ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สอนมวย “เหลิม” รัฐธรรมนูญห้ามปิดเอเอสทีวี พร้อมเตรียมยื่นตรวจสอบ เป็นคำสั่งและการบริหารราชการแผ่นดินที่มิชอบ ฐานขัดสิทธิเสรีภาพ
จากกรณีที่ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุว่า จะใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 85 มาจัดการกับสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และเคเบิลทีวีอื่นๆ โดยอ้างว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อประชาชนให้ร่วมกระทำความผิดนั้น นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา บอกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องดูกฎหมายให้รอบคอบ เพราะประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมโดยสันติ
ส่วนการจะใช้มาตรา 85 ของประมวลกฎหมายอาญามาจัดการ โดยอ้างว่าเป็นการชักจูง นายสมชาย เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ที่ได้รับคำสั่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 45 วรรค 4 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การห้ามหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น เสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีอีกหลายมาตรา ที่ให้สิทธิและเสรีภาพประชาชนในการชุมนุม ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้อาจมองได้ว่า เป็นการสกัดกั้นการนำเสนอข่าวสารของเอเอสทีวี
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย ระบุว่า หากการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ ประจักษ์ได้ว่าเป็นการบริหารราชการแผ่นดินมิชอบ ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา และเป็นประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จะต้องเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ และอาจนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ว่า ขัดกับสิทธิ และเสรีภาพหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกวุฒิสภาหลายคนให้ความสนใจในเรื่องนี้
ขณะที่ นายวรินทร์ เทียมจรัส สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า การที่จะปิดสื่อสารมวลชน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้ เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ได้คุ้มครองไว้ และแม้ว่าขณะนี้จะมีกฎหมายประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์แล้ว แต่กลไกยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาควบคุมดูแล ส่วนจะใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น ก็ไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 85 ก็ต้องเป็นการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่จะเทียบเคียงมาจัดการกับกิจการสื่อสารมวลชนไม่ได้ เพราะแม้กฎหมายอาญาจะเป็นเครื่องมือของรัฐ แต่จะไปลิดรอนสิทธิที่กำหนดไว้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้
นายเดชอุดม ไกรฤกษ์ นายกสภาทนายความ ให้ความเห็นถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ประกาศให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศใช้กฎหมายแจ้งจับสถานีโทรทัศน์ ASTV ได้ทันที รวมถึงเคเบิลทีวีที่มีการรับสัญญาณไปเผยแพร่ ว่า จะต้องดูด้วยว่า คำสั่งที่ออกโดย รมว.มหาดไทยชอบโดยกฎหมายหรือไม่ เพราะกฎหมายสามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ อย่างไรก็ตามหากจะใช้วิธีการอารยะขัดขืดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง