xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วุฒิฯ ชี้พื้นที่รอบพระวิหาร เป็นอธิปไตยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล
กมธ.วุฒิฯ ยืนยันพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบประสาทพระวิหาร ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นอธิปไตยไทย จี้ รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมจดทะเบียนมรดโลก ชี้ขัด รธน.ม.190

วันนี้ (24 ก.ค.) คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา 6 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและธรรมาภิบาล ร่วมกันแถลงจุดยืนต่อกรณีเขาพระวิหาร

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและธรรมาภิบาล กล่าวถึงข้อพิพาทเขาพระวิหาร ระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ต่างอ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร บนเขาพระวิหาร ว่า กรรมาธิการ เห็นว่า ไม่มี “พื้นที่ทับซ้อน” มีแต่เพียงพื้นที่ของประเทศไทยเท่านั้น ชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ที่สันปันน้ำตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1904 และ 1907 รัฐบาลจะต้องยกเลิกแถลงการณ์ร่วม ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 รวมถึงเอกสารและหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบแถลงการณ์ร่วมทุกฉบับทันที เนื่องจากขัดต่อมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาฯ กล่าวว่า คำพิพากษาศาลโลก พ.ศ.2505 ระบุแต่เพียงให้ไทยส่งมอบตัวปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชาเท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงเขตแดนไทย-กัมพูชา และไม่ได้ยอมรับแผนที่ฉบับที่ฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว ตามที่กัมพูชาใช้เป็นหลักฐาน และในคำพิพากษาศาลโลก ไทยได้ยื่นสงวนสิทธิ์ที่จะรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ หากมีหลักฐานใหม่ สิทธินั้นยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นอกเหนือจากตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทย

น.ส.รสนา กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการมรดกโลก ข้อ 14 ที่กำหนดให้คณะทำงานรัฐบาลกัมพูชาร่วมมือกับยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องและพัฒนาปราสาทและพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียน ไม่ช้าไปกว่ากุมภาพันธ์ 2009 โดยให้เชิญผู้แทนฝ่ายไทย และผู้แทน international partners อีกไม่เกิน 7 แห่ง เข้ามาจัดการเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทที่เป็นดินแดนของไทย และรัฐบาลควรมีมาตรการเร่งรัด รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพิงพักร้าง รวมทั้งป้ายทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร ออกจากพื้นที่บริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ในประเทศไทยโดยเร็ว ภายหลังการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ กลุ่ม ส.ว.จะเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องปราสาทพระวิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น