xs
xsm
sm
md
lg

เขมรฟ้องยูเอ็น อ้างขึ้นมรดกโลกเป็นเหตุให้ไทยรุกเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารไทยเสริมกำลังเข้าไปยังบริเวณเขาพระวิหารในวันนี้ 19 ก.ค. (ภาพจากรอยเตอร์)
เอเอฟพี/ผู้จัดการออนไลน์ - กัมพูชารุกทีละคืบ ร้องสหประชาชาติ ระบุไทยส่งทหารเข้าพื้นที่เขาพระวิหารเพราะเขมรขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ยกแผนที่ในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1904 อ้าง แถมเชิญ จนท.ทูต มะกัน-จีน-ฝรั่งเศส-เวียดนาม ดูพื้นที่ให้ช่วยกดดันให้ไทยยอมถอนกำลังออกจากบริเวณเขาพระวิหาร "วิเชียรโชติ" โยนบาปพันธมิตรฯ ทำให้เกิดปัญหา

กองทัพทหารไทยกว่า 600 นาย และ กองทัพทหารกัมพูชามากกว่า 1,000 นายประจำการณ์อยู่รอบๆ วัดพุทธเชิงเขาพระวิหารอันเป็นจุดที่มีข้อพิพาททางดินแดนระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสอง โดยความตึงเครียดนั้นเกิดขึ้นเป็นวันที่ 5 แล้ว

ในวันนี้ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้รายงานต่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ร้องเรียนต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กรณีข้อพิพาททางดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาแล้ว ทั้งนี้กัมพูชาต้องการให้ยูเอ็นเข้ามาจัดการกรณีนี้ ขณะที่ทางรัฐบาลไทยต้องศึกษาคำร้องของกัมพูชาก่อนที่จะทำหนังสือแจ้งไปยงสหประชาชาติ

นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวโทษกลุ่มพันะมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา

"เรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนนั้น เป็นหน้าที่ของทหารและกระทรวงการต่างประเทศจะเจรจา ซึ่งมีการตอบรับจากฝ่ายกัมพูชาแล้ว แต่การกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน จนทำให้กัมพูชาไปขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติในครั้งนี้ ซึ่งเมื่อกลายเป็นความบาดหมางระหว่างประเทศเช่นนี้ ทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยเสียหายอย่างหนักในสายตานานาชาติ จึงขอให้กลุ่มพันธมิตรฯ และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหยุดความพยายามเคลื่อนไหวนอกกระบวนการ ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ"

ทั้งนี้ การส่งหนังสือถึงสหประชาชาติดังกล่าวของกัมพูชา เกิดขึ้นก่อนการนัดเจรจากันระหว่างตัวแทนของทั้งสองฝ่ายที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในวันจันทร์ (21 ก.ค.) จะถึงนี้ ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาจะส่ง พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชามาเจรจา ส่วนฝ่ายไทยนั้น นายสมัครได้มอบหมายให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นตัวแทน

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลกัมพูชายังได้เชิญตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส และเวียดนาม เพื่อมาดูบริเวณเขตแดนที่เกิดข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของทั้งสี่ชาติปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

“พวกเขามาที่นี่เพราะว่า พวกเขาไม่ต้องการจะเห็นการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ การต่อสู้กันของทั้งสองประเทศไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร” พ.อ.เสา โสกา ผู้บังคับการสารวัตรทหารกัมพูชากล่าว

ด้าน พ.อ.เสรย ดิค ผู้บังคับการกองกำลังกัมพูชาซึ่งรับผิดชอบภารกิจระบุว่า เขาได้รับคำสั่งว่าให้ทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน โดย พ.อ.เสรย กล่าวว่า ตนเองได้พูดคุยกับ พ.อ.ชยันต์ หวยสูงเนิน รอง ผบ.กองกำลังสุรนารีแล้วว่า กองกำลังที่อยู่แนวหน้าควรเก็บอาวุธ ขณะที่ทหารกัมพูชายังถูกสั่งห้ามไม่ให้ดื่มของมึนเมาเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะใดๆ บริเวณวัด อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่าเขตแดนที่มีข้อพิพาทนั้นเป็นของกัมพูชา รวมถึงตัวปราสาทพระวิหาร โดยอ้างถึงสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904

กัมพูชาอ้างขึ้นทะเบียน “มรดกโลก” กระตุ้นไทยยึดเขาพระวิหาร

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า กัมพูชาได้นำเรื่องปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนบริเวณเขาพระวิหารแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้ว โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นในนครนิวยอร์ก ผู้แทนกัมพูชาประจำยูเอ็นได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาตามแผนที่ในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสใน ค.ศ.1904 ที่เก็บไว้ ณ ศาลโลก พร้อมกับระบุว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในสังคมไทย ทำให้ทหารไทยบุกขึ้นไปยึดพื้นที่ของกัมพูชาในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม การแจ้งเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการส่งหนังสือแจ้งเพื่อทราบโดยไม่ได้ร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นดำเนินการใดๆ

วานนี้ (18 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหนังสือที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามถึงสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อตอบหนังสือที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชามีมาถึงฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 ให้แก่นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย โดยหนังสือดังกล่าวยืนยันว่า พื้นที่บริเวณวัดแก้วศิขเรศวรที่กล่าวถึงในหนังสือของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอยู่ในดินแดนของไทย การที่ได้มีชาวกัมพูชาขึ้นไปสร้างวัด สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งที่อยู่อาศัย กับทั้งมีทหารอยู่ในพื้นที่นั้น ถือว่าได้ละเมิดอธิปไตยและดินแดนของไทย ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้ทำการประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2547 2548 2550 และครั้งหลังสุดเมื่อเดือนเมษายน 2551



คลิกอ่านข้อมูล ข่าวและบทความเกี่ยวกับกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

ทหารไทย (ยืน) กับทหารกัมพูชา (นั่ง) บริเวณเขตแดนที่มีข้อพิพาท (ภาพจากรอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น