xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เตือน “ลูกกรอก” อย่าทุรังออก พ.ร.ก.ประชามติ หวั่นขัดแย้งหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคปชป.
ปชป.เตือนรัฐบาลอย่าดึงดันออกพระราชกำหนดทำประชามติ เรียกร้องให้ถอนร่างก่อนวิกฤตขัดแย้งปะทุหนัก โต้ “หมัก” ไม่ได้ทำตัวเป็นศาลเตี้ยตามเช็กบิล “เจ๊เพ็ญ” จี้ต่อมสำนึกผู้นำ

วันนี้ (26 พ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมจะเสนอออกพระราชกำหนดออกเสียงประชามติในที่ประชุม ครม.ว่าพรรคเห็นว่าทางรัฐบาลไม่ควรจะดึงดันในเรื่องการทำประชามติ หากรัฐบาลยังดึงดัน เท่ากับว่ารัฐบาลจะสร้างปัญหาขึ้นมาซ้อนปัญหาโดยมีสาเหตุหลายประการ

“รัฐบาลกำลังเล่นบทตีสองหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกว่าเป็นหน้าที่ของสภาไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแต่วันนี้กลับออกมาบอกว่าต้องดำเนินการโดยการทำประชามติและออกเป็น พ.ร.ก.โดยรัฐบาล การที่จะออกฎหมายการทำประชามติต้องเป็นไปโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติตามมาตรา 320 ดังนั้น การออกกฎหมายประชามติโดยวิธีการอื่นไม่น่าจะทำได้”

นอกจากนี้ มาตรา 184 วรรคสอง ยังระบุว่าให้กระทำได้ เฉพาะเมื่อ ครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เข้ากับมาตราดังกล่าว และยังเป็นเรื่องปกติไม่ใช่จำเป็นเร่งด่วน เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงวันนี้รัฐบาลจึงไม่ควรที่จะดึงดันเรื่องนี้ต่อไป ควรยุติรวมทั้งถอนเรื่องการยื่นญัตติการแก้รัฐธรรมนูญที่ยื่นโดย ส.ส.รัฐบาลออกไป

“ถ้ารัฐบาลดำเนินการก็จะช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ายังดึงดันโดยที่ไม่ยอมถอน และยังออก พ.ร.ก.ประชามติก็จะเป็นการนำไปสู่วิกฤตปัญหาทางการเมืองได้” นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ แถลงถึงกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกรายการสนทนาประสาสมัครโดยนายกฯ ได้ใช้รายการวิทยุออกมาโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ว่าทำตัวเป็นศาล

จากกรณีการยื่นจดหมายปิดผนึกเกี่ยวการแปลคำบรรยายของนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นจดหมายปิดผนึกถึงนายกฯ โดยไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน เป็นการกระทำที่ต้องการให้นายกฯ พิจารณาพฤติกรรมของรัฐมนตรีในรัฐบาลในทางการเมือง ซึ่งเป็นคนละเรื่องและไม่ใช่ประเด็นที่มากล่าวหาว่า พรคประชาธิปัตย์ทำตัวเป็นศาล พรรคไม่ได้ทำตัวเป็นศาลแต่เราทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรยื่นจดหมายถึงนายกฯ พิจารณาพฤติกรรมของรัฐมนตรีมากกว่า ที่จะทำโดยวิธีอื่นเพราะเชื่อมั่นว่า นายกฯน่าจะใช้วิจารณญาณและดุลยพินิจในการพิจารณาในทางการเมืองว่าจะพิจารณารัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของท่านอย่างไร

“เรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่รกศาลแต่อย่างใด ไม่ควรเป็นเรื่องที่เป็นคดีความแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของดุลพินิจของนายกฯ และเป็นเรื่องจิตสำนึกของคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าจะหาทางออกทางการเมืองว่าจะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรมากกว่า เพราะฉะนั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำตัวเป็นศาลที่ไปตัดสินว่าใครทำผิดหรือถูก” นายองอาจ กล่าว

นอกจากนี้ นายองอาจยังกล่าวถึงกรณีที่นายกฯระบุถึงแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายกฯ เคยระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสภา แต่ไม่ทราบว่านายกฯ ถ้าใช้รายการวิทยุของรัฐและใช้ฐานะหน้าที่ของความเป็นนายกฯ มากล่าวตำหนิแถลงการณ์ของพรรคว่าออกแถลงการณ์เหมือนกับคณะปฏิวัติรวมทั้งยังพูดถึงการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปมุดหัวอยู่ที่ไหนตนขอตั้งคำถามนายกฯ ว่า ตอนนั้นท่านไปมุดหัวอยู่ที่ไหน รวมทั้งเก็บปากเก็บคำโดยไม่พูดจาเกี่ยวกับการฉีกรัฐธรรมนูญขณะนั้นเพราะอะไร ในทางตรงกันข้าม หัวพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการปฏิวัติและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

“เห็นว่านักการเมืองอย่างนายสมัคร และนักการเมืองอีกหลายคนในพรรคไทยรักไทยตอนนั้นแทบจะไม่มีใครออกมาพูดจาแสดงความไม่ห็นด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดจาชัดเจนถึงทัศนคติถึงการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมเชื่อว่าสังคมและสื่อสามารถยืนยันในสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้น ที่มากล่าวหาว่าเราไม่เคยพูดจาในเรื่องนั้นเลยก็ไม่เป็นความจริง และพรรคก็ไม่เคยเอามือไปยืนกุมอยู่กับใครทั้งสิ้นเราได้ดำเนินการตามวิถีทางของพรรคประชาธิปัตย์ตามปกติ ส่วนการแถลงการณ์ของพรรคถ้านายกฯ อ่านด้วยใจเป็นธรรมจะเห็นได้ว่าเป็นแถลงการณ์ที่แสดงจุดยืนของพรรคเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่ถูกต้องหรือชอบธรรมอย่างไร และมีผลประโยชน์แอบแฝงอย่างไร ถือเป็นจุดยืนที่เปิดเผยไม่ใช่แถลงการณ์ที่พูดถึงความเลวทรามต่ำช้าของใครทั้งสิ้น ส่วนที่นายสมัครจะร้อนตัวว่าเป็นความเลวทรามต่ำช้าของใครในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนายสมัครเองที่จะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้” นายองอาจกล่าว

ส่วนกรณีที่นายกฯ ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยพูดว่าต้องแก้และตอนนี้มาบอกว่าไม่แก้นั้น นายองอาจ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยพูดชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับมีข้อดีและข้อด้อยรัฐธรรมนูญปี 50 มีข้อดีและข้อด้อยที่สมควรจะมีการแก้ไข พรรคไม่เคยบอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้แต่เห็นว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหลีกหนีการยุบพรรค และหลีกเลี่ยงคดีทุจริตต่างๆที่เกี่ยวพันไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพรรคเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคจึงได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น