xs
xsm
sm
md
lg

กต.เผย “หมัก” ตอบ “ฮุนเซน” ยันเขมรละเมิดเขตแดนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
กต.แถลงผ่านเว็บไซต์ เผย จม. “หมัก” ตอบกลับ “ฮุนเซน” ยืนยันบริเวณวัดแก้วศิขเรศวร เชิงเขาพระวิหารเป็นดินแดนของไทย ย้ำชาวบ้านและทหารเขมรละเมิดอธิปไตยและดินแดนไทย ตามที่ฝ่ายไทยเคยยื่นประท้วงแล้ว 4 ครั้ง แต่ย้ำหาทางออกอย่างฉันมิตร โดยการเจรจาผ่านคณะกรรมการเขตแดน ระบุเขมรละเมิดข้อตกลงปี 43 จนต้องยื่นประท้วงตลอด 4 ครั้งแต่ฝ่ายกัมพูชายังนิ่งเฉย

เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (18 กรกฎาคม 2551) กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญนายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาพบเพื่อมอบหนังสือที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามถึงสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อตอบหนังสือที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชามีมาถึงฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551

หนังสือของนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธีและเป็นธรรม โดยมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) สมัยพิเศษ ที่จังหวัดสระแก้ว ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เพื่อหารืออย่างฉันมิตรกับฝ่ายกัมพูชา และย้ำว่าทั้งสองประเทศควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลุกลาม

นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันว่า พื้นที่บริเวณวัดแก้วศิขเรศวรที่กล่าวถึงในหนังสือของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอยู่ในดินแดนของไทย การที่ได้มีชาวกัมพูชาขึ้นไปสร้างวัด สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งที่อยู่อาศัย กับทั้งมีทหารอยู่ในพื้นที่นั้น ถือว่าได้ละเมิดอธิปไตยและดินแดนของไทย ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้ทำการประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2547 2548 2550 และครั้งหลังสุดเมื่อเดือนเมษายน 2551

ฝ่ายไทยเห็นว่าการที่กัมพูชาเพิ่มกำลังทหารจาก 200 นายเป็นกว่า 1,000 นายได้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น นายกรัฐมนตรีของไทยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและควรเร่งรัดให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission: JBC) หารือโดยเร็วเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวระหว่างทั้งสองประเทศ อันจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก และในระหว่างที่ JBC ดำเนินการอยู่ ฝ่ายไทยพร้อมที่จะเจรจาหารือถึงมาตรการชั่วคราวต่างๆ ที่จะใช้ไปก่อน เพื่อหยุดยั้งปัญหาใดๆ ที่อาจจะมีขึ้น

หลังการมอบหนังสือให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทยอีก 8 ประเทศมาพบเพื่อแจ้งท่าทีไทยและมอบสำเนาหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.2008 จากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงนายกรัฐมนตรีไทย หนังสือลงวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.2008 จากนายกรัฐมนตรีไทยถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมด้วยเอกสารแนบคือสำเนาหนังสือประท้วง 4 ฉบับ ตลอดจนบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2543

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เวียนเอกสารดังกล่าวให้แก่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย

นายธฤต ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การประท้วงทั้ง 4 ครั้งของไทยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฯ ปี 2543 ซึ่งข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจฯ ระบุว่า ระหว่างที่การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งสองฝ่ายจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชายแดน บนพื้นฐานของข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจ

ฝ่ายไทยทำการประท้วงต่อกัมพูชาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ประท้วงการขยายตัวของชุมชนกัมพูชาซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ชายแดนและก่อปัญหาขยะมูลฝอยและปัญหาน้ำเสียซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยในบริเวณที่อยู่ต่ำกว่า รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม 2548 ได้ยื่นหนังสือประท้วงกัมพูชาเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของกัมพูชาในการก่อสร้างและปรับปรุงถนนจากบ้านโกมุย อำเภอจอมกสาน จังหวัดพระวิหาร ถึงปราสาทพระวิหาร

หลังจากนั้น วันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ได้ยื่นหนังสือประท้วงคัดค้านเอกสารเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกของกัมพูชา และต่อการออกพระราชกฤษฎีกากัมพูชากำหนดเขตอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งล้ำดินแดนไทย

และวันที่ 10 เมษายน 2551 ได้ยื่นหนังสือประท้วงกัมพูชาที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยและละเมิดข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจฯ ปี 2543 โดยย้ำคำประท้วงที่ผ่านมาทั้งสามครั้ง รวมทั้งขอให้ถอนกำลังทหารและตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันของกัมพูชาและไทยออกทันที อย่างไรก็ดี กัมพูชาไม่เคยตอบสนองคำประท้วงของไทย

ขณะนี้ สถานการณ์ทั่วไปยังเป็นปกติ

สำหรับการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่นายสมัครได้เรียกประชุมผู้นำเหล่าทัพ พร้อมด้วบ ผบ.ตร. เลขาธิการ สมช. และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีที่สมเด็จฮุนเซนส่งจดหมายถึงนาสมัคร เรียกร้องให้สั่งการถอนทหารไทยออกจากเขาพระวิหารและพื้นที่รอบๆ โดยเร็ว โดยอ้างว่าฝ่ายไทยได้รุกล้ำเข้าไปในดินแดนเขมร และมีการนัดเจรจากันระหว่าง รมว.กลาโหมของทั้งสองฝ่ายที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในวันจันทร์ที่ 21 ก.ค.นี้ โดยฝ่ายกัมพูชาจะส่ง พล.อ.เตีย บัญ รมว.กลาโหมมาเจรจา ส่วนฝ่ายไทยนั้น นายสมัครได้มอบหมายให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส.เป็นตัวแทน

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า ท่าทีของนายสมัครที่ตอบหนังสือสมเด็จฮุนเซนครั้งนี้ แตกต่างจากท่าทีของนายสมัครก่อนหน้านี้ ที่พูดมาตลอดว่าพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไปนานแล้ว ทั้งยังด่าทอกลุ่มธรรมยาตรา 3 คน ที่เข้าไปประท้วงบริเวณสะพานข้ามคลองเชื่อมเข้าสู่เชิงบันไดขึ้นปราสาทพระวิหาร ว่าเป็นคนบ้า โดยนายสมัครกล่าวหาว่าทั้ง 3 คนจงใจเข้าไปอยู่ในดินแดนกัมพูชาเพื่อให้เกิดความขัดแย้งจน 2 ฝ่ายรบกัน และทำให้ทหารออกมาปฏิวัติ



คลิกอ่านข้อมูล ข่าวและบทความเกี่ยวกับกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร

กำลังโหลดความคิดเห็น