“คำนูณ” ผิดหวัง “รัฐบาลลูกกรอก” ปัดเข้าชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปของ ส.ว.ชี้ทิ้งโอกาสใช้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหาชาติ จงใจขัดรัฐธรรมนูญ ทำประชาชนเสื่อมศรัทธาประชาธิปไตยตัวแทน หันไปหาประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ตามแนวพันธมิตรฯ มากขึ้น เผยเตรียมหารือ 61 ส.ว.พฤหัสฯ นี้ ก่อนชี้ขาดอภิปรายตามกำหนดเดิม หรือใช้ช่องทาง ม.129 เปิดประชุมวิสามัญอีกรอบ
กรณีที่คณะรัฐมนตรีจะไม่ไปชี้แจงญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 161 ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันที่ 23 มิ.ย.โดยอ้างว่า ติดภารกิจระหว่างเตรียมการเพื่อการประชุมพิจารณางบประมาณ พ.ศ.2552 ในวันที่ 25 มิถุนายน และ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังเลขาธิการวุฒิสภาแล้วนั้น
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา กล่าวว่า ได้ทราบว่า มีการทำหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงเลขาธิการวุฒิสภาแล้ว แต่ขณะนี้ทางประธานวุฒิสภาได้สั่งให้มีการประชุมในวันที่ 23 มิ.ย.2551 เพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ตามที่ 61 ส.ว.ยื่นญัตติไว้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ เชื่อว่า จะมีการหารือกันในที่ประชุมวุฒิสภาวันศุกร์ที่ 20 มิ.ย.นี้ โดยประธานจะต้องแจ้งหนังสือที่ชี้แจงเหตุขัดข้องจาก ครม.ให้ที่ประชุมวุฒิสภาทราบ ซึ่งก็คงจะได้หารือหาข้อสรุปกันว่า ในวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย.นี้ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นส่วนตัว มาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่ขอให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหาราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ เมื่อ ครม.ไม่มาเสียแล้ว การอภิปราบฝ่ายเดียว ก็ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ อย่างไรก็ดี คงจะต้องรอความเห็นของสมาชิกท่านอื่นที่ร่วมลงชื่อยื่นญัตติด้วย
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า แม้มาตรา 161 จะไม่ได้ไม่กำหนดให้รัฐมนตรีต้องมาชี้แจง แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ ได้ให้สิทธิ ส.ว.ในการเปิดอภิปรายทั่วไป รัฐบาลควรที่จะต้องสนองสิทธินั้นด้วยการมาชี้แจง เพราะสิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กัน และเมื่อดูมาตรา 162 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีต้องมาชี้แจงเมื่อมีการตั้งกระทู้ถามและเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โปรดสังเกตว่า แม้แต่การตั้งกระทู้ยังให้รัฐบาลต้องมาชี้แจง เพราะฉะนั้นการเปิดอภิปรายทั่วไปเป็นเรื่องใหญ่กว่า รัฐบาลยิ่งควรจะต้องมาชี้แจง จึงมีความเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้จงใจปฏิบัติในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
“เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป แทนที่จะใช้เวทีรัฐสภา เป็นที่บรรเทาปัญหา ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรา 161 หรือมาตรา 179 รัฐบาลกลับไม่ทำ ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น ก็คือ คนจะมองได้ว่าระบบรัฐสภา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศได้ ขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลและนักการเมืองในระบบ ควรจะต้องสังวรณ์ให้มาก คือ เวทีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เชิงสะพานมัฆวานนั้น มองให้ลึกแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียกร้องต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หากแต่กำลังเป็นการก่อรูปของการเมืองแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นการเมืองแบบตัวแทน หาดแต่เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ใช้สิทธิโดยตรง”
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า หากมองจากแว่นของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน อาจจะเห็นได้ว่า ไม่เหมาะสม ไม่มีกฎเกณฑ์ แต่หามองอย่างทำใจให้ว่าง เราจะเห็นได้ว่าเป็นการก่อรูปของประชาธิปไตยแบบใหม่ที่น่าสนใจ การที่คนกลุ่มหนึ่งยืนหยัดตากแดดตากฝนได้นานนับเดือน มาจากทั่วสารทิศ ไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย หากประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า สามารถแก้ปัญหาได้ จะทำให้ประชาชนจำนวนมากเสื่อมศรัทธาในระบบประชาธิปไตยตัวแทน และหันไปให้ความสนใจกับการเมืองรูปแบบใหม่ที่ก่อตัวขึ้น
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับหนทางต่อไปของนักการเมืองในระบบ คือ ส.ว.และ ส.ส.ก็จะต้องพิจารณาว่า จะสามารถร่วมกันผลักดันให้มีการเปิดสภาสมัยวิสามัญอีกครั้ง ตามมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เชื่อว่าในส่วนของ ส.ว.กลุ่ม 61 คน จะได้เริ่มหารือกันในเย็นวันพฤหัสฯ ที่จะถึงนี้ ตามที่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน ทั้งนี้ จะมีการหารือกันว่า ในกรณีที่ ครม.ไม่มาชี้แจงในการประชุมวันที่ 23 มิ.ย.เราจะพูดฝ่ายเดียวหรือไม่ และประเด็นที่ 2 จะหารือว่าสามารถเปิดอภิปรายตามมาตรา 129 หรือไม่
มาตรา ๑๒๙ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ คำร้องขอดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มาตรา ๑๖๑ สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ จะกระทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง มาตรา ๑๖๒ ในกรณีที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเพื่อตั้งกระทู้ถามในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใด ให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นต้องเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเพื่อชี้แจงหรือตอบกระทู้ถามในเรื่องนั้นด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ทำให้ไม่อาจเข้าชี้แจงหรือตอบกระทู้ แต่ต้องแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาทราบก่อนหรือในวันประชุมสภาในเรื่องดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ |