xs
xsm
sm
md
lg

กกต.จับ “ไชยา” ขึ้นเขียง ชงศาล รธน.ชี้ขาดคุณสมบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชยา สะสมทรัพย์
กกต. เห็นทางสว่างเอาผิด“หมัก” มีมติ 4 ต่อ 1 ให้เดินหน้าสอบต่อพร้อมแก้ไขคำสั่งตั้งอนุสอบบัญญัติข้อกม.เล่นงานให้ชัดเจน และขยายเวลาให้สอบสวนเพิ่มเติมถึง 21 มิ.ย. ขณะเดียวกันมีมติส่งเรื่อง “ไชยา” ให้ศาลรธน.พิจารณา

วันนี้ (10 มิ.ย.) ภายหลังการประชุมกกต. นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต. แถลงว่าที่ประชุม กกต. ได้มีการพิจารณาหนังสือขอหารือของพล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ ประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไปเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไปที่อาจขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เกี่ยวกับอำนาจในการสอบสวน โดยมติกกต.เสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เสียง เห็นด้วยกับข้อเสนอของอนุกรรมการไต่สวน ที่เสนอให้ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯสืบสวนสอบสวนจากเดิมที่อาศัยฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236(9) มาตรา 181 มาตรา182 วรรค 3 ในการสืบสวนสอบสวน ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมให้อนุกรรมการไต่สวน อาศัยอำนาจตามมาตรา 10(11) ของพ.ร.บ.กกต ที่ระบุกรณีที่กกต.เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง, ประกอบมาตรา 14 ที่ระบุว่า กกต.มีอำนาจแต่งตั้งให้อนุกรรมการปฏิบัติตามที่กกต.มอบหมาย เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนมีความชัดเจนมากขึ้น

"ที่ผ่านมาอนุกรรมการไต่สวนฯ เคยยกประเด็นปัญหาว่าอนุฯมีอำนาจสืบสวนสอบสวนหรือไม่ พร้อมเสนอควรปรับปรุงคำสั่งตั้งอนุกรรมการฯ เพราะเห็นว่าตัวคำสั่งยังระบุกฎหมายไม่ครบ เพื่อป้องกันการถูกโต้แย้งในอำนาจหลังจากผลการพิจารณาออกมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง”

นายสุทธิพล ยังปฏิเสธว่าการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวของกกต.ไม่ใช่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง แต่กกต.มีอำนาจตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จึงมีการอ้างบทกฎหมายที่มีอยู่เพิ่มเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 10(11) พรบ.กกต. ระบุว่า "ในกรณีที่กกต.เห็นว่า" ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงให้ กกต.ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะมีความเห็นได้ต้องมีการดำเนินการตามมาตรา 14 พรบ.กกต. หากไม่มีการดำเนินการตั้งอนุกรรมการ กกต.ก็ไม่สามารถให้ความเห็นได้ นอกจากนี้กกต.เห็นชอบให้อนุกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าวขยายเวลาในการสืบสวนสอบสวนได้อีก 15 วันโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7-21 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตามในกรณีคุณสมบัติของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ที่ป.ป.ช.ชี้มูลเกี่ยวกับการไม่แจ้งการถือครองหุ้นของภรรยานั้น ที่ประชุมกกต.โดยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เสียงเห็นตามที่คณะอนุกรรมการสืบสวนชุดที่มีนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานเสนอให้มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยจากนี้คณะอนุกรรมการสืบสวนก็จะเร่งดำเนินการยกร่างและจะมีการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมครั้งนี้ ก็ได้มีการเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขมาคอยรอฟังมติกกต.ที่จะออกมาเกี่ยวกับนายไชยาด้วย

ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต. เสียงข้างมากระบุว่า เมื่อกฎหมายระบุว่าให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญไปด้วยก็ได้ และเมื่อ กกต. หาเหตุผลที่จะไม่ส่งไม่ได้ ก็สมควรจะส่งเรื่องไปตามที่องค์กรเขาขอมา ส่วนข้อเท็จจริงอาจจะเหมือนหรือต่างกันเพราะเราเองก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นตรวจสอบด้วย จึงขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเอง เพราะ กกต. ลงมติแค่เห็นควรส่ง และประกอบกับรายงานข้อเท็จจริงไปเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่

ทั้งนี้กกต.ที่เป็นเสียงข้างน้อยใน 2 กรณีดังกล่าวก็คือนายสมชัย จึงประเสริฐ โดยได้มีการเผยแพร่ความเห็นส่วนตนระบุว่า ทั้งในกรณีของนายไชยา และนายสมัคร นั้น เห็นว่ามาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้กกต.มีอำนาจตรวจสอบสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และส.ว. พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.กกต. พ.ร.บ.ประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรวม 5 ฉบับเท่านั้น และเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 3 ที่ให้กกต.ส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนฯหรือประธานวุฒิสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกเมื่อเห็นว่าสมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลงเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจกกต.ตรวจสอบการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาได้เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุที่จะไปตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 3 บัญญัติให้นำมาตรา 91 ,92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตาม ( 2) (3)(5) หรือ(7) โดยให้กกต.เป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วยนั้น เห็นว่าการดำเนินการของกกต.ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ดังนั้นกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ใดสิ้นสุดลงจะต้องเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 15 คนเสนอเรื่องไปยังประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากประธานสภาแห่งนั้นไม่ดำเนินการ กกต.จึงมีอำนาจที่จะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ อันเป็นการเยียวยาเพื่อให้กระบวนการพิจารณาความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงดำเนินการต่อไปจนถึงขั้นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สะดุดหยุดอยู่ที่ประธานวุฒิสภา ซึ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้เรื่องดังกล่าวถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปนั่นเอง จะส่งโดยทางใดก็ได้ ดังนั้น กกต.จึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการตรวจสอบความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

“เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรณีนายสมัคร นั้น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้อง ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ กกต.จึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไปได้ เห็นควรให้ยุติเรื่อง และแจ้งผู้ร้องทราบ ส่วนของนายไชยานั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องนี้ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังนายกฯ ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร และเรื่องได้ถูกเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กกต.จึงไม่จำต้องดำเนินการให้เกิดการซ้ำซ้อนอีกเห็นควรให้ยุติเรื่อง” ทั้งนี้นายสมชัย ยังกล่าวระหว่างร่วม รายการเวทีความคิดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง9อ.ส.ม.ท. ว่า ไม่รู้ว่าเหตุผลของตนที่เป็นเสียงข้างน้อยเพียงพอหรือไม่แต่ก็เป็นมุมมองอันหนึ่งซึ่งในหลักการประชาธิปไตย เราต้องเคารพทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อยด้วย อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าเสียงข้างน้อยก็มีเหตุผลไม่ใช่วินิจฉัยอย่างไม่มีหลักการ ถ้ากกต.ทุกคนเห็นเหมือนกันหมดก็ไม่จำเป็นต้องมี กกต.ถึง 5 คน นายสมชัย กล่าวถึงบรรยากาศในการประชุมกกต.ว่า มีการพัฒนามากขึ้นเพราะมีการยิ้มในห้องประชุมแต่สำหรับการลงมตินั้นตนยิ้มไม่ออก และเคยคิดมองตัวเองว่าทำไมเราต้องเป็นเสียงข้างน้อย เคยคิดว่าจะโหวตตามคนอื่นให้ผลการโหวตเหมือนเขา แต่ท้ายที่สุดก็คิดได้ว่าถ้าโหวตตามคนอื่นคงทำให้สังคมและทีมงานของตนผิดหวังและเราก็จะผิดหวังในตัวเองที่ไม่มีความเคารพในตัวเองด้วยเพราะเป็นการทำตามที่คนอื่นเขาอยากให้เป็นเท่านั้น ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่า กระแสสังคมเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่ถูกต้องจะยั่งยืนตลอดไปโดยส่วนตนได้วินิจฉัยยึดหลักตามกฎหมายมาตลอดจนกว่าจะแก้กฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ใช่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเสียเองและไม่ใช่ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น