xs
xsm
sm
md
lg

จบเห่! มติตุลาการ รธน.ชี้ “ไชยา” พ้นสภาพ รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชยา สะสมทรัพย์
ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ “ไชยา” พ้นจากการเป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่ 7 มี.ค.51 กรณีแจ้งการครอบครองหุ้นของภรรยาต่อ ป.ป.ช.เลยกำหนด ขณะที่ “วิรุฬ” จ่อคิวรายต่อไป

วันนี้ (9 ก.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนาย ชัช ชลวร เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่ออภิปรายด้วยวาจาและลงมติในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของส.ว. 36 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนาย ไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) เนื่องจากกระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)วินิจฉัยว่านาง จุไร สะสมทรัพย์ ภรรยา ถือหุ้นในบริษัททรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นการขัดกับพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 จากนั้นได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย ซึ่งปรากฏว่าตัวแทนฝ่ายผู้ร้องประกอบด้วย นาย ประสาร มฤคพิทักษ์ น.ส. รสนา โตสิตระกูล นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว. เดินทางเข้ารับฟัง ขณะที่ผู้ถูกร้องคือนายไชยา ไม่ได้เดินทางมาและไม่ส่งตัวแทนเข้ารับฟัง ศาลฯจึงได้อ่านคำวินิจฉัยให้กับผู้ร้องทราบ และให้ถือว่าผู้ถูกร้องได้รับทราบแล้ว

ทั้งนี้การอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวประธานศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้นายบุญส่ง กุลบุปผา และนาย วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินการ สรุปสาระสำคัญได้ว่า ส.ว.จำนวน 36 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า1ใน 10 ของ ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ยื่นต่อประธานวุฒิสภา จึงเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้ว่าสามารถส่งมาให้ศาลวินิจฉัยได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งของนายไชยา ที่ว่า ส.ว.และประธานวุฒิไม่สามารถยื่นคำร้องและศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้

ส่วนที่นายไชยา แย้งว่า ป.ป.ช.นำรัฐธรรมนูญมาตรา 269 พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีพ.ศ.2543 มาตรา 4และ5 มาบังคับเป็นผลร้าย แก่คู่สมรส รวมถึงรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ในการแจ้งการเป็นหุ้นส่วน และหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทในจำนวนที่เกินกว่ากฎหมายบัญญัติต่อประธานป.ป.ช. ศาลฯเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 269 วรรค 3 บัญญัติให้การแจ้งถือครองหุ้นและการรับประโยชน์จากการถือครองหุ้นของนายกฯ และรัฐมนตรีมาใช้บังคับกับคู่สมรสของนายกฯและรัฐมนตรีด้วย จึงเป็นหน้าที่ของนายกฯและรัฐมนตรีที่ต้องแจ้งให้ประธานป.ป.ช.ทราบถึงการถือครองหุ้น และการได้รับประโยชน์จากการถือครองหุ้นของคู่สมรส ตามาตรา 269ประกอบมาตรา 5 พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 และคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ มิได้นำกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่คู่สมรสของนายไชยาแต่อย่างใด ข้อโต้แย้งประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับที่นายไชยาแย้งว่าได้ยื่นบัญชีแสดงรายการหนี้สินและทรัพย์สินตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแล้วย่อมถือว่าได้ว่า การแจ้งดังกล่าวนั้นนายไชยาได้แจ้งเป็นหนังสือต่อประธานป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ด้วย และประธานป.ป.ช.รับทราบ การถือครองหุ้นของคู่สมรสแล้วภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรมว.สาธารณสุข จึงไม่ได้มีเจตนาจงใจในการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ศาลเห็นว่า การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของรัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 259 แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 269 เป็นบทบัญญัติ กรณีที่รัฐมนตรีประสงค์ที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดโดยให้รัฐมนตรีแจ้งต่อประธานป.ป.ช.ทราบภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นที่ถืออยู่ ให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ โดยให้นำมาใช้กับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย ดังนั้นนายไชยา ในฐานะรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ประธานป.ป.ช.ทราบ โดยการยื่นแสดงบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินแต่ละครั้งเป็นคนละกรณีกับการแจ้งการถือครองหุ้มตามมาตรา 269 และนายไชยาก็ได้รับทราบหลักการเพิ่มเติมถึงการมีหน้าที่ ที่ต้องแจ้งความประสงค์ ที่จะรับประโยชน์จากการถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ของคู่สมรสต่อประธานป.ป.ช.ภายในกำหนดเวลา การไม่ดำเนินการถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยเจตนา คำโต้แย้งนี้ก็ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่แย้งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 269 เป็นการจำกัดสิทธิในการเป็นหุ้นส่วน หรือการเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ของนายกฯ รัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของนายกฯ และรัฐมนตรีนั้นเห็นว่า เป็นกรณีที่นายไชยาแย้งว่ามาตรา 269 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ประกอบมาตรา 41 แต่ทั้งหมดเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ซึ่งไม่อาจขัดหรือแย้งกันได้ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติ ว่านายไชยา ได้รับแต่งตั้งเป็นรมว.สาธารณสุขเมื่อ 6 ก.พ.51และได้ยื่นบัญชีแสดงรายการหนี้สิ้นและทรัพย์สินของตนเอง และคู่สมรสต่อป.ป.ช. เมื่อ 19 ก.พ. 51 กรณีเข้ารับตำแหน่งโดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งต่อประธานป.ป.ช. ว่าจะรับประโยชน์จากการที่ คู่สมรสถือหุ้นในบริษัททรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้น ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี

“ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 แม้ว่าปัจจุบันพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี 2543 ยังไม่ได้มีการบัญญัติ ให้รวมถึง การถือครองหุ้นส่วน และได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวของคู่สมรส และบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 269 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้นั้นที่ต้องแจ้ง รัฐมนตรีแจ้งต่อประธานป.ป.ช.ทราบ รัฐมนตรีจึงมีหน้าที่ต้องแจ้ง กรณีการกระทำของนายไชยา จึงถือว่าเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 269 เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 269” คำวินิจฉัยระบุ

นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่ได้รับแต่งตั้ง (7มี.ค.51)เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อกระทำการอันต้องห้าม ตามาตรา 269 ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กำหนดไว้เกิดขึ้น ความเป็นรัฐมนตรี ต้องสิ้นสุดลง ทันทีไม่ใช่สิ้นสุดลงในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมาคำวินิจฉัย ส่วนมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการบัญญัติถึงการออกจากตำแหน่งไว้ เพื่อแก้ปัญหาอันเกี่ยวกับกิจการ ที่รัฐมนตรีได้กำทำไปหลังจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมาคำวินิจฉัย ไม่ให้กระทบกระเทือนกิจการที่กระทำไปในระหว่างนั้น หากความเห็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยย่อมไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติรับรองกิจการ ที่ทำไปก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้านนายประสาร กล่าวภายหลังรับทราบคำวินิจฉัยว่า ส.ว.ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและคานอำนาจของผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย คำวินิจฉัยที่ออกมาทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพ และมีผลเป็นบรรทัดฐานให้กับนักการเมืองในสังคมไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคำตัดสินดังกล่าวจะยิ่งทำให้สังคมเชื่อมั่นในกระบวนการยุติรรมที่ยังให้ความหวังกับสังคมไทยต่อไป

นายวรินทร์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้หลังจากนี้นักการเมืองต้องระวังและศึกษารัฐธรรมนูญให้อย่างถ่องแท้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ต่อไปในอนาคตนักการเมืองไทยไม่สามารถที่จะเอาสีข้างเข้าถูได้อีกต่อไปแล้ว

“ ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่านายไชยาสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี 30 วันนับแต่เข้าดำรงตำแหน่ง ส่วนผลการปฏิบัติหน้าระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ศาลฯก็เห็นว่าหากจะชี้ขาดว่าให้กระทบต่อการทำหน้าที่ก่อนมีคำวินิจฉัยอาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้ จึงให้ถือว่าการทำหน้าที่ของนายไชยา ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้บริหารประเทศ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ใดๆของนายไชยาระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง จะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนเงินเดือนและรายได้อื่นๆ ที่ได้รับระหว่างที่เป็นรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาว่าจะนายไชยาจะต้องคืนเงินเดือนให้กับแผ่นดินหรือไม่”

ทั้งนี้ ในการฟังคำวินิจนิจฉัยของ นายไชยา ปรากฏว่า นายไชยา ไม่ได้เดินมาฟังด้วยตัวเอง โดยมีข่าว ว่า นายไชยา ไปเยี่ยมภรรยาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และไม่ได้มีการมอบหมายให้ใครเป็นตัวแทนในการฟังคำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ด้วย

สำหรับ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นรัฐมนตรีรายต่อไปที่ถูกร้องเรียนว่ากระทำผิดในลักษณะเดียวกัน

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสิน นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อไป ซึ่งต้องทำการปรึกษาหารือกับ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารพรรคก่อน อย่างไรก็ตาม พร้อมขอน้อมรับคำตัดสินของศาล

นอกจากนี้ การสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทนนั้น นายไชยา บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหาร ในการหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า ส.ส.ทุกคนมีคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรีได้หมด
กำลังโหลดความคิดเห็น