก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ด้วย
แม้ว่าก่อนหน้านี้ สังคมจะได้เห็นท่าทีที่น่าเคลือบแคลงของอัยการหลายประการที่ส่อช่วยเหลือจำเลยในคดีหวยบนดิน(เช่น การให้ คตส.สอบเพิ่ม 5 ประเด็น โดยอ้างว่าสำนวนคดียังไม่สมบูรณ์, การอ้างว่าที่อัยการให้ คตส.สอบเพิ่ม ไม่ได้เป็นการเข้าข้างจำเลยอย่าง ครม.ทักษิณ และไม่ได้เกี่ยวกับการที่พรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล เพราะอัยการให้สอบเพิ่มก่อนที่จะทราบว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นการอ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เนื่องจากอัยการมีข้อสรุปให้ คตส.สอบเพิ่มเมื่อวันที่ 14 ม.ค.51 ขณะที่การประกาศจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.50) แต่อย่างน้อย เมื่อวันที่ 28 ก.ค.สังคมก็ยังพอได้เห็นท่าทีที่ถูกทำนองคลองธรรมของอัยการอยู่บ้าง กล่าวคือ หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับฟ้องคดีหวยบนดิน (28 ก.ค.) นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาข้อสงสัยที่ว่า พนักงานอัยการจะรับแก้ต่างให้จำเลยในคดีได้หรือไม่ หลังประชุม นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ เผยว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่า แม้อัยการจะสามารถรับแก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 (3) แต่เนื่องจาก คตส.เป็นโจทก์ฟ้องโดยใช้อำนาจแทนรัฐ พนักงานอัยการซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐเช่นกัน จึงไม่สมควรที่จะรับแก้ต่างให้จำเลย อันจะเป็นการขัดแย้งกับที่รัฐเป็นโจทก์ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงมีมติว่า พนักงานอัยการไม่ควรแก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้!
แต่ทันทีที่รัฐบาลทราบว่า อัยการสูงสุดมีมติไม่รับแก้ต่างให้จำเลยคดีหวยบนดิน ครม.นายสมัครก็รีบเดินเครื่องประชุมและมีมติ (29 ก.ค.)ให้อัยการสูงสุดจัดอัยการไว้แก้ต่างให้จำเลยในคดีดังกล่าวทั้ง 47 คน!?!
ด้าน นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รีบออกมารับลูกมติ ครม.ดังกล่าว โดยบอกในวันเดียวกันว่า ครม.ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อมีมติอย่างไร อัยการคงต้องปฏิบัติตาม ไม่อาจฝ่าฝืนคำสั่งได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ อัยการจะเห็นว่า เพื่อความชอบธรรมแล้ว ในคดีที่ คตส.เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการไม่ควรแก้ต่างให้ก็ตาม
นายธนพิชญ์ ยังเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ อัยการสูงสุดได้จัดวางกำลังอัยการไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับแล้วเช่นกัน โดยเตรียมให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 1-2 ทำหน้าที่แก้ต่างให้จำเลยในคดีที่ถูก คตส.ฟ้อง!?!
เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลนายสมัคร ได้พยายามส่งสัญญาณให้อัยการช่วยแก้ต่างให้จำเลยคดีที่ถูก คตส.ฟ้องตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2551 หลังจาก คตส.ยื่นฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้เพียง 1 สัปดาห์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นมือกฎหมายของพรรคพลังประชาชน ก็ได้ออกมาชี้ช่องว่า ครม.ทักษิณที่ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว มีสิทธิขอให้อัยการแก้ต่างคดีให้ได้ โดยอ้างว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ
มาถึงวันนี้ อดีต ครม.ทักษิณ ไม่ต้องเสียเวลาเดินเรื่องให้อัยการแก้ต่างคดีให้ตัวเอง เพราะ ครม.นายสมัคร มีมติสั่งให้อัยการสูงสุดรับแก้ต่างให้จำเลยทุกคนที่ถูก คตส.ฟ้องแล้ว ลองไปดูกันว่า ฝ่ายต่างๆ รับได้หรือไม่ ถ้าอัยการจะรับแก้ต่างให้จำเลยที่ถูก คตส.ฟ้อง
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการและเลขานุการ คตส.เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า ไม่แน่ใจว่าระเบียบอำนาจหน้าที่ของอัยการเขียนไว้อย่างไร แต่คิดว่า ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกประชาชนทั่วไปฟ้อง อัยการสามารถแก้ต่างคดีให้ได้ แต่ถ้ากรณีนี้อัยการรับแก้ต่างคดีให้ผู้ที่ถูก คตส.ฟ้อง ก็คงมีคำถามว่า แล้วคดีอื่นที่อัยการรับเป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้ คตส.อัยการจะรับแก้ต่างคดีให้จำเลยด้วยหรือไม่ ถ้ารับ แล้วอัยการฝ่ายโจทก์กับอัยการฝ่ายจำเลยจะสู้กันเองหรือ?
“ผมยังไม่ได้ไปดูระเบียบดูอำนาจเขา เขาทำอะไร เพราะคดีที่ผมให้อัยการฟ้อง ก็มีอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าอัยการฟ้อง ก็ต้องถามสิ สมมติ (คดีทุจริตบ้าน) เอื้ออาทร เนี่ย อัยการเห็นด้วย (กับ คตส.) ก็ฟ้อง ฟ้องเจ้าหน้าที่ไป แล้วแบบนี้คดี (บ้าน) เอื้ออาทรแบบนี้ อัยการจะแก้คดีให้ (จำเลย) มั้ย สมมติอัยการแก้ให้ ซีกหนึ่งก็อัยการ (สั่งฟ้อง) อีกซีกหนึ่งก็อัยการ (แก้ต่างคดีให้จำเลย) สู้กันเองเหรอ ผมงงๆ มันอะไรกัน (ถาม-ซึ่ง ครม.ทักษิณหมดอำนาจไปแล้วด้วย ยังให้อัยการแก้ต่างได้เหรอ?) เท่าที่ผมเข้าใจ อัยการเขาก็เป็นเรื่องเราทำงานหน้าที่ แล้วถูกใครเขาฟ้องเนี่ย ตรงนี้อัยการมาช่วย ทีนี้ถ้ารัฐฟ้องเองเนี่ย แล้วอัยการไปช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ก็งงสิแบบนี้”
ด้าน นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมแล้ว อัยการยังไม่มีสิทธิที่จะรับเป็นทนายแก้ต่างคดีให้ ครม.ทักษิณด้วย เพราะ ครม.ทักษิณ คือ “จำเลยของแผ่นดิน” ส่วนอัยการคือ “ทนายของแผ่นดิน” ไม่ใช่ “ทนายจำเลยของแผ่นดิน” และอัยการก็ไม่สามารถอ้างการที่ตนไม่ได้เป็นโจทก์สั่งฟ้องแทน คตส.ในคดีหวยบนดิน แล้วไปเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยได้
“เมื่อตัวเอง (อัยการ) มีความเห็นทางกฎหมายไม่ตรงกัน ไม่รับเป็นทนายให้ คตส.แล้ว ก็ไม่ใช่ไปรับว่าความให้จำเลยของรัฐ ต้องเอาหลักอย่างนี้ ต้องไม่ว่าความให้กับจำเลยของรัฐ (ถาม-ถ้าอัยการตัดสินใจไปอีกทางล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?) ผมคิดว่าจะถูกจับตามองมาก เพราะวันนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดถูกคนเพ่งเล็งมากแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น คนเขาอึดอัดมากนะ ความยุติธรรมที่ล่าช้า เช่น สอบสวนเพิ่มเติมไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งอันนี้มันจำเป็นหรือไม่จำเป็น คือถ้าหากว่าเป็นการประวิง เพื่อทำให้ (คดี) ล่าช้าเนี่ย มันก็เสียหาย ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นเวลาที่ต้องกอบกู้เกียรติภูมิของสำนักงานอัยการสูงสุด ...คือ ข้าราชการตกเป็นจำเลยของรัฐได้ ในกรณีนี้อัยการไม่มีสิทธิที่จะไปเป็นทนายจำเลยให้ แต่ถ้าถูกบุคคลภายนอกฟ้องข้าราชการให้ต้องรับผิด เพราะเหตุที่ปฏิบัติหน้าที่ อันนี้ใช่ (ให้อัยการแก้ต่างคดีให้ได้) แต่นี่รัฐฟ้อง (ให้อัยการแก้ต่างให้) ไม่ได้ ถ้า (เจ้าหน้าที่รัฐ) ถูกนาย ก.นาย ข.ฟ้อง ก็อีกเรื่องหนึ่ง คือ อัยการเป็น “ทนายความของแผ่นดิน” ไม่ใช่ “ทนายความของจำเลยแผ่นดิน” คือ วันนี้พวกนั้น (ครม.ทักษิณ) เป็นจำเลยของแผ่นดิน อัยการไม่มีสิทธิที่จะไปว่าความให้จำเลยแผ่นดิน”
นายไพศาล ยังเตือนสติอัยการด้วยว่า นอกจากอัยการจะไม่มีสิทธิรับแก้ต่างคดีให้จำเลยของแผ่นดินแล้ว สำหรับคดีหวยบนดิน ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะอัยการเห็นสำนวนคดีของ คตส.หมดแล้ว หากอัยการรับแก้ต่างให้จำเลย ย่อมสร้างความเสียหายแก่รัฐและแผ่นดินอย่างมาก ดังนั้นหากอัยการไม่ตระหนักในหน้าที่ของตนและไม่รักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของสถาบันสำนักงานอัยการสูงสุด วันหนึ่ง อาจมีประชาชนออกมาบอกก็ได้ว่า “องค์กรนี้ไม่มีประโยชน์แล้ว ควรยุบทิ้งซะดีกว่า”
คงต้องลุ้นกันว่า ที่สุดแล้ว อัยการสูงสุด (นายชัยเกษม นิติสิริ) จะเห็นตามที่โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์) ได้ส่งสัญญาณไว้หรือไม่ว่า “คงต้องทำตามคำสั่ง เพราะ ครม.เป็นผู้บังคับบัญชาของอัยการ แม้อัยการจะเห็นว่า เพื่อความชอบธรรมแล้ว ในคดีที่ คตส.เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการไม่ควรแก้ต่างให้ก็ตาม”
...งานนี้ ไม่เพียงจะเป็นบทพิสูจน์ว่า องค์กรอัยการยังจะเหลือ “ความชอบธรรม” ในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่? หรือจะยอมทิ้งความชอบธรรม เพียงเพื่อทำตามใบสั่งของฝ่ายบริหารของนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ...น่าเสียดายที่ว่า แม้ รธน.2550 ได้กำหนดให้อัยการสูงสุด “เป็นอิสระ” ไม่อยู่ใต้การกำกับของฝ่ายบริหารอีกต่อไป(รัฐบาลกำลังพยายามแก้ รธน.เพื่อให้อัยการกลับมาอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอีกครั้ง) แต่ดูเหมือนอัยการกลับยินดีที่จะอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหารอย่างไรอย่างนั้น!?!