“นิธิ” ระบุ สถานการณ์ขัดแย้งขณะนี้เข้าลักษณะสุดโต่ง ซึ่งจะรุนแรงเกินกว่ากติกาจะรองรับ อารมณ์จะรุนแรง หาคนกลางมาแก้ยาก ชี้ ทางแก้สถาบันตุลาการต้องเข้ามาแก้ด้วยการเร่งขบวนการคดีต่างๆ ให้เสร็จโดยเร็ว ด้าน “ปริญญา” แนะหยุดแก้ รธน.ฟันธงแตะ ม.309 นองเลือด
ที่รัฐสภา วันนี้ (17 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 22 คณะ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ทางออกจากความขัดแย้งของสังคมไทย” มี นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากร
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งขณะนี้ เป็นความขัดแย้งแบบสุดโต่ง ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ 1.ความขัดแย้งสุดโต่ง มีผลกระทบต่อโครงสร้างและกระทบต่ออนาคตในระยะยาว ซึ่งความขัดแย้งสุดโต่งเกิดขึ้นจะรุนแรงเกินกว่ากติกาจะรองรับได้ เช่น ระหว่างการเลือกที่จะใช้ทาส หรือเลือกที่จะไม่ใช้ทาสในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีไม่อาจจะใช้กติกาได้ เพราะในสภามีฝ่ายที่ต้องการใช้ทาสต่อไปมากกว่า แต่ประธานาธิบดีได้ออกกฎหมายเลิกทาส ทำให้ฝ่ายที่ต้องการใช้ทาสประกาศแยกตัวเองออกจากสหรัฐฯทันที
2.ความขัดแย้งอื่นๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ความขัดแย้งสุดโต่ง จะถูกทำให้เหลือเพียงมิติเดียวที่เกี่ยวข้องกับสองฝ่ายที่สุดขั้วสุดโต่งทั้งหมด เช่น มีคนไปทำลายปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้โดยคนอันธพาล กลุ่มที่ไม่รู้จะทำอะไร แต่สื่อและใครต่อใครตีความให้เป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งสุดโต่ง
3.ความขัดแย้งสุดโต่งจะมีอารมณ์ที่รุนแรงมาก และเป็นสิ่งประหลาดที่ทั้งสองข้างไม่สามารถรับความต่าง แม้แต่เพียงเล็กน้อยได้ ไม่ว่าจะเสนออะไร ต้องเหมือนกันเป๊ะกับขั้วใดขั้วหนึ่งไปเลย เป็นการบิดเบี้ยวความเป็นมนุษย์เพราะมนุษย์ย่อมอยู่กับความแตกต่าง แม้แต่สามี ภรรยา ยังมีความแตกต่างกันซึ่งก็ยอมรับกันได้
“บรรยากาศเหล่านี้ทำให้คนตรงกลางต้องเงียบ เพราะเมื่อไหร่ที่ไม่เงียบ พูดหรือทำอะไรออกมาแล้วไม่ตรงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบตรงเป๊ะ คุณจะถูกประนามและถูกทำให้เป็นอมนุษย์ ซึ่งการทำให้เป็นมนุษย์ไม่เต็มคนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงกับเขาได้โดยชอบธรรม เมื่อไหร่ที่บอกว่า คอมมิวนิสต์ หนักแผ่นดินคุณสามารถฆ่ามันได้เลยเพราะมันไม่ใช่คนแล้ว มันมีค่าแค่หัวเถิก ผมขาว เป็นสภาพที่น่ากลัว”
4.สภาวะขัดแย้งสุดโต่งจะไม่มีคนกลางเหลืออยู่เลย ซึ่งโดยปกติคนกลางคือ คนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คนประเภทนี้อาจจะมีเช่น ฤาษีที่อยู่ในป่า ไม่รู้ว่าทะเลาะเรื่องอะไรเลย จึงไม่เข้าข้างใคร แต่มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนกลางที่จะแก้ปัญหาได้คือคนที่ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อว่าจะไม่อยู่ฝั่งไหนเลย แต่ในสภาวะขัดแย้งสุดโต่งจะไม่เหลือคนที่เป็นกลาง ดังนั้น เลิกคิดหาคนกลางไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ อดีตกรรมกร เพราะทั้ง 2 ขั้วระแวงสงสัยทุกเรื่องไม่ว่าคนกลางที่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ระดับไหนก็แล้วแต่
5.ความขัดแย้งสุดโต่งพร้อมที่จะแตกหัก ทั้ง 2 ฝ่ายไม่เฉพาะแต่ฝ่ายอำนาจรัฐ เพราะเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เมื่อมีความขัดแย้งสุดโต่งไม่ว่าที่ไหนในโลกทั้ง 2 ฝ่ายจะเชื่อว่า ขอใช้ความรุนแรงครั้งเดียวเป็นครั้งสุดท้าย เช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีการพูดว่า ขอทำสงครามครั้งเดียวเพื่อยุติสงครามทั้งหมด และต่อมาก็มีสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็พูดเช่นเดียวกัน หรือตอน 6 ตุลา ก็บอกว่าขอฆ่านักศึกษา 2 พันคนแล้วทุกอย่างจะสงบได้เอง
“จากประสบการณ์ในอดีตความขัดแย้งสุดโต่งจะหายไปเอง เพราะเกิดวิกฤตบางอย่างที่ใหญ่กว่า จนกระทั่งเสียงคนที่อยู่ตรงกลางดังขึ้นมา สำหรับในประเทศไทยอาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ระวังไม่ให้ตีกัน เมื่อไหร่น้ำมันแตะ 200 เหรียญ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายในเดือนครึ่ง มันจะเกิดสภาพจลาจล ตอนนั้น ไม่มีใครสนใจ หรอกว่าวันนี้จะทะเลาะกันเรื่องอะไร เอาหรือไม่เอาทักษิณ หรือใครจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ลูกกูหิว เมื่อลูกคุณหิวคุณทำอะไรก็ได้ และจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย”
นายนิธิ กล่าวว่าเมื่อไม่เกิดวิกฤตใหญ่ดังกล่าวข้างต้น เพื่อลบวิกฤตที่เกิดขึ้นมี 4 ทางออกคือ 1.ทำอย่างไรให้คนที่อยู่ตรงกลางมีเสียงดังขึ้น เช่นมีเสียงตรงกลางเถียงกันว่าเราจะขายหรือไม่ขายข้าวถุงธงฟ้า ให้เสียงนี้มันกลบเสียง 2 ขั้วให้ค่อยไปเอง สื่อจะมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้เสียงตรงกลางมากขึ้น
2.สถาบันทางการเมืองน่าจะเปิดทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา ขณะเดียวกันต้องประคับประคองให้กลไกของรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม อย่าปล่อยให้ตำรวจ อัยการ สรรพากร ไปเที่ยวรังแกคน ถ้ากลไกของรัฐเบี้ยวตามไปด้วยไม่ว่าจะเข้าข้างใคร สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
3.สถาบันตุลาการ ถ้าเร่งรัดกระบวนการให้เร็วขึ้น เพราะหลายมิติของความขัดแย้งสุดโต่งที่เผชิญกันอยู่เวลานี้ ถ้ามีคำพิพากษาออกมาไม่ว่าฝ่ายใดชนะความขัดแย้งจะเบาบางลง ขณะเดียวกันสังคมไทย สถาบันตุลาการ มีบทบาทและมีอำนาจ ในการที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมระดับล่างทำงานอย่างเที่ยงธรรมได้พอสมควร
4.ทุกฝ่ายในสังคมสามารถฝ่าข้ามความระแวงต่อกัน ทำอย่างไรให้เลิกระแวงซึ่งกันและกัน อย่าพิจารณาผู้อื่นจากความระแวง โดยรู้เท่าทันการใช้หรือการอ้าง กฎหมายอย่างไม่สุจริต ไม่ยุติธรรม เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ต้องช่วยกันต่อต้าน
นายนิธิ กล่าว่า หากทำตาม 4 มาตรการนี้ ซึ่งผมอาจจะผิด ก็จะทำให้ความขัดแย้งสุดโต่งมันหมดพลังลงไป แล้วเปิดพื้นที่ให้คนที่อยู่ตรงกลางซึ่งเป็นเสียง มนุษย์ธรรมดามันดังขึ้น และจะเริ่มเถียงกันด้วยเหตุผลมากขึ้น ไม่ใช่เริ่มต้นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แล้วคุณต้องอยู่ฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ เป็นต้น
นายนิธิ กล่าวด้วยว่าความขัดแย้งพื้นฐานของสังคมไทยคือความขัดแย้งระหว่างความรวยกับความจน คนเมืองกับคนชนบท แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ผลักทรัพยากรกลางไหลไปสู่ชนบท ซึ่งตนไม่เห็นด้วยในวิธีการเพราะหยาบๆ และถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้คนระดับล่างตัดสินใจเลือกทางการเมือง และมีความเป็นเอกภาพ ทำให้ชนชั้นกลางหมดอำนาจในการต่อรองกับระบบอำนาจการเมือง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตกลุ่มคนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มคนที่คลี่คลายวิกฤตได้
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีโอกาสที่จะแก้วิกฤตอย่างน้อย 3 ครั้งแต่ไม่ทำ วันนี้เราจึงต้องเผชิญกับวิกฤตที่ไม่เคยขึ้นมาก่อน ตั้งแต่การขายหุ้นให้เทมาเส็ก โดยไม่เสียภาษี การยุบสภา และการเลือกจับมือกับพรรคเล็กลงเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้รัฐธรรมนูญคือชนวนที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะด้านหนึ่งยืนยันว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้ม คตส. เพราะมองว่ามาจากรัฐประหาร
ขณะที่ อีกฝั่งหนึ่งเห็นว่าต้องปกป้องรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องกระบวนการยุติธรรม ทางออกที่ดีที่สุดคือปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ไป ส่วนความชอบหรือไม่ของคตส.ก็ให้ศาลตัดสิน แต่ถ้าตัด มาตรา 309 เมื่อไหร่เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดได้
นายปริญญา กล่าวว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ทำงานมา 4 เดือนแต่ไม่มีผลงาน แถมยังถูกโจมตีหลังจากที่ประกาศจะสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ อาจจะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่ก็ได้ แม้แต่หากมีการอภิปราย ไม่ไว้วางใจในสภา ก็ไม่แน่ว่าพรรครัฐบาลจะโหวตให้หรือไม่ ซึ่งหากนายสมัครต้องออกจากตำแหน่งอาจจะไม่ใช่เข้าทางฝ่ายค้าน แต่เข้าทางพรรคพลังประชาชนด้วย
“ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดถึงปริศนาวันที่ 2 กรกฎาคมนั้น อาจจะหมายถึงว่า เวลาของนายสมัคร นั้นมีไม่มาก ดังนั้นในเมื่อนายสมัครไม่มีอะไรเสียแล้ว ก็อยากให้ดึงประชาชนมาเป็นแนวร่วมโดยประกาศว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ 6 เดือน หรือจนกว่าคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสิ้นสุดลง ระหว่างนี้ปล่อยให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาไปก่อน ถ้าดึงดันจะใช้เสียงข้างมากแก้กี่ครั้งก็พัง เช่นเดียวกับฮิตเลอร์ผู้นำเยอรมันที่แม้จะมาจากการเลือกตั้งแต่ก็ใช้เสียงข้างมากในสภา แก้กฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำสงครามจนมีคนต้องตายถึง 40 ล้านคน”