xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ สอบ ตร.หมายจับ “สุนัย” มิชอบ-คตส.เล็งตั้งอัยการซักค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล้านรงค์ จันทิก
ป.ป.ช.ตั้ง “วิชา มหาคุณ” เป็นประธานอนุฯ สอบตำรวจอยุธยา ออกหมายจับ “สุนัย” โดยมิชอบ ระบุ อยู่ในอำนาจไต่สวนได้ พร้อมเผย คตส.เตรียมแจงกองปราบรอบ 2 ปฏิเสธหมิ่นบริษัททนายเครือข่ายชินฯ เตรียมแจ้งศาลในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง หาก ตร.ขอหมายจับขอตั้งอัยการซักค้าน

วันนี้ (5 มิ.ย.) นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงภายหลังการประชุมถึงกรณี นายสุนัย มโนมัยอุดม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้กล่าวหาร้องเรียนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ออกหมายจับ นายสุนัย ในคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น พฤติการณ์ตามคำร้องได้ยืนยันว่า ตามคำร้องไม่สามารถขอออกหมายจับได้ โดย นายสุนัย ได้อ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะต้องดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ป.ป.ช.จึงมีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน โดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ถูกตำรวจกองปราบปรามออกหมายเรียก ได้ประสานมายัง ป.ป.ช.เหมือนที่ นายสุนัย ร้อง ป.ป.ช.มาแล้วหรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คตส.ได้มีการประสานงานไปยังกองปราบเช่นเดียวกัน กรณีนี้ คตส.ได้มอบอำนาจให้บุคคลไปแจ้งความดำเนินคดีกับสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้มีหนังสือขอเพิกถอนการอายัดทรัพย์ โดยมีข้อความดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ คตส.จึงได้มอบให้บุคคลไปแจ้งความ พร้อมแนบหนังสือขอเพิกถอนอายัดทรัพย์ของทนายความแห่งนั้นไปด้วย เพื่อให้กองปราบได้พิจารณา ทราบว่า ต่อมาสำนักงานทนายความแห่งนั้นได้แจ้งความกลับ คตส.ว่าหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความเท็จ ซึ่ง คตส.เห็นว่าในข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้เป็นการแจ้งความเท็จ เพราะเป็นการแจ้งข้อความตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของสำนักงานทนายความดังกล่าว จึงถือว่าที่ คตส.แจ้งความ ไม่ได้เป็นการแจ้งเท็จแต่อย่างใด นอกจากนี้ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกองปราบแล้ว แต่ทางกองปราบฯ ได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้ คตส.ไปรายงานตัวในวันอังคารนี้ คตส.จึงมีมติแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนกองปราบ ยืนยันความเห็นเดิมอีกครั้งหนึ่ง

“ในกรณีที่มีการออกหมายจับซึ่งเราไม่ทราบ ว่า พนักงานจะขอหมายจับเมื่อไหร่อย่างไร จึงได้มีมติให้แจ้งไปยังอธิบดีศาล หรือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ส่งเอกสารหลักฐาน ทั้งหมดไป โดยแจ้งว่า ถ้ามี การขอออกหมายจับ คตส.ทั้ง 11 คนนั้น ทางกรรมการ คตส.ขอแต่งตั้งอัยการขึ้นทำการซักค้าน ฝ่ายพนักงานสอบสวน นี้คือกระบวนการขั้นตอนที่ คตส.ดำเนินงาน” นายกล้านรงค์ กล่าว

"ตือ"หายใจคล่อง ป.ป.ช.รอข้อเท็จจริงเพิ่ม

นายกล้านรงค์ กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ เดินทางไปประเทศรัสเซียรับบัตรชมฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกนัดชิงชนะเลิศ มีมูลค่าเกินสามพันบาทตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 ได้กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินอื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติของกฎหมาย เว้นแต่จะรับทรัพย์สินโดยประโยชน์ธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีประกาศหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินอื่นใดหรือธรรมจรรยา ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 สรุปว่าการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยานั้น หมายความว่าการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากญาติ หรือญาติบุคคลที่ให้กันในโอกาสต่างๆ โดยปกติตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทที่ปฎิบัติกันในสังคมประโยชน์อื่นใดนั้นได้ให้คำจำกัดความว่า สิ่งที่มีมูลค่าได้แก่การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเช่นเดียวกัน

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในข้อ 5 ได้กำหนดว่ามิให้รับทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากญาติเกินกว่า 3 พันบาท ถ้าได้กระทำการดังกล่าวจะมีมูลความผิดตามมาตรา 122 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำดังกล่าวนั้นปรากฏว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีผู้ใดกล่าวหาร้องเรียนมาที่ ป.ป.ช.แต่เป็นเรื่องที่มีการลงข่าวทางสื่อมวลชน ป.ป.ช.ได้รวบรวมข่าว ทาง คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้พิจารณาและมีมติ เนื่องจากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นแต่เพียงรวบรวมจากสื่อมวลชน ยังไม่มีข้อมูลที่ยุติที่ได้ว่ากรณีนั้นจะเข้าข่ายขัดมาตรา 103 และประกาศของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ จึงได้มีมติให้เจ้าหน้าที่ไปสอบ รวบรวมข้อเท็จจริง โดยเร็วและให้เสนอ คณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น