เอ็นจีโอ แฉ นักการเมืองหมกเม็ดพื้นที่ทับซ้อนรับผลประโยชน์เรื่องพลังงาน ระบุแหล่งก๊าซอ่าวไทยถูกต่างชาติฮุบไปแล้วกว่า 36 แห่ง จาก 39 แห่ง แนะประชาชนปฏิรูปการเมืองทวงคืนสมบัติชาติ จับผิด “นพดล” เซ็นยกอธิปไตยเขาพระวิหาร แลก การเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนกับเขมรกว่า 5 แห่ง เพื่อประโยชน์ของบริษัทน้ำมัน
นายบรรจง นะแส นักวิชาการเอ็นจีโอในจังหวัดสงขลา กล่าวบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.วันนี้ (23 มิ.ย.) ว่า การเมืองภาคประชาชนต้องมีต่อไป หลายกรณีในบ้านเราถูกปิดหูปิดตา ด้วยระบอบทุนนิยมสามานย์ ซึ่งกรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไม่เคยได้รับความสนใจเลยในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากนักการเมืองที่มีอำนาจมักจะได้รับผลประโยชน์จากพลังงาน ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนมีอยู่หลายรูปแบบ และประเทศไทยยังมีพื้นที่ขัดแย้งกับทางมาเลเซีย และกัมพูชาอยู่
“เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่เคยมีใครเอามาตีแผ่ สื่อโทรทัศน์นำเสนอแต่ละคร และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ และพื้นที่ทับซ้อนก็ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งมาเลเซียนำไปใช้ก่อนได้ถึง 5 ปีในส่วนของ โครงการ JDA ที่นักวิชาการในจังหวัดสงขลาได้รับรายละเอียดมาแล้ว แต่รัฐบาลไม่ยอมเอาสัญญามาเปิดเผย” นายบรรจง กล่าว
ทั้งนี้ ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยคุยกับนักวิชการกว่า 20 ชีวิต พร้อมรับปากจะดูแลในเรื่องนี้ แต่กลับมีคำสั่งออกมาแตกต่างที่รับปากไว้ คือให้ดำนเนินโครงการดังกล่าวได้ และในส่วนของโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียเอง ได้มีการบังคับ และสลายการชุมนุมของพี่น้องชาวมุสลิมขณะกำลังทำละหมาด โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในวันที่ 5 นี้ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ จะต้องขึ้นศาลในฐานะจำเลยที่เกี่ยวของกับเรื่องนี้
นายบรรจง กล่าวอีกว่า สังคมเราไม่ใช่สังคมการเรียนรู้ มีแต่การปิดหูปิดตา รับใช้ระบบทุนนิยมสามานย์ ถ้าคนทั่วประเทศรับรู้ว่าเรามีปัญหาอะไร โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยถูกควบคุมโดยบริษัทเอกชน 39 บริษัท ซึ่งมีเป็นบริษัทต่างชาติถึง 36 บริษัท และเป็นของ ปตท.เพียงแค่ 3 แห่ง ซึ่งการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ จะเป็นการทวงคืนทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ การเซ็นข้อตกลงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเขาพระวิการเป็นมรดกโลกของกัมูชา โดยนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะเกี่ยวข้องกับการแลกผลประโยชน์ของแหล่งน้ำมันในอ่าวไทย เพราะยังมีพื้นที่ทับซ้อนทำให้บริษัทต่างชาติไม่สามารถเริ่มโครงการต่อได้ถึง 5 แปลง ซึ่งหมายความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชาไม่ยุติลง บริษัทน้ำมันต่างชาติก็ไม่สามารถขุดน้ำมันได้