xs
xsm
sm
md
lg

วิป รบ.รับลูก “หมัก” เล็งแก้ รธน.ม.237-190 เหิมจ้องรื้ออำนาจศาล!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพปช.
ปธ.วิปรัฐบาลเผยประเด็นแก้ รธน.พรรคร่วมรัฐบาลขอหารือภายในก่อน พปช.ยันต้องให้เกียรติไม่เร่งรัด พร้อมหาข้อสรุปร่วมกัน ลั่นต้องแก้ ม.237-190 ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต แม้พรรคร่วมบางพรรคไม่เห็นด้วย ด้าน “พีระพันธ์” หนุนแก้ ม.190 เสนอทบทวนอำนาจตุลาการ ล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร เพราะทำให้ทำงานลำบาก

วันนี้ (14 ก.ค.) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ ทำเนียบรัฐบาล นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล แถลงผลการประชุมว่า วันนี้ไม่ได้หารือเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่ละพรรคมีทีท่าว่าจะขอเอาไปคุยกันในพรรคก่อนที่จะคุยกันในวิป ผู้สื่อข่าวถามว่าทีท่าของวิปส่วนใหญ่อยากจะให้มีการแก้ รธน.หรือไม่ นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้คุยเรื่องนี้กัน คิดว่าเป็นเรื่องที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เพิ่งเปิดประเด็นเมื่อวานนี้ ทุกฝ่ายทุกคนก็กำลังพยายามติดตามข้อมูล ซึ่งตนก็ได้ถามกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯที่ร่วมประชุมวิปด้วยท่านเองก็ยังต้องถามนายกฯ ว่าที่พูดเมื่อวานนี้ท่านมีแนวในการปฏิบัติอย่างไร

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ก็อย่างที่เคยเรียนให้ทราบแล้วว่าเรามีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมธิการชุดดังกล่าวมีกำหนดเวลาศึกษาอยู่ 60 วัน ต้องเสร็จภายในเดือนสิงหาคม และวันนี้คณะกรรมาธิการก็ได้แบ่งคณะย่อยออกเป็นอนุกรรมาธิการ 5 กลุ่มเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ อย่างช่วงบ่ายนี้ก็มีการประชุมคณะที่ดูแลเรื่องโครงสร้างรัฐธรรมนูญ และพรุ่งนี้วันอังคาร (15 ก.ค.) จะมีการประชุมตามปกติในเวลา 09.30 น. และถ้าอนุกรรมาธิการชุดไหนพร้อมที่จะมารายงานก็จะนำมารายงานในส่วนที่เสร็จแล้ว

“ฉะนั้น ไม่ว่าท่านนายกฯ จะเปิดประเด็นการแก้หรือจะมีการยกร่างญัตติขอแก้ รธน. ประเด็นที่จะขอแก้ก็คงจะต้องคำนึงถึงในส่วนที่คณะกรรมาธิการเขาได้ศึกษามาด้วย นอกจากนั้นยังมีส่วนที่สถาบันอื่นๆ เขาได้ทำล่วงหน้าในการศึกษาประเด็นปัญหาของการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้แล้วหลายส่วน รวมไปถึงภาคประชาชนเองก็ตอนนี้ทยอยเสนอประเด็นปัญหาอุปสรรคในการใช้เข้ามาอีก” นายสามารถ กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าแก้แล้วจะมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีสองพรรคไม่มีท่าทีจะเห็นด้วย นายสามารถ กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่เรายังไม่ได้พูดกันในวันนี้ เพราะว่าเรื่องมันเพิ่งเปิดประเด็น ฉะนั้น เราจึงให้โอกาสพรรคร่วมรัฐบาลได้ปรึกษาหารือกัน เพราะเราต้องให้เกียรติพรรคร่วมคงไม่ไปเร่งรัด

เมื่อถามว่าดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีจะแก้แต่มาตรา 237 มาตราเดียวใช่หรือไม่ถ้าหากเปิดสภา นายสามารถ กล่าวว่า ก็เป็นความเห็นของนายกฯ ก็เป็นมาตราหนึ่งในหลายๆ มาตราที่คงจะต้องมีการพูดกัน

“นายกฯ ในฐานะที่ท่านก็เป็นหัวหน้ารัฐบาล หัวหน้าพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในธรรมเนียมแล้ว ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจดำเนินการท่านก็ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ก็คงไม่เดินไปโดยพลการ เรื่องที่แก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การจะทำอะไรก็คิดว่าคงไม่ผลีผลาม คงต้องหารือเพิ่มหลายๆ ฝ่าย” นายสามารถ กล่าว

เมื่อถามว่าในความเห็นส่วนตัวการเสนอญัตติแก้ รธน.ที่จะมีการเปิดสภาเป็นการเหมาะสมหรือไม่กับสถานการณ์การเมืองที่แตกแยกยังงี้ นายสามารถ กล่าวว่า รธน.เป็นสิ่งที่แก้ได้ถ้า รธน.ตรงไหนมีปัญหาอาจจะต่อการบริหารงาน ต่อการพัฒนาสถาบันทางการเมือง อย่างเช่น มาตรา 237 วรรคสองทำให้พรรคการเมืองมันอยู่ไม่ได้ เพราะไปเขียนว่าถ้ากรรมการบริหารพรรคไปกระทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบของ กกต.ที่ออกมาละเอียดยิบ และถ้าไปพลาดพลั้งทำแล้วพรรคทั้งพรรคซึ่งเป็นนิติบุคคล มีสมาชิกเป็นสิบล้านคนต้องมาร่วมชอบด้วย เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค อย่างนี้ตนคิดว่าจะไม่เหลือพรรคการเมืองอยู่เลย หรือไม่เช่นนั้นเราก็ต้องตั้งพรรคกันไว้เยอะๆ เผื่อเจอปัญหาก็ย้ายกันไปเรื่อย

นายสามารถ กล่าวอีกว่า เจตนาเราจะพัฒนาสถาบันทางการเมืองเหมือนต่างประเทศเราทำไม่ได้ หรือกระทั่งการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศตามมาตรา 190 ที่มี 6 วรรค ซึ่งวรรที่หนึ่งเหมือนรธน.ฉบับก่อนๆ พอวรรคที่ 2-6 จะเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศหรือรัฐบาลไม่สามารถจะไปทำสนธิสัญญาหรือผูกพันกับต่างประเทศได้ เพราะว่าถ้าทำอะไรก็ตามที่มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจสังคม การลงทุนที่เป็นนัยสำคัญ จะต้องให้ข้อมูลกับประชาชน ต้องทำประชาพิจารณ์ จากนั้นให้รัฐสภามีความเห็นชอบ และเมื่อเซ็นต์สัญญาเสร็จก่อนที่ให้สัญญามีผลใช้บังคับก็ต้องกลับมาดูว่าผลบังคับนั้นจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ถ้ากระทบรัฐจะต้องชดเชยความเสียหายให้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

“ถามว่าในทางปฏิบัติจะทำได้ไหม วันนี้ผมว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องชะลอทุกเรื่องเอาไว้หมด แค่ให้ข้อมูลประชาชนให้ประชาชนได้ทราบเงื่อนไขในสัญญาแม้กระทั่งทำประชาพิจารณ์ทั้งประเทศก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ผู้ใดไม่ปฏิบัติ ผู้ใดยังไม่ได้มาบริหารพูดได้เขียนได้ แต่ถ้ามานั่งบริหารแล้วทำไม่ได้บ้านเมืองก็มีปัญหา” นายสามารถ กล่าว

ด้าน นายพีระพันธ์ พาลุสุข ผู้ช่วยเลขานุการวิปรัฐบาล ซึ่งร่วมประชุมวิปฯ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญบอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ เพราะฉะนั้น การวินิจฉัยในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ผูกพันกับกระทรวงการต่างประเทศ แต่ทุกกระทรวงที่ต้องไปเซ็นสัญญากับต่างประเทศต้องนำกลับมาในฐานอันเดียวกัน จึงเกิดข้อสงสัยอีกมากมายว่า การเซ็นสัญญาต่างๆ ของหลายกระทรวงจะเข้าข่ายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้หรือไม่ จึงจะเป็นปัญหาต่อไปอีก

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าคำวินิจฉัยมีผลผูกพันกับรัฐและรัฐสภา แสดงว่าจะมีการแก้ไขไม่ให้ผูกพันใช่หรือไม่ นายพีระพันธ์ กล่าวว่า เขียนไว้อย่างนี้มันผูกพัน เมื่อผูกพันก็ไม่ได้ว่าอะไร หน่วยงานรัฐต้องยึดคำวินิจฉัยนี้เป็นฐานในการทำงานกันต่อไป นั่นเป็นปัญหาที่มันเกิดขึ้น ตอนนี้ทุกคนต้องกลับมาถามว่าถ้าจะเอาตามมาตรฐานที่ท่านวินิจฉัย ดังนั้นอะไรคือสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้นถือว่ากว้างขวางมาก และท่านไม่ได้บอกอะไรให้ชัดเจน

“นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เขียนเกินกว่าที่มันควรจะเป็น ก็คือเขียนบทเป็นข้อยกเว้นไว้ แต่ข้อยกเว้นนั้นกลับกลายเป็นหลักทั่วไปอีกในตัวของมันเอง” นายพีระพันธ์ กล่าว

นายพีระพันธ์ กล่าวภายหลังการแถลงอีกว่า มีนักวิชาการบางท่านได้ออกมาพูดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ ก็เหมือนที่ได้เรียนมาว่าที่ให้ระวังการตีความรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเองโดยศาล ฉะนั้น ถ้ายังยึดตามแนวคำวินิจฉัยที่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนให้มันชัด ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆเขียนไว้ชัดแล้วยกเว้น 3 เรื่องที่ต้องผ่านสภา แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผู้ร่างห่วงเรื่องเอฟทีเอมากเกินไปจึงเขียนครอบไปหมด พอไม่ชัดเจนก็ให้ศาลวินิจฉัย ท่านก็วินิจฉัยอย่างนี้ซึ่งก็ยุติด้วยข้อกฎหมาย

“เสร็จแล้วมันก่อให้เกิดปัญหากับประเทศไหม ผมคิดว่ามันเกิดเพราะไม่รู้ว่าจะทำงานยังไงต่อไป ตรงนี้ต้องหาทางแก้ต่อไปว่าอะไรหละคือเรื่องที่กระทบต่อเศรษฐกิจสังคมกันอย่างกว้างขวาง และบางครั้งเราก็เอาเหตุผลที่อยู่ในกฎหมายหนึ่งคือกฎหมายอาญามาวินิจฉัยหลักฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมว่ามันไม่ใช่ พอเซ็นต์สัญญาไปก็บอกว่าจะมีคนคัดค้านซึ่งเป็นเรื่องทางกฎหมายอาญา เจตนาเล็งเห็นผล แต่นี่กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอย่างนั้น ต้องถามต่อว่าฝ่ายบริหารที่ทำงานต่อไปจะทำงานอย่างไร” นายพีระพันธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ส.ส.พลังประชาชน เสนอว่าในการแก้รัฐธรรมนูญควรจะพิจารณาเรื่องอำนาจขอศาลที่มีผลต่องานของฝ่ายบริหาร นายพีระพันธ์ กล่าวว่า คือว่าต้องวางโครงสร้างให้พอดี ก็ให้ฝ่ายบริหารทำงานของเขาได้ ฝ่ายศาลก็มาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายตรงนั้นที่มีการวางลิมิตอยู่

“แต่พึงระมัดระวังว่า ศาลมาวินิจฉัยทุกเรื่องก็จะเป็นการวินิจฉัยในเรื่องที่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารไป มันก็จะเหมือนกับบางประเทศที่เคยเกิด ที่เขาบอกว่าศาลมาเป็นรัฐบาลเสียเอง อันนั้นต้องระวัง”

เมื่อถามว่า ถ้าพูดมาขนาดนี้แสดงว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็คงจะไม่ใข่แค่แก้ 2-3 มาตรา นายพีระพันธ์ กล่าวว่า ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราวางโครงสร้างให้ดีทุกคนก็จะทำงานในกลไก ตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ภายในกรอบของตัวเอง ถ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ล้ำแดนเข้ามามากๆ คนที่ทำงานก็ทำงานลำบาก

ชี้รอผลศึกษา กมธ.ลั่นเสร็จทันพร้อมยื่นแก้ รธน.

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน ในฐานะกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุในรายการ”สนทนาประสาสมัคร” จะให้ยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือกันว่าจะมีการแก้ไขประเด็นใดบ้างเพราะในเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้แบ่งเป็น 5 คณะไปศึกษา ยังไม่มีผลสรุปออกมาซึ่งมีเวลาศึกษาให้เสร็จภายใน 60 วัน เหลืออีก 4-5 ครั้ง ต้นเดือนสิงหาคม คงจะมีความชัดเจน เท่าที่ฟัง คงแก้ไขไม่กี่ประเด็น

เมื่อถามว่าเป็นห่วงว่าจะมีกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นหรือไม่ นายบุญจงกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการจะให้มีความเห็นด้วยทั้งหมด คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น หากทำการศึกษาเสร็จสิ้น ทุกอย่างพร้อมก็สามารถยื่นเสนอเข้าสู่สภาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

โยนผิดพันธมิตรฯ ดาวกระจาย ต้นเหตุม็อบปะทะ

เมื่อถามถึงกรณีที่มีม็อบต่อต้านไปก่อกวนการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกระจายในหลายจังหวัดทั่วประเทศนั้น นายบุญจงกล่าวว่าเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มพันธมิตรฯก็มีฝ่ายต่อต้านใช่ว่าจะมีผู้สนับสนุนเท่านั้น ปัญหาที่บานปลายออกไปเนื่องจากพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวโดยใช้ยุทธวิธีดาวกระจายออกไปทั่วประเทศ ทำให้ฝ่ายที่ต่อต้านและกลุ่มไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหวไปทุกที่เช่นกัน

นายบุญจง ยังเสนอว่าทางออกในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามขยายผลไปมากกว่านี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ควรชุมนุมในที่สาธารณะไม่ใช้เดินสายไปโจมตีแบบดาวกระจาย ก็จะต้องเจอกลุ่มต่อต้านแน่นอน และทางที่ดีพันธมิตรฯ ควรยุติการชุมนุม และไม่เคลื่อนไหวในลักษณะดาวกระจาย ก็จะไม่มีกลุ่มต่อต้านออกมา จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบลงไปอย่างแน่นอน

“ถ้ายังมีการเคลื่อนไหวเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ม็อบปะทะกันจนมีเลือดตกยางออก ทำให้คนไทยต้องปะทะกันเองซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง”นายบุญจงกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในต่างจังหวัดนั้น เกือบทุกแห่ง จะมีฝ่ายต่อต้านเข้าไปก่อกวนสร้างความรุนแรงตลอดเวลา โดยมีคนของพรรคพลังประชาชนอยู่เบื้องหลัง แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรฯ จะจัดชุมนุมในสถานที่สาธาณณะที่กำหนดไว้แน่นอน เช่น ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ลานกลางแจ้งสวนสาธารณะ จ.ขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งก็มีกลุ่มก่อกวนเข้าไปก่อกวนใช้ความรุนแรงข่มขู่ให้หยุดการชุมนุม โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น