“วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อ้างสิทธิขอไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลปกครองระงับแถลงการณ์เขาพระวิหาร ยันไม่ถูกหลักการ วอนสังคมอย่ามองว่าไม่รักชาติ ด้าน “สมปอง สุจริตกุล” สอนมวย ชี้ ศาลปกครองมีอำนาจยับยั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายบริหาร ยันแถลงการณ์ร่วมเป็นโมฆะแล้ว ใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ กระตุกสำนึก รบ.คิดจะอุทธรณ์ จะอ้างเหตุผลอะไรต่อศาลฯ
วานนี้ (1 ก.ค.) รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ถึงกรณีที่ตนและคณาจารย์อีก 4 คน รวมตัวกันออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่รับคำฟ้องให้ระงับแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า สาเหตุที่กลุ่มของตนคิดเช่นนี้ เนื่องจากเห็นว่าการออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องดังกล่าวก็เป็นอำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง
ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นกรณีเดียวกันกับเรื่องของสัญญาเจเทปป้า ที่รัฐบาลไทยเคยไปลงนามความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครั้งนั้นก็มีผู้ร้องคัดค้านไปยังศาลปกครองกลางเช่นกัน แต่ศาลก็ไม่รับคำฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องของการบริหารงานระหว่างประเทศ อยู่นอกเหนืออำนาจของศาล แต่เหตุใดครั้งนี้ซึ่งเป็นกรณีเหมือนกัน แต่ศาลกลับรับฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ถึงแม้ศาลจะมีคำสั่งรับฟ้อง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามนำมติ ครม.รับรองแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ไปใช้ รวมถึงระงับการกระทำใดๆ ที่จะดำเนินการร่วมกับกัมพูชาระหว่างที่จะมีการพิพากษาก็ตาม แต่ตนก็เชื่อว่าในทางปฏิบัติแล้ว แถลงการณ์ดังกล่าวก็ยังคงมีผลและสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะรัฐบาลจะดำเนินการได้เพียงระงับเรื่องไว้ก่อน ไม่กระทำการใดๆ เพิ่มเติมอีกตามคำสั่งของศาล แต่แถลงการณ์ที่ลงนามไปแล้วคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ส่วนกระบวนการต่อจากนี้หากรัฐบาลจะยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุดก็เชื่อว่าศาลน่าจะมีคำสั่งโดยใช้หลักการเดียวกับเรื่องของ เจเทปป้า แต่หากศาลท่านจะยืนตามศาลปกครองกลาง ท่านก็คงมีเหตุผลที่ชี้แจงได้
ดร.วรเจตน์ กล่าวด้วยว่า การที่ตนออกมาวิจารณ์ครั้งนี้ก็ทำไปด้วยความเคารพ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยอาศัยเสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการรับรองไว้ใน รธน.และอยากชี้แจงด้วยว่า การที่ตนและพวกออกแถลงการณ์เช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้รัก ไม่ห่วงใยบ้านเมือง แต่เราคิดว่า บ้านเมืองต้องมีหลักยึดให้มั่น เราต้องยืนอยู่บนหลักการและกระบวนการที่ถูกต้อง อย่าได้ตั้งธง หรือปรักปรำ ว่า คนที่มีความเห็นต่างแล้วออกมาโต้แย้ง คือคนที่ไม่รักชาติ
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ดร.วรเจตน์ แม้จะอ้างตัวว่าเป็นนักวิชาการที่มีความเป็นกลาง แต่การแสดงความคิดเห็นในแต่ละเรื่องล้วนแต่เข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มตั้งแต่การคัดค้านบทบาทของตุลาการภิวัตน์ ในปี 2549 โดยอ้างว่า ตุลาการไม่ควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นโมฆะ ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษอดีต กกต.ชุด 3 หนา ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคไทยรักไทยและการลงโทษอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.237 และ 309 รวมทั้งล่าสุดกล่าวหาว่าการเสนอแนวทางการเมืองใหม่ของพันธมิตร เพราะต้องการให้พรรคการเมืองที่พันธมิตรสนับสนุนได้เป็นรัฐบาล
ด้าน ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และหนึ่งในทนายความของประเทศไทย ที่ว่าความคดีปราสาทเขาพระวิหารต่อศาลโลกในปี 2505 กล่าวว่า เหตุผลที่ นายวรเจตน์ กล่าวว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจนั้น นายวรเจตน์ คงไม่เข้าใจว่า ศาลปกครองมีอำนาจโดยเฉพาะที่จะยับยั้ง หรือขัดขวางการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของฝ่ายบริหาร ซึ่งหลังจากที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และห้ามนำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไปใช้แล้ว จะส่งผลในทางปฏิบัติด้วย เพราะเมื่อศาลสั่งระงับก็ย่อมหมายความว่า รมว.ต่างประเทศ ไม่มีอำนาจในการลงนามในแถลงการณ์ เมื่อไม่มีอำนาจในการลงนามแถลงการณ์หรือสัญญานั้นๆ ก็ย่อมตกเป็นโมฆะ ซึ่งทางกัมพูชาที่เป็นคู่สัญญาก็ต้องรู้ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นโมฆะไปแล้ว เพราะสื่อต่างๆ ในกัมพูชาเองก็เสนอข่าวนี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ ดร.วรเจตน์ และพวกออกมาให้ความเห็นก็เป็นสิทธิที่ทำได้ และคงไม่ผิดอะไร ส่วนเรื่องที่รัฐบาลจะไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้เช่นกัน แต่ตนก็อยากจะถาม ในการไปยื่นอุทธรณ์จะนำเหตุผลอะไรไปอ้าง เพราะสิ่งที่ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยและดำเนินการไปนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรกับประเทศชาติมีแต่จะทำเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเอาไว้ต่างหาก