xs
xsm
sm
md
lg

“นพเหล่” อ้างไทยสุ่มเสี่ยงเสียดินแดน ต้องยอมเขมรขึ้นทะเบียน “พระวิหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ
ส.ว.กระทู้ถาม “เขาพระวิหาร” แผลเป็นของคนไทย จี้ 4 ข้อกังขาเหตุเสียค่าโง่เขมร ด้าน “นพดล” อ้างต้องรีบทำก่อนเขมรฮุบพื้นที่ทับซ้อน งัดชื่อเสียงวงศ์ตระกูลการันตีความโปร่งใสไม่แฝงผลประโยชน์

วันนี้ (20 ม.ย.) ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 20 มิถุนายน มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต กรณีการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ถามต่อนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ โดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา กล่าวว่า เขาพระวิหารเป็นแผลเป็นของคนไทย 46 ปีแล้ว รัฐบาลดำเนินการต้องรอบคอบไม่กระทบอธิปไตยของประเทศ ประชาชนต้องรับทราบ ไม่ใช่เรื่องความลับของรัฐบาลไทยและกัมพูชาเท่านั้น แม้รัฐมนตรีของไทยจะประกาศรับผิดชอบหากเสียหาย แต่ความเสียหายก็เกิดไปแล้วเรียกคืนไม่ได้ จึงถามว่าการที่รัฐมนตรีจะไปประชุม วันที่ 2-10 กรกฎาคม 1.ทำไมประเทศไทยจึงให้การสนับสนุนตัวปราสาท เป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวของกัมพูชา 2.ทำไมไม่เสนอให้ร่วมกันอย่างเสมอภาค 3.ทำไม รมว.ต่างประเทศ จึงเร่งรีบเซ็นและไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งที่มีการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และ 4.ทำไมไม่เปิดเผยข้อมูลแผนที่จริงก่อนลงนาม ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ไม่มีการชี้แจงต่อสภา เกรงว่า จะทำให้ประเทศไทยเสียสิทธิ์การบริหารจัดการพื้นที่เขตแดนและอธิปไตยของไทยในอนาคต

ด้าน นายนพดล ชี้แจงว่า กรรมสิทธิ์ในตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 และเมื่อประมาณปี 2549 ทางกัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาทเป็นมรดกโลก ซึ่งไทยก็เคยขอขึ้นทะเบียนร่วม แต่ได้รับคำปฏิเสธจากกัมพูชา ที่สำคัญการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว ในช่วงแรกกัมพูชาได้รวมพื้นที่ทับซ้อนไปด้วย แต่ไทยได้คัดค้านมาตลอด เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งก็เห็นว่าไทยสุ่มเสี่ยงที่จะเสียดินแดนจึงได้เจรจามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนออกไปท้ายที่สุด ในการเจรจาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสกัมพูชาจึงยอมไทยที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทและยอมให้ไทยตรวจสอบแผนที่ ซึ่งฝ่ายทหารก็ยืนยันแล้วว่าแผนที่กัมพูชาไม่ได้รุกล้ำดินแดนไทย

ส่วนสาเหตุที่ต้องดำเนินการในช่วงนี้ เพราะกรอบเวลาบังคับอยู่ เนื่องจากยูเนสโกจะมีการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนในเดือนกรกฎาคมนี้ หากเราไม่ดำเนินการเจรจาจะสุ่มเสี่ยงที่กัมพูชาจะนำพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนด้วยซึ่งจะส่งผลให้ไทยสูญเสียดินแดน และเรื่องนี้ไม่ได้บิดบัง เพราะได้แจกเอกสารให้สื่อมวลชนทุกชิ้น

ส่วนที่ไม่นำเข้าชี้แจงต่อรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ เพราะคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญา และไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต จึงไม่ต้องนำเข้ารัฐสภาส่วนปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่มีชาวกัมพูชาเข้าไปสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ นั้นจะมีการเจรจาหาทางออกร่วมกันต่อไป

“การดำเนินการครั้งนี้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนผมสำนึกในภารกิจของผมที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าผมยอมให้ประเทศไทยเสียดินแดน ผมจะอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร ผมไม่เอาอนาคตทางการเมือง ไม่เอาผลประโยชน์ทางการเมือง ผมไม่เอาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลผม มาผูกกับการเจรจาระหว่างประเทศเพียงแค่จะไปเอาใจกัมพูชา เพราะผมไม่ได้เป็นญาติ ผมเป็นเพื่อนบ้านเขาเท่านั้นเอง” นายนพดลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น