“วีระ สมความคิด” ยื่น ป.ป.ช.สอบ “เป็ดเหลิม” แก้สัญญา อสมท-ช่อง 3 สมัยเป็น รมต.สำนักนายกฯ ทำรัฐ-อสมท สูญรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท แถมให้ “บีอีซีเวิลด์” บริหารทั้งที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง
วันนี้ (5 มิ.ย.) นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีต่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับพวก กรณีน่าเชื่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง 3)
ทั้งนี้ นายวีระ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เลขที่ 6010992324 ในฐานะผู้เสียหาย ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
1. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) 2.นายกมล จันทิมา ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. 3.นายสงวน ติยะไพบูลย์สิน ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. และเป็นประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
4.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. และเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด 5.นายไกสร พรสุธี ขณะเป็นกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. 6.พลเอกสุรพันธ์ พุ่มแก้ว ขณะเป็นพันเอกสุรพันธ์ฯ และเป็นกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. 7.พล.ต.ต.เสวก ปิ่นสินชัย ขณะเป็น พ.ต.ท.เสวกฯ เป็นกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.และเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด 8.นายราชันย์ ฮูเซน ขณะเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. และเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. และ 9.นายวิชัย มาลีนนท์ ขณะเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ที่ 051391 ลงวันที่ 25 เมษายน 2532 และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดมีดังนี้ เดิม อ.ส.ม.ท.ซึ่งปัจจุบันแปลงสภาพมาเป็น บจม. อสมท ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด โดยกำหนดไว้ในสัญญาข้อ 5 ว่า “บางกอกฯ” ตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีให้แก่ “อ.ส.ม.ท.” เป็นจำนวนร้อยละ 6.5 (หกจุดห้า) ของรายรับทั้งหมดที่ได้รับระหว่างอายุสัญญานี้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ และกำหนดไว้ในสัญญาข้อ 17 ว่าในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีตามข้อ 1 หรือข้อ 5 “บางกอกฯ” ต้องดำเนินการเอง จะให้บุคคลอื่นใดเข้าหรือรับไปดำเนินการมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก “อ.ส.ม.ท.” ก่อน
แต่ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 นายวิชัย มาลีนนท์ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง สัญญาร่วมดำเนินการโทรทัศน์ช่อง 3 ขอแก้ไขสัญญา โดยขอให้เปลี่ยนการกำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ต้องชำระแก่ อ.ส.ม.ท. เป็นรายปีเป็นการแน่นอน โดยไม่ต้องนำรายรับในการดำเนินการของบริษัทฯ มาคำนวณแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 20 ธันวาคม 2531 ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พิจารณา
ในวันที่ 31 มกราคม 2532 ร.ต.อ.เฉลิม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มีผู้กล่าวหาที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน
วันที่ 28 มีนาคม 2532 นายสงวน ตียะไพบูลย์สิน กรรมการ อ.ส.ม.ท.และประธานคณะทำงานฯผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อความเรื่องการพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เรียนประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท. ในข้อ (8) ว่า “เห็นควรปรับปรุงแก้ไขสัญญาฯ ข้อ 9 วรรคแรก เฉพาะในเรื่องการคิดคำนวณรายได้ 6.5 ก่อนหักค่าใช้จ่ายออกไป” พร้อมทั้งได้เสนอร่างสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 มาด้วย ต่อมา วันที่ 31 มีนาคม 2532 คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 8 มีมติอนุมัติให้แก้สัญญากับบริษัทบางกอกฯตามข้อเสนอของบริษัทบางกอกฯ
หนังสือของนายวีระ ระบุว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คนทำให้ อ.ส.ม.ท., บจม.อสมท และนายวีระ ในฐานะผู้ถือหุ้น บจม.อสมท ได้รับความเสียหาย ได้รับรายได้และเงินปันผลน้อยลงกว่าที่ควรจะได้รับ กล่าวคือหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฯ ครั้งที่ 3 แล้ว บริษัท บางกอกฯ ไม่ได้ดำเนินกิจการโทรทัศน์สีช่อง 3 ตามสัญญาเอง แต่ได้มอบหมายให้บริษัท บีอีซี เวิลด์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2533 และมีคณะผู้บริหารกลุ่มเดียวกับบริษัท บางกอกฯ เป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการแทน
และบริษัท บีอีซี เวิลด์ ได้แสดงต่อสาธารณชนผ่านสื่อสารมวลชนว่าตนเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 และมีรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวในปี 2548 ราว 10,269 ล้านบาท และในปี 2549 ราว 11,834 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า บจม.อสมท ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาที่แก้ไขครั้งที่ 3 แล้วในปี 2548 เพียง 110.6 ล้านบาท และในปี 2549 เพียง 129.42 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทบทวนค่าสัมปทานที่เรียกเก็บจากบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด หากบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ บจม.อสมท ตามสัญญาเดิมก่อนมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 ดังกล่าว คือ ได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 6.5 ของรายรับทั้งหมดที่ได้รับก่อนหักรายจ่ายใดๆ แล้ว บจม.อสมท จะต้องได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาฯเดิมในปี 2548 เป็นเงิน 670 ล้านบาท และในปี 2549 เป็นเงิน 679 ล้านบาท ดังนั้น บจม.อสมท จึงได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินหรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามสัญญาฯที่แก้ไขครั้งที่ 3 แล้ว ไปเป็นจำนวนมาก เงินที่ควรได้รับกลับต้องตกไปเป็นผลกำไรหรือผลประโยชน์ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมายของ บจม.อสมท และหากคำนวณตลอดอายุสัญญาแล้ว บจม.อสมท ต้องได้รับค่าตอบแทนน้อยลงกว่าหมื่นล้านบาท อันเป็นผลเนื่องมาจากการแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บริษัทบางกอกฯและบริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) มิใช่นิติบุคคลเดียวกัน ดังนั้น บริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) จึงไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายใดที่จะเข้ามาบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ซึ่งตามสัญญาระหว่าง บจม.อสมท กับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์จำกัด กำหนดว่าบริษัท บางกอกฯ เท่านั้นจะต้องดำเนินการเอง
การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำความผิดอาญา เพราะผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นพนักงานขององค์กรของรัฐตามพระราชบัญญัติความผิดของพนักงานในองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 และการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 8 และมาตรา 4 ทำให้รัฐ บจม.อสมท ต้องเสียเปรียบและสูญเสียผลประโยชน์ที่สมควรได้รับไปโดยมิชอบจำนวนนับหมื่นล้านบาท และยินยอมให้บริษัทบางกอกฯไม่ปฏิบัติตามสัญญาฯ โดยการไม่ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้ยังน่าเชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (รัฐ)
จึงขอให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 250(2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 19 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 พ.ศ. 2550 มาตรา 2 และมาตรา 6 ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุดกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คนโดยด่วน