กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน
THE PEOPLE RIGHTS AND FREEDOM PROTECTION GROUP
๗๕ ซอยนวธานี ๑ ถนนเสรีไทย แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพ ๑๐๒๓๐
TEL. ๐-๒๓๗๖-๑๕๙๖ ,๐-๒๗๐๔-๘๗๑๗ FAX. ๐-๒๓๗๖-๑๕๙๖
ที่ กพส. ๐๒๐/๒๕๕๑
๕ มิถุนายน ๒๕๕๑
เรื่อง ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับพวก กรณีน่าเชื่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ ระหว่าง อ.ส.ม.ท.กับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
เรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.สำเนาเอกสารสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี ระหว่าง อ.ส.ม.ท.กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๑ จำนวน ๔ แผ่น
๒.สำเนาเอกสารสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๒ ระหว่าง อ.ส.ม.ท.กับ บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๑ จำนวน ๔ แผ่น
๓.สำเนาเอกสารคำสั่งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ ๒๖ / ๒๕๓๒ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ จำนวน ๑ แผ่น
๔.สำเนาเอกสารการพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๒ จำนวน ๑๔ แผ่น
๕.สำเนาเอกสารร่างสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ ๓ จำนวน ๘ แผ่น
๖.สำเนาเอกสารของ อ.ส.ม.ท. ที่นร ๖๔๐๔(๑)/๑๕๗๒ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๒ จำนวน ๔ แผ่น
๗.สำเนาเอกสารเรื่องการพิจารณาข้อเสนอของบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๒ จำนวน ๖ แผ่น
๘.สำเนาเอกสารภาพถ่ายหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ จำนวน ๑ แผ่น
๙.สำเนาเอกสารภาพถ่ายหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ จำนวน ๑ แผ่น
๑๐.สำเนาเอกสารบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หมายเหตุประกอบการเงิน สำหรับ ปีที่สิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ จำนวน ๑ แผ่น
๑๑.สำเนาเอกสารบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หมายเหตุประกอบการเงิน สำหรับ ปีที่สิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๑ แผ่น
๑๒.สำเนาเอกสารรายละเอียดนิติบุคคล บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด จำนวน ๒ แผ่น
๑๓.สำเนาเอกสารรายละเอียดนิติบุคคล บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จำนวน ๑ แผ่น
๑๔.สำเนาเอกสารภาพถ่ายหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๑ แผ่น
๑๕.สำเนาเอกสารพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐ จำนวน ๓ แผ่น
๑๖.สำเนาเอกสารพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ จำนวน ๕ แผ่น
๑๗.สำเนาเอกสารแบบการลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๕๐ ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน ๑ แผ่น
ข้าพเจ้า นายวีระ สมความคิด ผู้ถือหุ้น บมจ.อสมท เลขที่ ๖๐๑๐๙๙๒๓๒๔ ในฐานะผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๕ และ ๑๗) ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
๑.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๙ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ และเป็นพนักงานองค์การของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓
๒.นายกมล จันทิมา ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.
๓.นายสงวน ติยะไพบูลย์สิน ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.และเป็นประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
๔.นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.และเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
๕.นายไกสร พรสุธี ขณะเป็นกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.
๖.พลเอกสุรพันธ์ พุ่มแก้ว ขณะเป็น พันเอกสุรพันธ์ และเป็นกรรมการในคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.
๗.พล.ต.ต.เสวก ปิ่นสินชัย ขณะเป็นพ.ต.ท.เสวกฯเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ.ส.ม.ท.และเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
๘.นายราชันย์ ฮูเซน ขณะเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.และเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.
ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ถึงที่ ๘ มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔ และเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๑๓ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๖ )
๙.นายวิชัย มาลีนนท์ ขณะเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ที่ ๐๕๑๓๙๑ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๓๒ และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดมีดังนี้ เดิม อ.ส.ม.ท.ซึ่งปัจจุบันแปลงสภาพมาเป็น บจม. อสมท. ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด โดยกำหนดไว้ในสัญญาข้อ ๕ ว่า “บางกอกฯ” ตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีให้แก่ “อ.ส.ม.ท.” เป็นจำนวนร้อยละ ๖.๕ (หกจุดห้า) ของรายรับทั้งหมดที่ได้รับระหว่างอายุสัญญานี้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ และกำหนดไว้ในสัญญาข้อ ๑๗ ว่าในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีตามข้อ๑ หรือข้อ ๕ “บางกอกฯ” ต้องดำเนินการเอง จะให้บุคคลอื่นใดเข้าหรือรับไปดำเนินการมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก “อ.ส.ม.ท.” ก่อน (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ และ ๒) โดยก่อนหน้านี้ บริษัทบางกอกฯได้พยายามร้องขอให้ อ.ส.ม.ท.แก้ไขสัญญาข้อ ๕ ดังกล่าวมาแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธจากอดีตผู้บริหารของ อ.ส.ม.ท (จำนวน ๒ คน) มาโดยตลอด
แต่ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ นายวิชัย มาลีนนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๙ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง สัญญาร่วมดำเนินการโทรทัศน์ช่อง ๓ ขอแก้ไขสัญญา โดยขอให้เปลี่ยนการกำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระแก่ อ.ส.ม.ท. เป็นรายปีเป็นการแน่นอน โดยไม่ต้องนำรายรับในการดำเนินการของบริษัทมาคำนวณแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๑ ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ พิจารณา
เมื่อเป็นเช่นนั้นในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ ร.ต.อ.เฉลิม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท.ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ได้มีคำสั่งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยที่ ๒๐/๒๕๓๒ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด โดยอ้างอาศัยมติคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๓๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๒ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓) มีผู้กล่าวหาที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน
วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๒ นายสงวน ตียะไพบูลย์สิน กรรมการ อ.ส.ม.ท.และประธานคณะทำงานฯผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ ได้ทำบันทึกข้อความเรื่องการพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เรียนประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท.ในข้อ (๘) ว่า “เห็นควรปรับปรุงแก้ไขสัญญาฯ ข้อ ๙ วรรคแรก เฉพาะในเรื่องการคิดคำนวณรายได้ ๖.๕ ก่อนหักค่าใช้จ่ายออกไป” (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๔) พร้อมทั้งได้เสนอร่างสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ มาด้วย (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๕)
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๒ คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ถึงที่ ๘ ได้มีการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๓๒ และมีมติในวาระที่ ๗ ข้อ ๗.๑ การพิจารณาข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ว่า “คณะกรรมการได้อภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และมีมติอนุมัติให้แก้สัญญากับบริษัทบางกอกฯตามข้อเสนอของบริษัทบางกอกฯ” (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๖)
วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๒ นายราชันย์ ฮูเซน ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๘ ได้มีบันทึกข้อความของ อ.ส.ม.ท. ที่ นร.๖๔๐๔(๑)/๑๕๗๒ เรื่อง รายงานการประชุมคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ถึงประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท.ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๖)
ต่อมา ได้มีการเสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาตามมติของคณะกรรมการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๒ และในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ ๘ และที่ ๙ มีผลให้มีการแก้ไขข้อสัญญาส่วนที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนตามที่บริษัทบางกอกฯเสนอ ตามความเห็นของคณะทำงานฯและตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ถึงที่ ๘ ลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของบริษัทบางกอกฯ รายละเอียดปรากฏตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๓ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๒ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๗)
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง ๙ คนทำให้ อ.ส.ม.ท., บมจ.อสมท และข้าฯในฐานะผู้ถือหุ้น บมจ.อสมท ได้รับความเสียหาย ได้รับรายได้และเงินปันผลน้อยลงกว่าที่ควรจะได้รับกล่าวคือหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฯ ครั้งที่ ๓ แล้ว บริษัท บางกอกฯไม่ได้ดำเนินกิจการโทรทัศน์สีช่อง ๓ ตามสัญญาเอง แต่ได้มอบหมายให้บริษัท บีอีซี เวิลด์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๓๓ และมีคณะผู้บริหารกลุ่มเดียวกับบริษัทบางกอกฯเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการแทน และบริษัท บีอีซี เวิลด์ ได้แสดงต่อสาธารณชนผ่านสื่อสารมวลชนว่าตนเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ และมีรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวในปี ๒๕๔๘ ราว ๑๐,๒๖๙ ล้านบาท และในปี ๒๕๔๙ ราว ๑๑,๘๓๔ ล้านบาท ดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๘) และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๙) แต่ปรากฏว่า บมจ.อสมท ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาที่แก้ไขครั้งที่ ๓ แล้วในปี ๒๕๔๘ เพียง ๑๑๐.๖ ล้านบาท และในปี ๒๕๔๙ เพียง ๑๒๙.๔๒ ล้านบาทเท่านั้น (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๐ และ ๑๑) ทำให้ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทบทวนค่าสัมปทานที่เรียกเก็บจากบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๔) หากบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ บมจ.อสมท ตามสัญญาเดิมก่อนมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ ๓ ดังกล่าว คือ ได้รับค่าตอบแทนร้อยละ ๖.๕ (หกจุดห้า) ของรายรับทั้งหมดที่ได้รับก่อนหักรายจ่ายใดๆแล้ว บมจ.อสมท จะต้องได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาฯเดิมในปี ๒๕๔๘ เป็นเงิน ๖๗๐ ล้านบาท (๖.๕% ของ ๑๐,๒๙๖ = ๖๗๐) และในปี ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๗๖๙ ล้านบาท (๖.๕% ของ ๑๑,๘๓๔ = ๗๖๙) ดังนั้น บมจ.อสมท จึงได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินหรือผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ตามสัญญาฯที่แก้ไขครั้งที่ ๓ แล้ว ไปเป็นจำนวนมาก เช่น ในปี ๒๕๔๘ ควรได้รับประมาณ ๖๗๐ ล้านบาท แต่กลับได้รับเพียง ๑๑๐.๖ ล้านบาทเท่านั้น แต่เงินที่สมควรได้รับอีกประมาณ ๕๖๐ ล้านบาท กลับต้องตกไปเป็นผลกำไรหรือผลประโยชน์ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมายของ บมจ.อสมท และในปี ๒๕๔๙ ควรได้รับประมาณ ๗๖๙ ล้านบาท แต่กลับได้รับเพียง ๑๒๙.๔๒ ล้านบาทเท่านั้น ต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่สมควรได้รับไปถึงประมาณ ๖๔๐ ล้านบาท และหากคำนวณตลอดอายุสัญญาแล้ว บมจ.อสมท ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรได้ คือ จะได้รับค่าตอบแทนน้อยลงกว่าหมื่นล้านบาท อันเป็นผลเนื่องมาจากการแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง ๙ คน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บริษัทบางกอกฯและบริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) มิใช่นิติบุคคลเดียวกัน (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๒ และ ๑๓) ดังนั้น บริษัท บีอีซี เวิลด์ (มหาชน) จึงไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายใดที่จะเข้ามาบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ ซึ่งตามสัญญาระหว่าง บมจ.อสมท กับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์จำกัด กำหนดว่าบริษัท บางกอกฯ เท่านั้นจะต้องดำเนินการเอง
การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำความผิดอาญา เพราะผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ถึงที่ ๘ เป็นพนักงานขององค์กรของรัฐตามพระราชบัญญัติความผิดของพนักงานในองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓ และการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวที่ ๑ ถึงที่ ๘ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๘ และมาตรา ๔ กล่าวคือ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ถึงที่ ๘ เป็นพนักงานมีอำนาจหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๑๙ ประกอบมาตรา ๓ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ และใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการแก้ไขสัญญาฯตามคำขอของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๙ ที่เป็นการเสียหายต่อองค์การและโดยทุจริตยินยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และโดยฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาที่มีผลทำให้รัฐ บจม. อสมท. ต้องเสียเปรียบและสูญเสียผลประโยชน์ที่สมควรได้รับไปโดยมิชอบจำนวนนับหมื่นล้านบาท และยินยอมให้บริษัทบางกอกฯไม่ปฏิบัติตามสัญญาฯ โดยการไม่ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้ยังน่าเชื่อว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (รัฐ) (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๖)
ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๙ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ ๙ เป็นบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ หรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๕ วรรคสอง และเป็น “ผู้ถูกกล่าวหา” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔ มีความผิดฐานเป็นตัวการ หรือผู้ใช้จ้างวานหรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใดหรือผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๙๐
ด้วยหลักฐานข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๐(๒) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๙ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒ และมาตรา ๖ ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุดกับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง ๙ คนโดยด่วน หากผลการดำเนินการเป็นประการใด ได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยเร็วด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
(นายวีระ สมความคิด)
ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน
กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน - องค์กรประชาชนเพื่อ ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความถูกต้องชอบธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก