“เสรี สุวรรณภานนท์” อดีต ส.ส.ร. 50 ฟันธง ! "ไชยา - วิรุฬ" ถูกศาล รธน.ชี้ผิด พ้นจากตำแหน่งแน่ ชี้แนวคิดการเมืองใหม่ ของพันธมิตรฯ เป็นจริงได้แต่ต้องถามประชาชนว่าจะเอาด้วยหรือไม่– อธิการ นิด้า “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” ชี้ การเมืองใหม่ เกิดยาก เพราะคนยังชินกับการการได้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง
วานนี้ (4 ก.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550(ส.ส.ร.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ดำเนินรายการโดย กรุณา บัวคำศรี ถึงความคิดเห็นที่มีต่อแนวคิดปฏิรูปการเมืองใหม่ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าโดยส่วนตัวแล้วตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้มีการคัดเลือก ส.ส.จากการเลือกตั้ง 30 % และมาจากการสรรหา 70% เพราะตนเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย ควรให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือกและเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้แทน และเราก็ยังไม่รู้ด้วยว่าหากมีการสรรหา แล้วใครจะเป็นผู้สรรหา แน่ใจได้หรือไม่ว่าการสรรหาจะเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้นตนยังคงเชื่อมั่นในระบอบการเลือกตั้งจากประชาชนมากกว่าการสรรหา
ผู้ดำเนินรายการถามว่า คิดว่าแนวคิดดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่ หรือเป็นได้แค่การเมืองในอุดมคติ นายเสรี กล่าวว่า ความคิดนี้ไม่ว่าใครจะเป็นคนเสนอก็สามารถกลายเป็นความจริงได้ทั้งนั้น หากคนในสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย ดังนั้นหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาในสังคม จึงควรทำประชามติ สอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร
นอกจากนี้นายเสรี ยังได้ประเมินสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ด้วยว่า ตนคาดการณ์ว่า คำตัดสินของศาล รธน. ที่มีต่อนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 7 ก.ค. นี้ จะออกมาว่า รัฐมนตรีทั้งสองจะถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะความผิดค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินจริง ดังนั้นการปรับคณะรัฐมนตรีตั้งเกิดขึ้นในสองตำแหน่งนี้ค่อนข้างแน่นอน ส่วนจะปรับอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แต่โดยส่วนตัวแล้วตนมีความคิดว่า วันนี้บ้านเมืองเรามีปัญหามากอยู่แล้ว การสรรหารัฐมนตรีมาทำหน้าที่ ควรเลือกให้เหมาะกับงาน และเป็นคนที่ประชาชนจะมั่นใจได้ว่ามีความสามารถในการแก้ปัญหาบ้านเมือง
ด้าน ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัญฑิตพัฒนศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แนวคิดการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือก ส.ส.นั้น คงเป็นเรื่องยาก เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนทั่วไปต่างเคนชินกับการเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารประเทศ หากไปนำระบบตัวแทนมาใช้ ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า การได้มาซึ่งตัวแทนนั้น จะมาด้วยวิธีใด ใครจะเป็นผู้คัดเลือกตัวแทนเหล่านั้น ซึ่งต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อนแล้วจึงถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนคำถามว่าแนวคิดดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น ก็คงต้องถกเถียงกันว่าที่สุดแล้วประชาชนจะต้องการ ระบอบประชาธิปไตยในแบบตัวแทนแบบที่พันธมิตรฯ เสนอหรือไม่